ที่มาhttp://www.larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/003851.htm
นื้อความ :
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + +
เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ
เรากล่าวเจตนาว่าคือกรรม
เจตนา คือ ความตั้งใจ ความมุ่งใจหมายจะทำ
เจตน์จำนง ความจำนง ความจงใจ
ในการกระทำก็ตาม ความคิดหรือคำพูดของคนเราก็ตาม
ทั้งหลายทั้งปวงนี้ จะประกอบอยู่ด้วยเจตนาคือความตั้งใจ
อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ หากปราศจากเจตนาที่จะคิดแล้ว
ความคิดก็มีไม่ได้ เกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจากเจตนาที่จะพูด
คำพูดก็มีไม่ได้ เกิดไม่ได้ หากปราศจากเจตนาที่จะ
กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว การกระทำนั้นๆ
ก็เกิดขึ้นมาไม่ได้
ครูบาอาจารย์เล่าว่า ทุกครั้งที่มีกรณีที่จะต้องสรุปหาทางออก
ของเรื่องราวใดๆ อาทิเรื่องข้อพระวินัยต่างๆ เมื่อเกิดเรื่องราว
ใดๆ ขึ้นมา พระพุทธองค์จะทรงตรัสถามตัวเจ้าของกรณีว่า
"เธอมีเจตนาอย่างไร" ในการกระทำนั้นๆ
ทรงถามเช่นนี้ ก็เพราะว่า เจตนานี้เองคือตัวกรรม
กล่าวคือ ถ้าเจตนาบริสุทธิ์ ก็ไม่นำให้เกิดเป็นกรรมไม่ดี
และหากเจตนาไม่บริสุทธิ์ ก็ย่อมนำให้เกิดเป็นกรรมไม่ดีซึ่ง
ย่อมจะส่งผลในภายหน้าไม่เร็วก็ช้า ถ้าเจตนาเป็นกุศลยิ่ง
ก็เป็นกรรมที่ดียิ่ง ย่อมจะให้ผลเป็นความสุขต่อๆ ไป
ยกตัวอย่างเช่น ปัดมดตาย คนหนึ่งปัดเพราะเห็นแล้วรำคาญ
ว่ามาขึ้นอาหารทำไม ตายเสียเถอะ! แล้วก็ปัดพรวดเดียวตายสมใจ
กับอีกคนมองไม่เห็นมด ปัดมือกวาดๆ ไปโดนมดตายโดยไม่เห็น
และไม่ได้ตั้งใจ
คนแรกนั้นมีเจตนาชัดเจนว่าอยากให้เค้า (มด) ตาย
คนหลังนั้น ตอนนั้นใจแค่คิดจะปัดมือออกไปเพราะเมื่อย
เจตนาแค่อยากเปลี่ยนอิริยาบถให้หายเมื่อเท่านั้น
ไม่มีเจตนาหรือจุดมุ่งหมายใดๆ เกี่ยวกับมดตัวนั้นเลย
อันนี้เอง ที่สมมุติหากมีกรณีเกิดขึ้นเช่นนี้ และคนทั้งสองในตัวอย่าง
ถูกกล่าวหาว่าบาปเพราะฆ่ามดตาย พระพุทธองค์ก็คงจะทรง
ถามทำนองว่า "ขณะที่ปัดมือนั้น เธอคิดอย่างไร เธอตั้งใจอย่างไร"
อะไรทำนองนี้ ซึ่งความหมายก็คือ หากขณะปัด มีเจตนาอยาก
ปัดไปโดนมดให้เค้าตาย ก็เป็นเจตนาที่เป็นบาป เป็นอกุศล
เป็นกรรมไม่ดี ที่จะส่งผลให้ต้องได้รับทุกข์โทษภัยต่อไปได้
แต่ถ้าหากเจตนาคือจะปัดมือเฉยๆ เพราะเมื่อย เป็นต้น
แล้วไปโดนมดตายเอง อันนี้ นับได้ว่าไม่ได้มีเจตนาใดๆ ที่เป็นบาป
เป็นอกุศล ไม่ได้คิดจะฆ่าเขา ไม่ได้คิดจะทำให้เขา (มด) ต้อง
เดือดร้อนเป็นทุกข์ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งไป
แม้แต่เรื่องของวาจาก็เช่นกัน ใจต้องคิดก่อน อยากก่อน
แล้วคำพูดต่างๆ จึงจะสามารถหลุดออกมาจากปากได้
ในศีลข้อ ๔ พระพุทธองค์จึงทรงแจงไว้โดยละเอียดเกี่ยวกับ
เรื่องของการประพฤติผิดทางวาจาไว้ถึง ๔ อย่างคือ
การกล่าวมุสา การพูดยุยงส่อเสียด การพูดคำหยาบและ
การพูดเพ้อเจ้อโปรยประโยชน์ ทั้งหมด ๔ อย่างนี้
(มุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ) ล้วนเริ่ม
มาจากจิตคิดจะทำ มีเจตนาจะปล่อยให้ความคิดนั้น
ล่วงออกมาทางคำพูด
