ในบรรดาเครื่องรางของขลัง ที่โบราณาจารย์นิยมจัดสร้างขึ้น มีเครื่องรางประเภทหนึ่ง มีลักษณะรูปร่างแปลกตาไปจากวัตถุมงคลประเภทอื่น กล่าวคือ จะมี
สัณฐานเป็นรูป "ลึงค์" หรืออวัยวะเพศชาย โดยจัดสร้างขึ้นมามากมาย หลายขนาด ตั้งแต่เล็กจิ๋วกว่าปลายนิ้วก้อย ไปจนถึงขนาดเท่าของจริง และขนาดใหญ่โตมโหฬาร
สูงท่วมหัว เครื่องรางชนิดนี้ได้รับความนิยมพกติดตัว ตลอดจนเคารพบูชากันเป็นที่เอิกเกริก ซึ่งเรารู้จักกันในชื่อของ "ปลัดขิก" ด้วยความนิยมใช้ปลัดขิก ถึงขนาดที่ว่ามี
การท่องไล่เลียง "ของดี" หรือของสุดยอดของเครื่องราง ที่คู่ควรสะสมไว้ว่า
"ปลัดขิกหลวงพ่อเหลือ เสือหลวงพ่อป่าน หนุมานหลวงพ่อสุ่น วัวปั้นหุ่นวัดศรีษะทอง เบี้ยแก้กันวัดนายโรง ตะกรุดหลวงปู่เอี่ยมวัดสะพานสูง"
ความเป็นมาของ "ปลัดขิก" ค่อนข้างเกี่ยวพันกับคติความเชื่อดั้งเดิมในเรื่องความอุดมสมบูรณ์ โดยเชื่อว่า"ลึงค์"หรืออวัยวะเพศชาย เป็นบ่อเกิดแห่งสรรพสิ่งมีชีวิตใน
จักรวาล อันเป็นรากฐานมาจากคติการบูชา "ศิวลึงค์" หรือลึงค์ของพระศิวะ ในลัทธิไศวนิยาย ที่บูชาพระศิวะเป็นใหญ่ อันเป็นที่มาของการเรียก "ลึงค์" ว่า "เจ้าโลก" ซึ่ง
แตกต่างจากอีกนิกายหนึ่งในศาสนาฮินดูที่เคารพบูชา "โยนี" หรือ อวัยวะเพศหญิง ในลัทธิศักติ ที่เชื่อว่าสรรพสิ่งต่างๆ จะเกิดขึ้นได้ต้องประกอบด้วยโยนี การบูชาลึงค์
ค่อยๆ เผยแพร่ในสยามประเทศ เนื่องมาจากขอมเคยมีอิทธิพลอยู่ในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งไทยเราก็รับคติดังกล่าวมาประยุกต์ดัดแปลงและกำหนด
เอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้น มีบางคนตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดความเชื่อของฮินดูจึงเข้ามาผูกพันกับพุทธศาสนา โดยเฉพาะในกรณีของปลัดขิก สาเหตุก็คือพุทธศาสนานั้นได้ปรับ
เปลี่ยนและดัดแปลงเอาความเชื่อดั้งเดิมในวิถีชีวิตมนุษย์ตลอดจนความศรัทธาอื่นๆเข้ามาด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงรากเหง้าดั้งเดิม ตลอดจนเป็นกุศโลบายในการเผย
แพร่ศรัทธาที่ไม่ขัดแย้งกับความเชื่ออื่นๆ เช่น ประเพณีบุญบั้งไฟของชาวอีสาน เพื่อเป็นการบูชาแทนขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล เหมือนกับการแห่นางแมวของคนภาคกลาง
สองพิธีกรรมที่อยู่คนละภาคนี้ มีความคล้ายคลึงกันในเรื่องของสัญลักษณ์ที่ใช้ส่อไปทางเพศสัมพันธ์ เช่น การใช้ไม้มาแกะสลักเป็นอวัยวะเพศชาย เรียกว่า "บักแบ้น"
หรือ "ปลัดขิก" ในอีสานหรือ "ขุนเพ็ด" ประเพณีแห่ผีตาโขน ของชาว อ.ด่านซ้าย จ.เลย ผีทุกตัวจะถืออาวุธในมือ ซึ่งทำด้วยทางมะพร้าว โดยทำด้ามเป็นลักษณะเหมือน
ปลัดขิก นอกจากนี้ ปลัดขิกยังถูกนำไปใช้เป็นเครื่องรางป้องกันอาถรรพณ์อีกหลายอย่าง เช่น ในช่วง ๔-๕ ปี ที่ผ่านมา ชาวบ้านร้อยเอ็ด กลัว ผีแม่ม่าย จะมาเอา
ชีวิต ผู้ชายในหมู่บ้านจึงแก้เคล็ดด้วยการ ทำปลัดขิกขนาดใหญ่ ติดหน้าบ้านของผู้ชายที่มีชื่อขึ้นต้นด้วยอักษร "ส" และ "ย" อันเป็นเป้าหมายของผีแม่ม่าย ส่วนการนำ
ปลัดขิกมาใช้เป็นเครื่องรางสำหรับพกพาติดตัวนั้น จากหลักฐานที่ปรากฏ จะพบว่า ปลัดขิกยุคเริ่มแรก สร้างจากแก่นไม้ที่มีสรรพคุณทางรักษา และป้องกันโรค เช่น แก่น
ของต้นคูณ ซึ่งมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า "CASSIAFISTULA, LINN" ผู้คนพกพาติดตัวเดินทางไกล เมื่อจะกินน้ำตามห้วยหนองคลองบึงต่างๆ ก็จะใช้ปลัดขิกฝนผสมเข้าไป
เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่สะสมอยู่ในน้ำ ต่อมาเมื่อกิตติศัพท์ทางแคล้วคลาดรอดพ้นจากโรคภัยและอันตรายต่างๆ ขจรขจายออกไป ก็เกิดความนิยมในการเสาะแสวงหา บรรดาพระ
เกจิอาจารย์ต่างๆ จึงพากันจัดสร้างปลัดขิกตามตำรับของตน จนเป็นที่แพร่หลายในเวลาต่อมา
เมื่อพระเกจิอาจารย์เริ่มสร้างปลัดขิก ท่านก็รวบรวมเอาความรู้ต่างๆ ดำเนินการปลุกเสก และจัดสร้าง มีการเลือกไม้หรือวัสดุอันเป็นมงคลตลอด จนจดจาร
พระคาถา เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นใจให้ผู้คนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นอานุภาพของปลัดขิกจึงมิได้จำกัดอยู่เพียงการรักษาป้องกันโรคแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ได้กลายสภาพเป็นเครื่องราง
ของขลัง (Charm and Talismans) โดยมีความเชื่อว่ามีอานุภาพทางด้านป้องกันอันตราย มีเสน่ห์เมตตามหานิยม โชคลาภ การทำมาค้าขาย หรืออื่นๆ อีกด้วย
ในความเป็นจริงแล้ว ปลัดขิกถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของเพศชายมาแต่โบราณ ปลัดขิกดอกน้อยๆ จะถูกผูกไว้ที่สะเอวของเด็กเพศชาย ซึ่งนอกจากความเชื่อ
ในด้านป้องกันอันตรายแล้ว ยังเป็นเครื่องมือที่บ่งชี้ในเรื่องเพศอย่างเด่นชัด อย่างไรก็ตาม มีผู้คนสงสัยมากมาย ถึงชื่อและความหมายของ "ปลัดขิก" บางคนก็ถามแบบยั่ว
โทสะว่า ทำไมไม่เรียก "นายอำเภอขิก" หรือ "ผู้ว่าขิก" บางท่านสันนิษฐานว่า คนแขวนคนแรกคงเป็นปลัดขิก ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นการพ้องเสียงมาจากคำว่า "ปราศวะ" ใน
ภาษาสันสกฤษ ซึ่งแปลว่า "เคียงข้าง" ในขณะที่ภาษาไทยเราจะเรียกผู้อยู่เคียงข้างนายอำเภอว่า "ปลัดอำเภอ" ผู้อยู่เคียงข้างผู้ว่าราชการจังหวัดว่า "ปลัดจังหวัด"
เหตุที่ให้ความหมายว่าเคียงข้าง หรือผู้อยู่เคียงข้าง เนื่องจากเวลาแขวนปลัดขิกนั้น ผู้ใช้ไม่ได้คล้องคอ หากแต่ผูกอยู่ที่สะเอว หรือบริเวณสีข้าง เรียกว่าไปไหนไปด้วยกัน
และสมัยก่อนก็นิยมแขวนให้ห้อยออกมานอกร่มผ้า เมื่อสาวแก่แม่ม่ายเห็นรูปอวัยวะเพศชายห้อยออกมา ก็พากันหัวเราะหัวใคร่ "คิกคิกคักคัก" กันเป็นที่สนุกสนาน ผู้คนก็เลย
เรียกกันว่า "ปลัดคิก" ก่อนจะเพี้ยนมาเป็น "ปลัดขิก" ในปัจจุบัน
โบราณาจารย์ในสยามประเทศ นิยมสร้างเครื่องรางชนิดนี้กันอย่างแพร่หลาย บ้างก็ลงอักขระเลขยันต์ เช่น อะ อุ มะ หรือ โอม อันเป็นการ
สรรเสริญ พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ ในศาสนาฮินดู บ้างก็จารจารึกอักขระอื่นๆ พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงทางด้านการสร้างปลัดขิกก็คือ หลวงพ่อเหลือ วัด
สาวชะโงก จ.ฉะเชิงเทรา หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ จ.ชลบุรี เป็นต้น
ปัจจุบันแม้โลกจะเจริญก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่ผู้คนก็ยังนิยมบูชาเครื่องรางที่เรียกว่า "ปลัดขิก" กันอย่างแพร่หลาย ตามกระเป๋าพ่อค้าแม่
ขายจะใส่ปลัดขิกดอกน้อยไว้เพื่อให้ทำมาค้าขึ้น บางคนก็ตั้งไว้หน้าร้าน ปิดทองอย่างสวยงาม นัยได้ว่า "ปลัดขิก" กลับแหวกกระแสของความเจริญเข้ามาอยู่ในความศรัทธา
ของสังคมไทย และก้าวไปพร้อมความเจริญ โดยมิได้ตกยุคตกสมัยแต่อย่างไร
ขอบคุณครับ
ผิดพลาดประการใดขออภัยด้วยนะครับ