สักยันต์

วัฒนธรรมการสักบนผิวหนัง การสักลวดลายบนผิวหนังหรือที่เรียกว่าสักลายหรือสักยันต์เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของไทย ที่มีมาช้านานแต่ทุกวันนี้ลายสักหรือสักยันต์ตามความเชื่ออย่างโบราณแทบจะไม่มีแล้ว จะมีเพื่อความสวยงามเป็นการตกแต่งเสริมความงามให้กับร่างกายบ้างแต่ไม่มากนัก

เรื่องราวของลายสักของคนไทยเป็นสิ่งที่น่าศึกษาค้นคว้าเรื่องหนึ่ง แต่ดูเหมือนจะไม่มีใคร สนใจใคร่ศึกษามากนัก ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่างหนึ่งและนับวันจะสูญหาย ไป

“สัก” คืออะไร พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยถาน พ.ศ.๒๕๒๕ เขียนว่า “สัก” คือ การเอาเหล็กแหลมแทงลงด้วยวิธีการหรือเพื่อประโยชน์ ต่างๆ กันใช้เหล็กแหลมจุ้มหมึกหรือน้ำมันงาผสมว่าน ๑๐๘ ชนิดเป็นต้น แทงที่ผิวหนังให้เป็นอักขระเครื่องหมายหรือลวดลายถ้าใช้หมึกเรียกว่าสัก หมึก, ถ้าใช้น้ำมันเรียกว่าสักน้ำมัน ทำเครื่องหมายสักเพื่อแสดงเป็นหลักฐานเช่น “สักข้อมือ”แสดงว่าได้ขึ้นทะเบียนเป็นชายฉกรรจ์หรือมีสังกัดกรมกอง แล้วสักหน้าแสดงว่าเป็นผู้ต้องโทษปาราชิกเป็นต้น

จากคำอธิบายดังกล่าวทำให้ รู้ว่าการสักลายหรือลายสักของไทยคืออะไร  ประเพณีการสักนั้นมีไม่แพร่หลาย นักบางหมู่บ้านจะพบว่าผู้ชายไม่ว่าหนุ่มหรือแก่มักมีลายสักที่หน้าอกและแผ่น หลังตามสมัยนิยมในขณะที่ผู้ชำนาญในการสักของท้องถิ่นแสดงความสามารถที่สืบ ทอดมาอย่างเต็มที่ผู้ที่ทำหน้าที่สักมีทั้งพระสงฆ์และฆราวาส (คนธรรมดา)

วัตถุประสงค์ของการสักยันต์
วัตถุประสงค์ของการสัก ผู้ชายบางคนจะสักยันต์ด้วยเหตุผลทางเวทมนต์คาถาเพื่อความแข็ง แกร่งของจิตใจและต้องการอยู่ยงคงกระพัน ซึ่งเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประเพณีนิยมใน ชนบางกลุ่ม การสักลักษณะนี้จะสักให้เฉพาะชายฉกรรจ์เท่านั้น การสักมีลักษณะที่สอดแทรกไว้ด้วยความเชื่อและพิธีกรรมหลายอย่าง เช่น ก่อนทำการสักจะต้องมีการทำพิธีไหว้ครู ในการสักนั้นก็จะประกอบด้วยการร่ายเวทมนต์โดยอาจารย์สักจะถูผิวหนังของผู้มา สักทั้งก่อน ขณะสักลายหรือสักยันต์ และหลังจากสักเสร็จแล้ว อาจารย์สักแต่ละคนจะมีรูปแบบของลวดลายเป็นของตนเอง และผู้ที่ต้องการจะสักสามารถเลือกลายที่อาจารย์มีอยู่ได้ตามต้องการ ส่วนมากจะเป็นสัตว์ในเทพนิยาย และ เป็นอักขระขอมและเลขยันต์ อาจจะสักลายทั้งสามประเภทผสมกัน ดังนั้นลายสักของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน

