พระธาตุช่อแฮ เป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดแพร่ ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง ต.ป่าแดง อ.เมือง จ.แพร่ ห่างจากจังหวัดแพร่ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 8 กิโลเมตร
องค์พระธาตุช่อแฮเป็นที่รู้จักและเคารพนับถือแก่ประชาชนทั่วไปมาเป็นเวลาช้านาน องค์พระธาตุมีลักษณะเป็นรูปแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ศิลปะแบบเชียงแสน บุด้วยทองดอกบวบสูง 33 เมตร ฐานมีเหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร
พระครูวิมลกิตติสุนทร เจ้าอาวาสวัดพระธาตุแฮ พระอารามหลวง กล่าวถึงความเป็นมาของพระธาตุช่อแฮ ว่า พระธาตุช่อแฮสร้างขึ้นระหว่างจุลศักราช 586-588 (พ.ศ.1879-1881) ในสมัยที่พระมหาธรรมราชาลิไทย ยังทรงเป็นพระมหาอุปราช พระราชบิดาทางโปรดให้ไปครองเมืองศรีสัชนาลัย สวรรคโลก
พระองค์มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงสั่งสอนศีลธรรมแก่ประชาชน และทรงวางแบบแผนแก่คณะสงฆ์ ตามลังกาทวีป จัดให้มีพระสงฆ์ 2 ฝ่าย คือ คามวาสี ศึกษาวินัยเพื่อสั่งสอนคน อรัญวาสี ศึกษาวิปัสสนา มุ่งความสงบแห่งจิตใจ
นอกจากนี้ ยังทรงทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยโปรดให้สร้างสถานที่ที่ปรากฏในพุทธประวัติไว้ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้คณะสงฆ์ตลอดชาวเมืองทั้งหลาย ศึกษาวิปัสสนา
พระองค์ได้โปรดพระราชทานพระบรมธาตุแก่ "ขุนลัวะอ้ายก๊อม" ให้นำไปบรรจุฐานเจดีย์ที่จะสร้างให้คนทั้งหลายได้กราบไหว้บูชา ในการนี้ขุนลัวะอ้ายก๊อม ได้กล่าวชักชวนหัวเมืองต่างๆ ให้มาร่วมสร้างพระเจดีย์ โดยช่วยกันสำรวจสถานที่จัดสร้าง
เมื่อขุนลัวะอ้ายก๊อมมาถึงบริเวณโกสิยธชัคบรรพต เห็นเป็นทำเลที่เหมาะสมจึงกำหนดให้สร้างเจดีย์ขึ้น
ขุนลัวะอ้ายก๊อมได้สร้างสิงห์ทองคำขึ้น 1 ตัว เอาผอบที่บรรจุพระบรมธาตุไว้ในท้องสิงห์ทองคำตัวนั้นแล้วหล่อเงินและทองคำเป็นแผ่นแล้วมาก่อเป็นแท่นสำหรับตั้งสิงห์ทองคำ นำสิงห์ทองคำนั้นบรรจุในองค์พระเจดีย์เรียบร้อยให้โปกปูนปิดช่องทับเจดีย์ เอาแผ่นทอเหลือง (ทองจังโก) บุรอบองค์พระเจดีย์ตั้งแต่ฐานถึงคอระฆังสูง 2 วา
เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขุนลัวะอ้ายก๊อมและมิตรสหายจัดงานสักการะบำเพ็ญกุศลฉลองอย่างมโหฬารเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน โดยรอบองค์พระเจดีย์ประดับประดาด้วยผ้าแพรสีต่างๆ พระเจดีย์องค์นี้ จึงได้ชื่อว่า "พระธาตุช่อแฮ" คำว่า แฮ คงเป็นคำที่เรียกมาจาก แพร
ที่วัดพระธาตุช่อแฮนี้มีพระพุทธรูปองค์หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่กับวัดพระธาตุช่อแฮมาช้านานแล้ว ชื่อว่า "พระเจ้าทันใจ" ตั้งประดิษฐานอยู่ในซุ้มเจดีย์ด้านทิศใต้ขององค์พระธาตุช่อแฮ
พระเจ้าทันใจ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างในสมัยใด ใครเป็นผู้สร้างแต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างมาพร้อมการสร้างพระธาตุช่อแฮ
พระเจ้าทันใจ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิขนาดหน้าตัก 2 ศอก สูง 4 ศอก องค์พระเจ้าทันใจจะมีทองคำเปลวเหลืองอร่ามจากชาวบ้านปิดบูชา เอาไว้ตลอด
จากตำนานที่เล่าสืบกันมาว่า พระเจ้าทันใจ หรือ พระเจ้าตันใจ๋ มีความศักดิ์สิทธิ์หากใครได้ไปกราบไหว้และอธิษฐานให้ดลบันดาลให้พบกับความสำเร็จในชีวิตก็จะได้สมตามความประสงค์
เช่น ในปี พ.ศ.2533 ประเทศไทยมี นางสาวไทย ชื่อ ภัสราภรณ์ ชัยมงคล ซึ่งเป็นนางสาวแพร่มาก่อน โดย น.ส.ภัสราภรณ์ได้มากราบอธิษฐานขอให้การประกวดนางสาวไทย ประสบความสำเร็จได้ตำแหน่ง และเธอก็ได้เป็นนางสาวไทยสมความปรารถนา
ทุกวันนี้ที่วัดพระธาตุช่อแฮ จะมีชาวบ้านและนักท่องเที่ยวแวะไปกราบนมัสการองค์พระธาตุช่อแฮ และพระเจ้าทันใจ
รวมทั้งบรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เดินทางมารับตำแหน่งใหม่ประจำจังหวัดแพร่ ล้วนแล้วแต่ต้องมากราบขอพรจากพระเจ้าทันใจ เพื่อความเป็นสิริมงคลในอาชีพรับราชการ
ทั้งนี้ ที่วัดพระธาตุช่อแฮยังได้จัดสร้างวัตถุมงคลจตุคามรามเทพ รุ่น เศรษฐีทันใจ ด้านหน้าเป็นรูปพระเจ้าทันใจ ด้านหลังเป็นองค์ท้าวจตุคามรามเทพ และยังมีเหรียญของ พระเจ้าทันใจ อีกหลายรุ่น
รุ่นล่าสุด คือ พระเจ้าทันใจ รุ่นมหาโชค มหาลาภ ซึ่งด้านหลังจะเป็นรูปขององค์พระธาตุช่อแฮ โดยเกจิอาจารย์ชื่อดังนั่งปรกอธิษฐานจิตภาวนา สำหรับให้ชาวบ้านที่มีศรัทธาได้ไว้บูชาอีกด้วย วัตถุมงคลของพระเจ้าทันใจ นับว่าเป็นสิริมงคลยิ่ง
นักท่องเที่ยวที่มีโอกาสเดินทางไปเมืองแพร่ แวะไปนมัสการพระธาตุช่อแฮและกราบขอพรพระเจ้าทันใจจะได้สิ่งที่ท่านปรารถนาทันใจ
คาถาบูชาพระเจ้าทันใจ "นะโม นะมะ สะขัง โกธะมัง ใจจะคุ" กล่าว 3 จบ จะเป็นสิริมงคลนักแล