ชีวประวัติ
หลวงพ่อพัฒน์ นารโท
๑. ร่มกาสาวพัสตร์
หลวงพ่อพัฒน์ นารโท ปฐมเจ้าอาวาสวัดใหม่ หรือวัดพัฒนาราม บ้านดอน (อำเภอ
เมือง) สุราษฎร์ธานี เป็นพระภิกษุสงฆ์อีกท่านหนึ่งที่แม้ได้ละทิ้งเบญจขันธ์ไปแล้ว แต่ก็
ยังคงสถิตอยู่ในความเคารพศรัทธาของมหาชนมาเนื่องนาน ตราบกระทั่งปัจจุบัน
ท่านเกิดเมื่อวันพุธ เดือน ๖ ปีจอ พ.ศ.๒๔๐๕ ร.ศ.๘๑ ในปีที่ ๑๒ แห่งรัชสมัย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ณ ตลาดบ้านดอน อำเภอเมือง
จังหวัดสุราษฎร์ธานี
โยมบิดาของท่านชื่อ ฉุ้น โยมมารดา ชื่อ เนียม บิดาของท่านเป็นชาวบ้านดอน
ส่วนโยมมารดาเป็นชาวเกาะพะงัน มีพี่น้องร่วมอุทร บิดา มารดาเดียวกัน ๗ คน
หลวงพ่อเป็นคนที่ ๕ ครั้งมีพระราชบัญญัติขนานนามสกุล (ขณะท่านอยู่ในเพศบรรพชิต
แล้ว) ญาติพี่น้องของท่านใช้ชื่อสกุลว่า "พัฒนพงศ์"
เมื่อเยาว์วัย ได้ศึกษาอยู่กับพระอาจารย์ผ่อง แห่งวัดพระโยคศึกษาเล่าเรียน ตาม
เนื้อหาวิชาซึ่งเป็นที่นิยม ศึกษาสืบทอดกันอยู่ในยุคสมัยนั้นตามควรแก่วัยและตาม
ภูมิพื้นความรู้ของผู้เป็นอาจารย์ท่านผู้สอน
อุปสมบท
กล่าวกันว่า เมื่อเติบโตเป็นหนุ่ม ท่านก็ได้ทำการสมรสกับนางละม่อมอยู่กินกัน
หลายปี แล้วมีเหตุบางประการ ทำให้ท่านต้องบรรพชาอุปสมบท
ในระหว่างที่หลวงพ่อบวชอยู่นั้น นางละม่อม ภรรยาซึ่งตั้งครรภ์อยู่ได้คลอดบุตร
ออกมาเป็นหญิง แต่ถึงแก่กรรมภายหลังคลอดได้ไม่นานนัก ทำให้ท่านตัดสินใจไม่
ยอมลาสิกขา คงครองเพศสมณะอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์เรื่อยมา
สำหรับสาเหตุที่ท่านได้อุปสมบท ขณะภรรยากำลังตั้งครรภ์นั้น บ้างว่า เพราะ
ความตระหนักรู้เลื่อมใสในหนทางอริยมรรคเกิดความเบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัย แต่
บ้างก็ว่าเพราะเหตุผลทางประเพณีหรือความเชื่อ เช่น การบวชหน้าไฟ (ในงานศพ
บุพการี) หรือการบนบวช เป็นต้น
ครั้นเกิดเหตุบุตรที่เพิ่งคลอดเสียชีวิต ประกอบกับการได้หยั่งถึงสัมผัสรับรู้ใน
ความสงบเย็น สว่าง และสะอาดของร่มกาสาวพัสตร์อันมีความเป็นสัปปายะเปี่ยม
เหตุปัจจัยที่ เอื้ออำนวยเกื้อกูลสนับสนุนโอกาสแห่งความก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปในทางธรรม
จึงทำให้ท่านไม่คิดลาสิกขา คงอยู่ในเพศบรรพชิตต่อไปโดยไม่มีกำหนด
หลังจากล่วงเลยเวลาที่ควรลาสิกขาไปนานเข้า นางละม่อมผู้ภรรยาก็ได้ปรารภ