การสักในประเทศไทยอาจจะมีมาแต่โบราณ แต่จะมีมาตั้งแต่สมัยใด ไม่มีหลักฐานชัดเจน การสักยันต์เพื่อให้อยู่ยงคงกระพันนั้นเชื่อว่ามีมานานแล้วดังปรากฏในวรรณคดี เรื่องขุนช้างขุนแผน และวรรณกรรมอื่นๆ แต่การสักมักมองว่าเป็นเรื่องของนักเลง ถูกมองไปในทางลบ ทำให้ศิลปะบนผิวหนังประเภทนี้เกือบจะสูญไปจากสังคมไทย

เหตุผลที่การสักยังคงมีอยู่คือ หลาย ๆ คนยังเชื่อว่าการสักจะทำให้มีโชคและอยู่ยงคงกระพันพ้นอันตราย รูปแบบของการสักแต่ละชนิดจะมีความขลังที่แตกต่างกัน ลายสักหรือยันต์บางชนิดสามารถช่วยผู้ที่สักให้รอดพ้นจากสถานการณ์ที่ยุ่งยากได้ สัญลักษณ์บางอย่างของลายสักสามารถทำให้ผิว หนังเหนียวได้ ศัตรูยิงไม่ออก ฟันไม่เข้า เชื่อว่าการสักจะช่วยให้รอดพ้นจากสถานการณ์อันเลวร้ายได้ด้วย นอกจากนี้ การสักทางไสยศาสตร์ยังเชื่อมโยงกับการระวังอันตรายและความปลอดภัย ทำให้แคล้วคลาดต่ออันตรายต่างๆ ศิลปะพื้นบ้านประเภทนี้ อาจจะกระตุ้นความรู้สึกให้เกิดศรัทธาความเชื่อมั่น เกิดความมั่นใจ มันอาจเป็นเครื่องแสดงความจริงต่างๆ วัฒนธรรมสมัยใหม่นั้นเมื่อมองแล้วอาจจะไม่ทำให้ปลอดภัย ส่วนวัฒนธรรมการสักยันต์จึงช่วยให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย เป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้จิตใจเขามีความมั่นใจมั่นคงมากยิ่งๆ ขึ้น

ตำนานการสักยันต์ของวัดบางพระ
ตำนานการสักยันต์ของวัดบางพระกล่าวไว้ว่า หลวงพ่อเปิ่นท่านได้สืบสานตำรับวิชาการสักยันต์จากหลวงพ่อหิ่ม  อินฺทโชโต โดยก่อนที่หลวงพ่อหิ่มท่านจะมรณภาพ ท่านได้ถ่ายทอดวิชาอาคม คาถาไสยเวทย์ และตำรายาสมุนไพร ให้แก่หลวงพ่อเปิ่นจนหมดสิ้น ด้วยท่านเล็งเห็นว่า ต่อไปยุคหลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ จะเจริญก้าวหน้า รุ่งเรืองสุดขีด

สรรพวิชาอาคม ทางไสยเวทย์ แห่งลุ่มน้ำนครชัยศรี หลวงพ่อหิ่มท่านได้ถ่ายทอดไว้ให้กับหลวงพ่อเปิ่นจนหมดสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงนะหน้าทอง ลงสาริกาลิ้นทอง และการลงอักขระสักยันต์อันมีชื่อเสียงโด่งดังในปัจจุบัน เมื่อคราวรื้อกุฏิหลวงพ่อหิ่ม และกุฏิริมน้ำของหลวงพ่อเปิ่น ได้พบตำราพระเวทย์คาถา คัมภีร์ใบลานเก็บอยู่ในหีบเหล็กเก่าแก่ และบนเพดานกุฏิ พบพระพุทธรูปเก่าปางต่าง ๆ และพระผงอีกจำนวนหนึ่ง

