หลายๆคนอาจจะไม่รู้จักหรือคุ้นหูนักสำหรับคำว่าลูกเป้ง
แต่ถ้าเป็นคนเหนือรุ่นเก่าๆแล้วแทบทุกคนไม่มีใครไม่รู้จักครับ
เป้ง หรือ ลูกเป้ง หมายถึง ตัวถ่วงน้ำหนักที่ใช้กับเครื่องชั่งโบราณหรือตราชู คนล้านนาเรียกชั่งชนิดนี้ว่า ยอย ด้านหนึ่งมีจานใส่ของเรียกผางยอย
ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นที่ใส่ตัวถ่วงน้ำหนัก คือ เป้ง ลูกเป้งทำจากโลหะส่วนมากเป็นสำริดที่เป็นทองเหลืองก็มี มีหลายขนาด ทำเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น นก เป็ด หงส์และสัตว์ตามปีนักษัตรหรือทำเป็นลูกกลมๆ ไม่ตกแต่งลวดลาย เป้งบางตัวมีเนื้อตะกั่วเติมเข้าไปเพื่อให้ได้น้ำหนักครบตามจำนวน
ความสำคัญของลูกเป้งนั้น นอกจากจะเป็นเครื่องถ่วงน้ำหนักดังกล่าวแล้ว คนล้านนายังใช้ลูกเป้งแทนค่าอีกได้หลายนัย
นัยแรก แทนค่าเป็นทรัพย์สินเช่นเดียวกับเงินตรา เช่นในขันตั้งอย่างล้านนาที่ใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ จะใส่ลูกเป้งในขันนั้นด้วย ถือเป็นของมีค่ามีราคาแทนทรัพย์สิน
นัยต่อมาลูกเป้งรูปนักษัตร หรือ เป้งสิบสองราศี ใช้ใส่ขันตั้งนั้นเกิดสัมฤทธิ์ผลมากขึ้น เพราะฤทธิ์ของลูกเป้ง สามารถปราบแพ้ขึดหรือเสนียดจัญไรได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะขันตั้งในพิธีกรรมสำคัญๆ เช่น การสืบชาตาบ้านเมือง เป็นต้น อีกนัยหนึ่งนั้น ลูกเป้งหมายถึงตัวนำโชค ทำนองเดียวกับโชครางแต่เป็นเครื่องรางที่ใช้งานได้ นอกจากนี้ยังเรียกถุงผ้าขนาดเล็กมีหูรูดที่ใช้ใส่พกติดเอวโดยเหน็บกับเข็มขัด เรียกว่า ถงเป้ง หรือ ถุงเป้ง ส่วนถุงที่ใส่ลูกเป้งโดยตรงนั้นเท่าที่เคยเห็นจะใช้ผ้าเย็บทำเป็นถุงลักษณะคล้ายร่มชูชีพ ใส่ลูกเป้งหลายๆ ตัว ส่วนยอยเครื่องชั่งตราชูจะใส่ในตลับไม้ ซึ่งต้งออกแบบให้ใส่เครื่องชั่งได้พอดี
ลูกเป้งพบทั่วไปในล้านนา แต่เนื่องจากมีเครื่องชั่งอื่นๆ ที่เหมาะสมและใช้ได้สะดวกกว่าจึงเลิกนิยมกัน ปัจจุบันลูกเป้งมีผู้เก็บสะสมเป็นชุดๆ เรียงตามลำดับน้ำหนักหรือเก็บตามรูปแบบอื่นๆ เช่น เป็นสัตว์นักษัตร เป็นต้น ลูกเป้งจึงกลายเป็นของสะสมที่มีราคาในที่สุด ในอดีตนั้นลูกเป้งและถุงเป้ง มีความสัมพันธ์กับความเชื่อของคนล้านนาที่สอดคล้องกับคำทำนายหรือที่เรียกว่าหนังสือพรหมชาติล้านนาหลายฉบับที่กล่าวถึงคำทำนายโชคชะตาในด้านต่างๆ จะมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับเป้งและถุงเป้งอยู่หลายตอน เช่น คนใดเกิดปีใดควรพกลูกเป้งกับถุงเป้งใดเพื่อให้เป็นมงคลกับตัว ดังนี้
คนเกิดปีใจ้(ชวด) ให้ใช้เป้งรูปหนู ใช้ถุงเป้งลายเหลือง
คนเกิดปีเปล้า(ฉลู) ให้ใช้เป้งรูปวัว ถุงเป้งสองชั้น นอกขาวในเหลือง
คนเกิดปียี(ขาล) ให้ใช้เป้งรูปเสือ ถุงเป้งสามชั้น ในเหลือง กลางขาว นอกดำ
คนเกิดปีเหม้า(เถาะ) ให้ใช้เป้งรูปกระต่าย ถุงเป้งสองชั้น นอกขาว ในเหลืองสายแดง
คนเกิดปีสี(มะโรง) ให้ใช้เป้งรูปพญานาค ถุงเป้งสองชั้น ในแดง นอกดำ
คนเกิดปีใส้(มะเส็ง) ให้ใช้เป้งรูปงู ถุงเป้งสองชั้น นอกเขียว ในขาว
คนเกิดปีสะง้า(มะเมีย) ให้ใช้เป้งรูปม้า ถุงเป้งสามชั้น ในแดง กลางเหลือง นอกขาว
คนเกิดปีเม็ด(มะแม) ให้ใช้เป้งรูปแพะ ถุงเป้งสองชั้น ในหม่น นอกขาว
คนเกิดปีสัน(วอก) ให้ใช้เป้งวอก ถุงเป้งสามชั้น นอกแดง กลางขาว ในเหลือง
คนเกิดปีเร้า(ระกา) ให้ใช้เป้งรูปไก่ ถุงเป้งสองชั้น นอกหม่น ในขาว สายเหลือง
คนเกิดปีเส็ด(จอ) ให้ใช้เป้งรูปหมา ถุงเป้งสองชั้น นอกเหลือง ในขาว
คนเกิดปีไก๊(กุน) ให้ใช้เป้งช้าง ถุงเป้งสองชั้น ในขาว นอกเหลือง สายเขียวหรือแดง
ขอบคุณข้อมูลจากเวปไซต์อุณมิลิตครับ
สองอันนี้เป็นของพ่อผมเองครับ เห็นอยู่ในห้องพระนานแล้ว วันนี้เลยขอนำเสนอให้พี่ๆน้องๆได้รับชมบ้างครับ
น้ำหนักพอสมควรเลยครับ