การเจริญสมถกรรมฐาน คือการเจริญสติเพื่อให้จิตมีสมาธิ ซึ่งสมถกรรมฐานตามหลักของพุทธศาสนานั้น
มีอยู่ ๔๐ วิธี หรือที่เรียกกันว่า กรรมฐาน ๔๐ กอง ซึ่งทุกกองนั้นล้วนแล้วแต่ต้องใช้สติเข้าไปกำกับในอารมณ์
(สิ่งที่เอามาเป็นองค์ภาวนา) จนจิตเพ่งแน่วแน่จับแนบสนิทอยู่กับอารมณ์กรรมฐานนั้น มีความสงบนิ่ง ไม่หวั่นไหว
ไม่ส่งออกไปที่อื่น อยู่กับอารมณ์นั้น ซึ่งภาษานักปฏิบัติจะเรียกว่า "จิตลงฐาน" คือเข้าสู่อารมณ์สมาธิตามลำดับขั้น
สมาธิก็จะมั่นคงขึ้นไปเรื่อยๆ จากขณิกสมาธิ เข้าสู่ อุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ ตามลำดับชั้นของอารมณ์สมาธิ
ผลของสมาธินั้นคือองค์ของอารมณ์"ฌาน" ซึ่งอารมณ์ฌานนั้นมีลำดับชั้นต่างกันไป ตามกำลังของสมาธิที่ทรงอยู่
ซึ่งแบ่งออกเป็น ๔ ลำดับชั้น อันได้แก่ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ซึ่งแต่ละฌานนั้นมีองค์ธรรมดังนี้
๑.ปฐมฌาน มีองค์ธรรม ๕ ประการ อันประกอบด้วย วิตก วิจาร ปิติ สุข และ เอกัคคตา
๒.ทุติยฌาน มีองค์ธรรม ๓ ประการ อันประกอบด้วย ปิติ สุข และ เอกัคคตา
๓.ตติยฌาน มีองค์ธรรม ๒ ประการ อันประกอบด้วย สุข และ เอกัคคตา
๔.จตุตถฌาน มีองค์ธรรม ๒ ประการ อันประกอบด้วย อุเบกขา และเอกัคคตา
อารมณ์ วิตก วิจาร นั้นคือ จิตจะยกข้อธรรมขึ้นมาขบคิดพิจารณา ตีความขยายความในธรรมที่เคยได้ยินได้ฟังมา
จนเกิดความรู้ความเข้าใจในข้อธรรมนั้น
เมื่อจิตยกข้อธรรมขึ้นมาพิจารณาจนเข้าใจในข้อธรรมเหล่านั้น จิตก็จะมีความเอิบอิ่ม ซาบซ่านไปทั่วกาย ซึ่งเราเรียก
อาการอย่างนั้นว่าเป็นอารมณ์ "ปิติ"
เมื่ออาการของปิติเต็มที่แล้วกะจะดับระงับลงเป็นความรู้สึกที่เย็นสบายจนไม่สามารถที่จะบรรยายได้ ซึ่งอาการอย่างนั้น
เราเรียกว่าเป็นอารมณ์ "สุข" เป็นความรู้สึกที่สบายจนบอกไม่ถูก
เมื่ออารมณ์สุขนั้นมันเต็มที่แล้วจิตก็จะเปลี่ยนมาสู่ความสงบ และวางเฉยไม่พิจารณาอะไร เห็นแต่ความนิ่ง ความสงบ
เราเรียกอารมณ์นี้ว่า "อุเบกขา เอกัคคตา"
ซึ่งในแต่ละอารมณ์นั้นจะเกิดขึ้นสลับกันไปมาขององค์ธรรมที่มีอยู่ในแต่ละฌาน ตามกำลังของสมาธิที่เป็นอยู่ในขณะนั้น
ซึ่งเป็นผลของสมถกรรมฐาน ที่มีสมาธิเป็นที่ตั้ง เป็นความแนบแน่นของจิตต่อกรรมฐานจนเป็นหนึ่งเดียว คือเอกัคคตารมณ์
ซึ่งสมาธิที่เกิดขึ้นในองค์แห่งฌานนั้น เป็น"โลกียฌาน" คือยังไม่ได้เข้าไปประหารกิเลส ตัณหา จนกว่าเราจะได้เจริญวิปัสสนา
ยกจิตขึ้นมาพิจารณาในอารมณ์สมาธินั้น คือ การกำหนดรู้ในอารมณ์ของฌานทั้ง ๔ ซึ่งเรียกว่าฌานที่ ๕ ซึ่งเป็นวิปัสสนา
กำหนดรู้ในองค์ฌาน ตั้งแต่ วิตก วิจาร จนหายไป แล้วไปกำหนดรู้ในอารมณ์ ปิติ ซึ่งเป็นสังขารขันธ์ เป็นองค์ฌาน
เพื่อยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา จนปิตินั้นดับไปเหลือแต่สุข และ เอกัคคตา กำหนดรู้ในสุขที่เป็นเวทนาขันธ์ในองค์ฌาน ยกจิต
ขึ้นสู่วิปัสสนา จนสุขเวทนานั้นดับไป เหลือแต่ อุเบกขาและเอกัคคตา ก็ไปกำหนดรู้ในอุเบกขาความวางเฉยของจิตนั้น
จนมันดับไป เป็นสัมมาสมาธิ จิตก็จะเข้าสู่ "โลกุตตรจิตหรือโลกุตตรฌาน"....
:054:ฝากไว้เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่สนใจในการปฏิบัติธรรม เจริญสมถกรรมฐานทั้งหลาย
ด้วยความปรารถนาดีต่อผู้ใคร่และใฝ่ในธรรมทั้งหลาย
รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๗ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๓๘ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย
:059:ป.ล. อย่าเชื่อทันที ที่ได้อ่าน และอย่าได้ปฏิเสธทันที ที่ได้อ่าน ควรใช้วิจารณญานในการอ่านและการปฏิบัติ