ตำราใบลานที่ปรากฏพบนี้ มีทั้งตำราวิชาอาคม การฝังรูปฝังรอยเสน่ห์เมตตามหานิยม อักขระเลขยันต์ต่าง ๆ ตำรายารักษาโรค ในปัจจุบันได้มอบให้ พระครูอนุกูลพิศาลกิจ (เจ้าอาวาสวัดบางพระรูปปัจจุบัน) พระอาจารย์ต้อย พระอาจารย์ติ่ง พระอาจารย์อภิญญา เก็บรักษาไว้ ให้ศึกษา เมื่อลูกศิษย์ท่านใดมีเรื่องไม่เข้าใจ ท่านก็จะชี้แนะให้จนเข้าใจ ตำรามหายันต์วัดบางพระ รูปอักขระเลขยันต์ ที่หลวงพ่อเปิ่นสักให้นั้นมีความหมายทุกตัวอักขระ รูปลักษณ์ต่างๆ หลวงพ่อจะประสิทธิ์ประสาทให้แก่ทุกคนที่มาขอรูปยันต์ที่สักให้อาจจะไม่ เหมือนกันหมดแล้วแต่หลวงพ่อจะดูว่าผู้นั้นเป็นใครมาจากไหน อักขระรูปลักษณ์ ที่สักกันส่วนมากจะใช้ คือ ยันต์หอมเชียง (พระพุทธ ๑๐๘) ยันต์เก้ายอด ยันต์งบน้ำอ้อย ยันต์แปดทิศ ยันต์สายสังวาลย์ ยันต์หนุมานออกศึกยันต์หนุมานอมเมือง ยันต์พ่อแก่ฤาษี ยันต์แม่ทัพ ยันต์ดำดื้อ ยันต์เสือเผ่น ยันต์มงกุฎพระพุทธเจ้า (หมวกเหล็ก) ยันต์นกสาริกา ยันต์จิ้งจกสองหาง ยันต์องค์พระพุทธ ยันต์ราชสีห์ ยันต์เกราะเพชร ยันต์หมูทองแดง ยันต์ปลาไหล ยันต์บัวแก้ว ยันต์พระราหู ยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ยันต์ลิงลม ยันต์พระเจ้าสิบหกพระองค์ ยันต์พญาหงษ์ ยันต์ไตรสรณาคมน์ ยันต์หัวใจต่าง ๆ ฯลฯ

การสักยันต์จึงถือได้ว่าเป็นแขนงวิชาทางวิทยาคมชนิดหนึ่งที่มีประเพณีเกี่ยวกับการบูชาครูเข้ามาเกี่ยวเนื่องอยู่ด้วย โดยก่อนที่จะเข้ารับการสักยันต์ ลูกศิษย์จะต้องนำเครื่องบูชาครูมาทำพิธียกครูฝากตัวเป็นศิษย์เสียก่อน เมื่ออาจารย์ผู้สักรับเครื่องบูชาครูไปแล้วก็ถือว่าได้รับผู้นั้นเป็นศิษย์โดยสมบูรณ์ พร้อมที่จะถ่ายทอดวิชาโดยการสักยันต์ให้กับศิษย์ผู้นั้นเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ศิษย์ เมื่อศิษย์ได้รับการสักยันต์เรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับที่พระอาจารย์ผู้สักกำหนด เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์เข้มขลังตามความเชื่อ