ผู้มุ่งเพียรเพ่งฝึกสติ ทำความเพียรระลึกรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เนืองๆ
ในกาย วาจา ใจ นั้น ยิ่งสติเฉียบคมยิ่งขึ้นเท่าไหร่ การระลึกรู้
ถึงเจตนาที่ยังคงอยู่ในระดับความคิดก็ตาม เจตนาที่อยากจะ
ปล่อยให้ล่วงออกมาเป็นคำพูดหรือปล่อยล่วงออกมาเป็น
การกระทำต่างๆ ทางกายก็ตาม ก็จะฉับไวขึ้น คือ เมื่อจะคิด
เป็นกุศลหรืออกุศล ก็รู้ได้เร็ว มีสติรู้ทันอาการของความคิด
ต่างๆ นั้น หากความคิดนั้นเป็นกุศล ก็อาจจะคิดต่อ และหาก
ความคิดนั้นเป็นอกุศล เมื่อสติไประลึกรู้ได้ทัน สัมปชัญญะและ
ปัญญาก็จะเกิด รู้ตัวว่ากำลังมีเจตนาอันเป็นบาป เป็นโทษ
เมื่อรู้ด้วยปัญญาเช่นนี้ ก็จะทำให้ความคิดอกุศลหรือความคิด
อันเป็นบาปนั้น หยุดอยู่เพียงเท่านั้น ไม่เลยเถิดล่วงออกมา
ทางวาจาหรือทางกายได้
แต่หากสติรู้ไม่ทันขณะยังเป็นเพียงความคิดหรือเจตนาตรงความคิด
จนเกิดปล่อยล่วงออกมาทางคำพูดหรือการกระทำแล้วก็ตาม
และสติมาระลึกรู้ได้ทันโดยรวดเร็วว่ากำลังพูดไม่ดีหรือกำลัง
ใช้กายกระทำสิ่งที่ไม่ดี เมื่อสติเกิดทันเมื่อไหร่ รู้ตัวเมื่อไหร่
ปัญญาก็จะเกิด เตือนตนว่ากำลังพูดไม่ดีหรือกำลังทำไม่ดี
ก็จะสามารถหยุดคำพูดหรือการกระทำไม่ดีนั้นๆ ไว้แค่นั้น
ไม่ปล่อยให้พูดหรือกระทำไม่ดียิ่งกว่านั้นต่อๆ ไป ให้เป็นบาป
เป็นอกุศลสะสมเข้าไปใหญ่ ได้
ดังนั้น ด้วยสติหรือด้วยการฝึกสติปัฏฐานสี่ ฝึกรู้ตัวทั่วพร้อม
ให้บ่อยๆ เนืองๆ เป็นนิจสิน อยู่ในทุกขณะชีวิตประจำวันนี้เอง
ก็จะช่วยให้บาปทางกายก็ตาม บาปทางวาจาก็ตาม
และที่สำคัญที่สุดบาปทางใจ ก็จะไม่สามารถเกิดได้หรือเกิดได้
น้อยลงและน้อยลงไปตามระดับกำลังของสตินั่นทีเดียว
ในแง่ปฏิบัตินั้น ทุกครั้ง ทุกขณะ ที่สติเกิดนั้น อกุศลหรือบาปหรือ
กรรมไม่ดี คือ ความโลภ ความโกรธ และ ความหลง ก็เกิดไม่ได้
เพราะเป็นสิ่งตรงกันข้ามกัน คือ สติและปัญญา อันเป็นกุศลนั้น
เป็นสิ่งตรงข้ามกับความโลภ ความโกรธและความหลงความ
ไม่รู้ตามความเป็นจริง ดังนั้น เมื่อมีสติอยู่ขณะใด
ในขณะนั้นๆ เจตนาใดๆ ที่ไม่ดี ความคิด คำพูดหรือการกระทำ
ใดๆ ที่ไม่ดี ก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หรือเกิดขึ้นได้ก็เพียง
แว่บเดียว ชั่วขณะเดียวหรือชั่วขณะสั้นๆ แล้วก็จะ
ระงับไปเมื่อสติเข้ามารู้เท่าทัน
เรียกว่า รู้ตัวได้เร็ว รู้ตัวได้ทันเมื่อไหร่ ก็ไม่ต้องสร้างกรรมไม่ดี
ที่เป็นบาป เป็นอกุศล ที่จะส่งผลเป็นความทุกข์ต่อไปในอนาคต
แก่ตนเอง ได้มากขึ้นเท่านั้น
นอกไปจากนี้ เมื่อเจตนานี่เองคือกรรม เราก็มีวิธีที่จะสามารถ
สร้างแต่กรรมดี ทำเจตนาที่ดีๆ ให้เกิดให้มากๆ บ่อยๆ เนืองๆ
ด้วยการพยายามฝึกตนให้ทำ พูด คิด แต่ในเรื่องดีๆ สิ่งดีๆ ที่สวยงาม
บริสุทธิ์ เป็นกุศล และหลีกเลี่ยงการกระทำ การพูด หรือการคิดใดๆ
ที่ไม่ดี ที่เป็นบาป เป็นอกุศล ก็จะช่วยได้อีกทางหนึ่ง
ส่วนวิธีที่ดีที่สุดที่จะสามารถช่วยให้ลด-ละ-เลิกและในที่สุดคือ
จะช่วยตัดกิเลสตัดอกุศลให้ขาดสะบั้นลงได้ ก็คือ การเจริญสติ
การฝึกสติ การมีชีวิตอยู่กับสติปัฏฐานให้บ่อยๆ เนืองๆ
เป็นกิจวัตร เป็นนิจสิน ดำรงตนให้มีสติอยู่เป็นนิจในทุกๆ ขณะ
ที่ตื่นอยู่ นั่นเอง
เจริญในธรรม
จากคุณ : deedi [ 7 ธ.ค. 2544 / 11:37:45 น. ]
**เห็นว่ามีประโยชน์ดี**