กับหลวงพ่อ ขอให้ท่านสละเพศบรรพชิต ออกไปครองเรือนใช้ชีวิตครอบครัวดังเดิม
แต่หลวงพ่อได้ปฏิเสธ พร้อมกับแจ้งให้ทราบถึงความตั้งใจอันแน่วแน่ที่จักอยู่ในสมณ
เพศต่อไปแบบไม่มีกำหนด
หลายปีต่อมา นางละม่อม ก็ได้แต่งงานใหม่ โดยความอนุโมทนาอันดีของหลวง
พ่อเพราะเป็นการช่วยปลดเปลื้องห่วงผูกพันให้แก่ท่านอย่างสิ้นเชิง
ในการอุปสมบทของหลวงพ่อพัฒน์นั้น ท่านอุปสมบทเมื่ออายุได้ ๒๕ ปี ใน พ.ศ
.๒๔๓๐ ณ อุโบสถวัดพระโยค โดยมีพระครูสุวรรณรังษี (มี) เจ้าคณะเมืองกาญจนดิษฐ์
เจ้าอธิการวัดโพธิ์ ตำบลบ้านตลาดบน (ยึดถือตามรายงานมณฑลชุมพร ร.ศ.๑๑๙)
เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อกล่อม วัดโพธิ์ (ภายหลังเป็นที่พระครูวิธูรธรรมสาส์น) เป็น
พระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อขำ วัดบางใบไม้ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา
ว่า "นารโท" บวชแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดพระโยค เป็นเวลาหลายพรรษา
สร้างวัด
เมื่อมีอายุพรรษามากขึ้น หลวงพ่อพัฒน์ก็ได้บุกเบิกสร้างวัดขึ้นมาใหม่อีกแห่งหนึ่ง
กล่าวกันว่า ที่ดินที่หลวงพ่อพัฒน์ใช้เป็นสถานที่สร้างวัดนั้น แต่เดิมเป็นเขตป่าช้าของ
วัดพระโยค
ด้วยพรรษากาลที่ไม่ถึงสิบพรรษาและด้วยปัจจัยที่ท่านมีอยู่เพียง ๖ บาท เมื่อครั้ง
แรกเริ่มสร้างวัด แต่ด้วยบารมี ผลานิสงฆ์อันท่านได้เคยสร้างสมมา ประกอบกับความ
เป็นผู้มุ่งมั่น มีปณิธาน และเป็นที่นิยมนับถือของราษฎร ดังที่ "รายงานพระสงฆ์จัดการ
ศึกษามณฑลชุมพร ร.ศ.๑๑๘" กล่าวว่า "พระพัฒน์เจ้าอธิการเปนผู้สามารถ แลเปนที่
นิยมนับถือของราษฎรในเมืองนี้" (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๖ แผ่นที่ ๒๕ วันที่ ๒๗
กันยายน ร.ศ.๑๑๘ หน้า ๓๓๔) หลวงพ่อพัฒน์ ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นภิกษุหนุ่ม ก็สามารถ
สร้างวัดขึ้นใหม่ได้สำเร็จ รู้จักเรียกขานกันโดยทั่วไปว่า "วัดใหม่" (ชื่อวัดว่า "วัดใหม่" นี้
คงใช้อยู่ตลอดสมัยของหลวงพ่อพัฒน์ภายหลังจากท่านมรณภาพแล้ว ได้มีการเปลี่ยนชื่อ
วัดเพื่อเป็นที่ระลึกถึงท่านผู้สร้างว่า "วัดพัฒนาราม")
ปีที่หลวงพ่อพัฒน์ นารโท เริ่มต้นสร้างวัดประมาณได้ว่า ไม่หลังจาก พ.ศ.๒๔๔๐