สำหรับการสักยันต์ของทางวัดบางพระ จ.นครปฐม ได้เริ่มปรากฏชื่อเสียงในสมัยที่พระเดชพระคุณพระอุดมประชานาถ หรือหลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ เป็นเจ้าอาวาส โดยหลวงพ่อเปิ่นได้เรียนวิชาสักยันต์กับหลวงปู่หิ่ม อดีตเจ้าอาวาสวัดบางพระ และเริ่มสักให้กับบรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่มาขอความเมตตาจากท่านตั้งแต่ที่ท่านยังอยู่ที่วัดโคกเขมา อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ผู้ที่สักยันต์กับหลวงพ่อเปิ่นก็เริ่มมีประสบการณ์ทั้งทางด้านเมตตามหานิยม หรืออยู่ยงคงกระพัน ตามที่ปรากฏในหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้น ชื่อเสียงของหลวงพ่อเปิ่นจึงขจรขจายไปทั่วสารทิศทั้งในและต่างประเทศ ลูกศิษย์ลูกหาก็เพิ่มมากขึ้นอย่างมากมายมหาศาล โดยในช่วงเริ่มแรกหลวงพ่อเปิ่นท่านได้กำหนดเครื่องบูชาครูไว้ประกอบด้วย ดอกไม้ ธูป เทียน บุหรี่ ๑ ซอง เงิน ๖ บาท ซึ่งผู้ที่จะมารับการสักยันต์กับหลวงพ่อเปิ่นก็จะต้องตระเตรียมสิ่งของดังกล่าวมาเอง แล้วนำของทั้งหมดใส่ไว้ในพานถวายแก่หลวงพ่อเปิ่นอันเป็นสัญลักษณ์ของการฝากตัวเป็นศิษย์ เมื่อหลวงพ่อท่านรับพานครูแล้วก็เท่ากับว่าท่านได้รับผู้นั้นเป็นศิษย์อย่างบริบูรณ์ พร้อมที่จะรับวิชาการสักยันต์ที่หลวงพ่อจะประสิทธิ์ประสาทให้อย่างเต็มความภาคภูมิ ในช่วงสมัยแรกๆ ที่หลวงพ่อเปิ่นท่านเริ่มสักใหม่ๆ ผู้ที่ยกพานบูชาครูฝากตัวเป็นศิษย์ก็สามารถมาให้หลวงพ่อท่านสักยันต์ให้ได้ตลอด เท่ากับว่ายกพานครูครั้งเดียวก็สามารถสักยันต์ได้ตลอด โดยครั้งต่อไปก็ไม่ต้องยกพานครูอีก ในช่วงหลังจึงปรับเปลี่ยนมาเป็นยกพานครู ๑ พานต่อการสักยันต์ ๑ ครั้ง และถือปฏิบัติเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับเงินค่าครูสำหรับการสักยันต์นี้ ต่อมาหลวงพ่อเปิ่นท่านได้ปรับขึ้นจาก ๖ บาท เป็น ๑๒ บาท ๒๔ บาท และ ๒๕ บาท (ไม่ต่ำกว่า ๒๔ บาท จึงนิยมใส่เงินค่าครูไป ๒๕ บาท) ตามลำดับ ธรรมเนียมสำหรับเงินค่าครูนี้ ท่านห้ามอาจารย์สักนำไปใช้ส่วนตัวอย่างเด็ดขาด (หากอาจารย์สักนำเงินค่าครูไปใช้ส่วนตัวตามความเชื่อก็จะทำให้อาจารย์ผู้สักเกิดความวิบัติหาความเจริญในชีวิตไม่ได้ ฯ) โดยจะต้องนำเงินค่าครูมาถวายไว้ในส่วนกลางเพื่อนำไปใช้ในทางสาธารณกุศลของทางวัด ทั้งการบำรุงบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะ ซื้อที่ดินถวายวัด นำไปร่วมบุญผ้าป่า, กฐิน ทั้งในวัดบางพระเองและวัดอื่นทั่วไป และสาธารณะกุศลอื่นๆ อีกมากมายตามแต่การพิจารณาของหลวงพ่อท่าน ผู้ที่มาสักยันต์ที่วัดบางพระก็เท่ากับว่าได้มีส่วนร่วมในบุญกุศลนั้นๆ ด้วยเฉกเช่นเดียวกัน ถามว่าหากใส่เงินค่าครูมากกว่านี้ได้หรือเปล่า คำตอบคือ “ได้อย่างแน่นอน” เพราะหากเราใส่เงินค่าครูไปมาก ทางวัดก็จะนำเงินของเราไปสร้างบุญได้เพิ่มขึ้นไปอีก บุญบารมีของเราก็จะมากขึ้นไปด้วยตามลำดับ แต่หากใส่เงินค่าครูหรือเครื่องบูชาในพานครูไม่ครบก็อาจจะทำให้อิทธิคุณที่จะได้รับจากการสักพร่องไปไม่สมบูรณ์จนอาจจะนำมาซึ่งผลเสียในเรื่องราวต่างๆ ได้ ส่วนท่านที่อยากจะถวายให้กับพระอาจารย์ผู้สักต่างหาก ก็สามารถทำได้โดยนำปัจจัยใส่ซองถวายแยกต่างหากกับเงินค่าครู เราถวายเงินค่าครูสำหรับสักยันต์ พระอาจารย์ผู้สักก็นำเงินค่าครูนี้ไปสร้างบุญกุศลต่อ เรียกได้ว่า “บุญต่อบุญไม่มีที่สิ้นสุด”

เมื่อหลวงพ่อเปิ่นได้ถ่ายทอดวิชาการสักยันต์ให้กับศิษย์ในรุ่นต่อมา หรือแม้กระทั่งในปัจจุบันที่หลวงพ่อเปิ่นท่านได้ละสังขารไปแล้วก็ตาม ธรรมเนียมเกี่ยวกับเงินค่าครูนี้ก็ยังได้ถือปฏิบัติสืบต่อเนื่องเรื่อยมา สำหรับการเตรียมตัวของผู้ที่จะมาสักยันต์ที่วัดบางพระ ก็จะต้องเตรียมพานครู ที่ประกอบด้วย ดอกไม้ ธูป เทียน บุหรี่ ๑ ซอง หรือสามารถบูชาพานครูของทางวัดที่จัดเตรียมไว้ให้ก็ได้เช่นกันในราคา ๖๐ บาท เมื่อได้พานครูมาครบแล้วก็ใส่เงินค่าครูไม่ต่ำกว่า ๒๔ บาท (นิยมใส่ ๒๕ บาท หรือจะมากกว่านี้ก็ได้) จากนั้นก็นำพานครูพร้อมเงินค่าครูไปถวายให้กับพระอาจารย์ที่ทำการสัก เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ตามธรรมเนียมปฏิบัติ สำหรับการสัก (หมึก) ครั้งแรกจะได้ยันต์ครูคือ “ยันต์เก้ายอด” ส่วนในการสักยันต์ครั้งต่อๆไป เมื่อยกพานครูพร้อมเงินค่าครูถวายพระอาจารย์ผู้สักแล้ว พระอาจารย์ท่านก็จะพิจารณาสักให้ตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคลเอง โดยที่ไม่ต้องขอว่าจะเอารูปนี้ลายนั้นฯ ซึ่งถือว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติข้อสำคัญอีกประการหนึ่งที่ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อเปิ่นยังดำรงสังขารอยู่ (การขอยันต์ว่าต้องการยันต์นั้นยันต์นี้ เหมือนเป็นการสู่รู้เกินครูบาอาจารย์ดังนั้นจึงไม่นิยมขอกัน แล้วแต่พระอาจารย์ผู้สักท่านจะเมตตาให้เองเป็นการดีที่สุด) เมื่อได้รับการสักยันต์ไปแล้วก็ควรตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ไม่ด่าบิดามารดาบุพการี ไม่ผิดลูกผิดเมีย หมั่นระลึกถึงคุณของครุบาอาจารย์ ประกอบแต่คุณงามความดีสร้างบุญกุศลอยู่เป็นเนืองนิตย์ อุทิศถวายแก่พระอุดมประชานาถ (หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ) และครูบาอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา อันจะนำมาซึ่งความสุขความเจริญงอกงามในชีวิตและธุรกิจหน้าที่การงานทั้งหลายตามสมควรแก่การปฏิบัติของแต่ละบุคคล

ผู้ที่สักยันต์ จะต้องยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดด้วยบุญญาธิการของบูรพาจารย์ คณาจารย์ที่ถ่ายทอดสู่ตัวของคนสักยันต์ไม่ให้เสื่อมคลายความขลัง ต้องถือปฏิบัติในความดี ข้อห้ามต่างๆ ที่มีมาในสมัยโบราณอย่างที่เรียกว่า คนดี สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผีคุ้ม ปกป้องกันภัย เป็นข้อเตือนสติให้ตะหนักถึงผลกรรมดี กรรมชั่ว

ในปัจจุบันผู้ที่สักยันต์ เมื่อสักเสร็จแล้วมากราบที่หน้าศพของหลวงพ่อเปิ่น แล้วให้พระครูอนุกูลพิศาลกิจ (หลวงพ่ออางค์) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันที่หลวงพ่อเปิ่นให้ทำหน้าที่แทนท่านมานานเป่าครอบให้อีกที

ความหมายของอักขระเลขยันต์
ตัวเลขกับลายสัก  การสักเป็นตัวเลขต่าง ๆ นั้น มีความหมายทั้งสิ้น เช่นการสักเป็น ตัวเลข ดังต่อไปนี้

เลข ๑ หมายถึง  คุณแห่ง พระนิพพาน อันยิ่งใหญ่

เลข ๒ หมายถึง  คุณแห่ง พุทโธ

เลข ๓ หมายถึง  คุณแห่งแก้ว ๓ ประการ ( พระรัตนตรัย ) และอีกความหมายคือพระไตรปิฎก

เลข ๔ หมายถึง  คุณแห่งมรรค ๔ ผล ๔, หมายถึงคุณแห่งพระโลกบาลทั้ง ๔, หมายถึงพรหมวิหาร ๔ และหมายถึงพระฤาษีกัสสปะ

เลข ๕ หมายถึง  คุณแห่งศีล ๕

เลข ๖ หมายถึง  คุณแห่งไฟ หรือพระเพลิง, หมายถึงคุณแห่งพระอาทิตย์

เลข ๗ หมายถึง  คุณแห่งลม หรือพระพาย

เลข ๘ หมายถึง  คุณแห่งพระกรมฐาน, หมายถึงคุณแห่งศีล ๘, หมายถึงคุณแห่งพระอังคาร

เลข ๙ หมายถึง  คุณแห่งมรรค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑, หมายถึงคุณแห่งพระเกตุ

เลข ๑๐ หมายถึง  คุณแห่งครูบาอาจารย์, หมายถึงคุณแห่งอากาศ, หมายถึงคุณแห่งศีล ๑๐, หมายถึงคุณแห่งพระเสาร์ ๓๐ ทัศ

เลข ๑๒ หมายถึง  คุณแห่งมารดา, คุณแห่งพระคงคา, หมายถึงคุณแห่งพระราหูถ

เลข ๑๔ หมายถึง  คุณแห่งพระสังฆเจ้า

เลข ๑๕ หมายถึง  คุณแห่งพระจันทร์

เลข ๑๗ หมายถึง  คุณแห่งพระพุธ

เลข ๑๙ หมายถึง  คุณแห่งพระพฤหัสบดี

เลข ๒๐ หมายถึง  คุณแห่งพระเสาร์กำลังสอง

เลข ๒๑ หมายถึง  คุณแห่งบิดา, หมายถึงคุณแห่งพระธรณี, หมายถึงคุณแห่งพระศุกร์

เลข ๓๓ หมายถึง  คุณแห่งอักขระถ

เลข ๓๘ หมายถึง  คุณแห่งพระธรรมเจ้า

เลข ๓๙ หมายถึง  คุณแห่งพระแม่โพสพ หรือขวัญข้าว

เลข ๔๑ หมายถึง  คุณแห่งอักษร หรืออักขระ

เลข ๕๖ หมายถึง  คุณแห่งพระพุทธเจ้า

เลข ๒๒๗ หมายถึง  คุณแห่งศีล ๒๒๗การสักเป็นอักขระ นิยมสักกันเป็นอักษรภาษาขอม ที่เรียกว่าการสักขอมเป็นบาลี หรือจะสักเป็นภาษาอื่นๆ ก็ได้ การสักและการปลุกเสก เป็นพระคาถา ๑๐๘ หรือ พระคาถาหัวใจ ๑๐๘ มีดังนี้

หัวใจพระธรรม ๗ คัมภีร์ คือ สังวิชาปุกะยะปะ

หัวใจพระสูตร คือ ทีมะสังอังขุ

หัวใจพระวินัย คือ อาปามะจุปะ

หัวใจสัตตะโพชฌงค์ คือ สะธะวิปิปะสะอุ

หัวใจพระรัตนตรัย คือ อิสะวาสุ

หัวใจพาหุง คือ พามานาอุกะสะนะทุ

หัวใจพระพุทธเจ้า คือ อิกะวิติ

หัวใจปฏิสังขาโย คือ จิปิเสคิ

หัวใจพระไตรปิฎก คือ สะระณะมะ

หัวใจยอดศีล คือ พุทธะสังมิ

หัวใจธรรมบท ( เปรต ) คือ ทุสะนะโส

หัวใจปถมัง คือ ทุสะมะนิ

หัวใจอิธะเจ คือ อิทะคะมะ

หัวใจตรีนิสิงเห คือ สะชะฏะตรี

หัวใจสนธิ คือ งะญะนะมะ

หัวใจแม่พระธรณี คือ เมกะมุอุ

หัวใจยะโตหัง คือ นะหิโสตัง

หัวใจพระกุกกุสันโธ คือ นะมะกะยะ

หัวใจพระโกนาคมน์ คือ นะมะกะตะ

หัวใจพระกัสสป คือ กะระมะถะ

หัวใจสังคะหะ คือ จิเจรุนิ

หัวใจนอโม คือ นะอุเออะ

หัวใจไฟ คือ เตชะสะติ

หัวใจลม คือ วายุละภะ

หัวใจบารมี คือ ผะเวสัจเจเอชิมะ

หัวใจน้ำ คือ อาปานุติ

หัวใจดิน คือ ปะถะวิยัง

หัวใจวิรูปักเข คือ เมตะสะระภูมู

หัวใจพระปริตร คือ สะยะสะปะยะอะจะ

หัวใจพระนิพาน คือ สิวังพุทธัง

หัวใจยานี คือ ยะนิรัตนัง

หัวใจกรณีเมตตสูตร คือ เอตังสะติง

หัวใจวิปัสสนา คือ วิระสะติ

หัวใจมงคลสูตร คือ เอตะมังคะลัง

หัวใจอายันตุโภนโต คือ อานิชะนิ

หัวใจมหาสมัย คือ กาละกัญธามหาภิสะมา

หัวใจเสฎฐัน คือ เสพุเสวะเสตะอะเส

หัวใจปาฏิโมกข์ คือ เมอะมะอุ

หัวใจเพชรสี่ด้าน คือ อะสิสัตติปะภัสมิง

หัวใจศีลสิบ คือ ปาสุอุชา

หัวใจอริยสัจ ๔ คือ ทุสะนิมะ

หัวใจธรรมจักร์ คือ ติติอุนิ

หัวใจนิพพานจักรี คือ อิสะระมะสาพุเทวา

หัวใจทศชาติ คือ เตชะสุเนมะภูจะนาวิเว

หัวใจธาตุทั้ง ๔ คือ นะมะพะทะ

หัวใจธาตุพระกรณีย์ คือ จะภะกะสะ

หัวใจพระกรณีย์ คือ จะอะภะคะ

หัวใจปลายศีล คือ อิสะปะมิ

หัวใจกินนุสัตรมาโน คือ กะนะนะมา

หัวใจพระยายักษ์ คือ ภะยะนะยะ

หวัใจภาณยักษ์ คือ กะยะพะตัง

หัวใจอาวุธพระพุทธเจ้า คือ ปะสิสะ

หัวใจนะโม คือ นะวะอัสสะ

หัวใจกะขะ คือ กะยะนะอัง

หัวใจศีลพระ คือ พุทธสังอิ

หัวใจโลกทั้ง ๑๐ คือ โลกะวิทู

หัวใจยันต์ คือ ยันตังสันตัง

หัวใจขุนแผน คือ สุนะโมโล

หัวใจแค้ลวคลาด คือ อะหังติโก

หัวใจเกราะเพชร คือ ภูตากังเก

หัวใจจังงัง คือ กะระสะติ

หัวใจอิทธิฤทธิ คือ อะหังนุกา

หัวใจกาสัง คือ กาละถานุ

หัวใจพระภูมิ คือ กุมมิภุมมิ

หัวใจนิพพานสูตร คือ อะนิโสสะ

หัวใจแก้วสามประการ คือ มะติยาโน

หัวใจพระฉิมพลี คือ นะชาลีติ

หัวใจสัคเค คือ นะสะมิเห

หัวใจพระญาณรังษี คือ สะกะจะพาหุ

หัวใจสัมพุทเธ คือ สะทะปะโต

หัวใจคงคาเดือด คือ กะขะชะนะ

หัวใจพระเวสสันดร คือ สะระนะตะ

หัวใจพระวิฑูร คือ นะมะสังอิ

หัวใจพระมโหสถ คือ ปาสิอุอะ

หัวใจพระเตมีย์ คือ กะระเตจะ

หัวใจพนฃระภูริฑัต คือ มะสะนิวา

หัวใจพระสุวรรณสาม คือ อะวะสะทะ

หัวใจพระมหาชนก คือ ปะพะยะหะ

หัวใจวิปัสสิ คือ สะขิสะปิ

หัวใจพระมาลัย คือ พะลัยยะ

หัวใจพระยาร้อยเอ็ด คือ อิสิวิระ

หังใจพระยาหมี คือ สะปิระ

หัวใจทิพย์มนต์ คือ กะจะยะสะ

หัวใจงู คือ อะหิสัปโป

หัวใจเณร คือ สะสิสะอุอะวะสะหัง

หัวใจฆะเตสิก คือ ปะสิจะมิ

หัวใจพระยานาค คือ อะงะสะ

หัวใจพระยาม้า คือ สุกเขยโย

หัวใจพระยามัจจุราช คือ กาละมัจจุ

หัวใจพระยามาร คือ นุภาวโต

หัวใจสัตว์ คือ อันตะภาโวพะ

หัวใจท้าวเวสสุวรรณ คือ เวสสะพุสะ

หัวใจพาลี คือ หันตะนุภา

หัวใจองคต คือ พะหะวารา

หัวใจมดง่าม คือ กะสิตานะ

หัวใจไก่เถื่อน คือ ติวิกุกู

หัวใจเต่าเรือน คือ นาสังสิโม

หัวใจการเวก คือ การะวิโก

หัวใจราชสีห์ คือ สีหะทานัง

หัวใจพระเจ้า ๔ พระองค์ คือ นะกะอะปิ

หัวใจปลาไหลเผือก คือ อะยาเวยยะ

หัวใจ กอ.ขอ. คือ มอลอข้อโข

หัวใจอุณลุม คือ อุปะสัมปะ

หัวใจโจร คือ กันหะเนหะ

หัวใจปลวก คือ วะโมทุทันตานัง

หัวใจหนุมาน คือ ยะตะมะอะ, หรือ หะนุมานะ

หัวใจมนุษย์ คือ มะนุญญัง

หัวใจหญิง คือ จิตตังภคินิเม

หัวใจชาย คือ จิตตังปุริโส

หัวใจทรหด คือ นะหิโลกัง

หัวใจมหาอุจ(เขียนแบบเดิม) คือ อุทธังอัทโธ

หัวใจลิงลม คือ ยุวาพะวา, วิงวังกังหะ, หรือ จิขะจุติ พระคาถายอดหัวใจ ๑๐๘ คือ นะโมพุทธายะ นะมะพะทะ จะภะกะสะ

ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่สักยันต์ (ของวัดบางพระ) จากการสัมภาษณ์ท่านพระครูอนุกูลพิศาลกิจ (หลวงพ่อสำอาง ปภสฺสโร) เจ้าอาวาสวัดบางพระรูปปัจจุบัน

๑. ห้ามด่าบิดามารดาบุพการี ทั้งของตนเองและผู้อื่น

๒. ห้ามผิดลูกผิดเมียผู้อื่น (ศีลข้อ ๓)

๓. ห้ามลอดไม้ค้ำต้นกล้วย

๔. ห้ามลอดสะพานหัวเดียว

๕. ห้ามลอดราวตากผ้า (ยกเว้นราวแขวนเสื้อผ้า) ๖. ควรรักษาศีล ๕ อย่างเคร่งครัด