(ร.ศ.๑๑๖) อย่างแน่นอน ทั้งน่าเชื่อว่า อาจจะเริ่มก่อสร้างเสนาสนะก่อตั้งวัดก่อนหน้า
ร.ศ.๑๑๖ หรือ พ.ศ.๒๔๔๐ อีกด้วย
เนื่องจากปี ร.ศ.๑๑๖ (พ.ศ.๒๔๔๐) นั้น เป็นปีที่หลวงพ่อพัฒน์ได้เริ่มสร้างอุโบสถ
จนกระทั่งแล้วเสร็จโดยสมบูรณ์ครบถ้วนในปี ร.ศ.๑๒๓ (พ.ศ.๒๔๔๗) ดังมีรายละเอียด
อยู่ในหนังสือสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ที่
๑๔๖๓/๘๓๘๗ ลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ร.ศ.๑๒๓ รหัสไมโครฟิลม์ ม ร ๕ ศ/๓๐
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
แต่หลักฐานของทางวัดใหม่ (วัดพัฒนาราม) ระบุว่า "เมื่อปีจอสำเร็จธิศก เดือน ๖
ได้ยกอุโบสถจนสำเร็จ" (ปีจอ สัมฤทธิศกตรงกับ พ.ศ.๒๔๔๑) ทั้งยังกล่าวว่าหลวงพ่อ
พัฒน์ได้เริ่มสร้างวัดใหม่เมื่อเดือน ๖ ปีวอก อัฐศก พ.ศ.๒๔๓๙
วิสุงคามสีมา
หลวงพ่อพัฒน์ได้ก่อตั้งและสร้างวัดใหม่สำเร็จถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์ที่ได้รับพระ
บรมราชานุญาตให้จัดการคณะส่วนปกครองของสงฆ์ ร.ศ.๑๑๘ (ภายหลังปรับเปลี่ยนเป็น
พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑) ที่จำแนกวัดเป็น ๒ แผนก คือ วัด
ที่มีวิสุงคามสีมา เป็นวัดแท้ไม่มีวิสุงคามสีมา เป็นแต่วัดพำนัก (โดยวัดแท้ มีหัวหน้า
ปกครองเป็นเจ้าอธิการ วัดพำนักเป็นหัววัด) ตั้งแต่ปี ร.ศ.๑๑๙ (พ.ศ.๒๔๔๓)
เพราะว่าวัดที่หลวงพ่อพัฒน์สร้างใหม่ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ทำให้มีสถาน
ภาพเป็นวัดแท้ หรือเป็นวัดโดยสมบูรณ์ตามหลักเกณฑ์ของคณะสงฆ์ ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒๑
เมษายน ร.ศ.๑๑๙ โดยเขตวิสุงคามสีมา มีความกว้าง ๘ วา ๓ ศอก ยาว ๑๒ วา ๓ ศอก
ตามประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๘ แผ่นที่ ๑๑ วันที่ ๑๖ มิถุนายน ร.ศ.๑๒๐
(พ.ศ.๒๔๔๔) หน้า ๑๔๐
อนึ่ง หลักฐานของทางวัดพัฒนารามระบุว่า ได้ผูกพัทธสีมาสำเร็จบริบูรณ์ เมื่อปีฉลู
ตรีศก เดือน ๖ แรม ๑๔ ค่ำ ใน วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๔
นอกจากนี้ หลวงพ่อพัฒน์ยังได้ดำเนินการให้มีการก่อสร้างเสนาสนะสิ่งก่อสร้าง
ต่างๆ อีกหลายอย่างแต่ขอกล่าว พอเป็นสังเขป คือ
ศาลา
ได้มีการสร้างศาลา กว้าง ๖ วา ยาว ๖ วา ๖ เหลี่ยม (เสมือนหนึ่งรหัสนัยบาง
ประการ) ที่บริเวณหน้าอุโบสถวัดใหม่ ในปี ร.ศ.๑๒๗ (พ.ศ.๒๔๕๑) สิ้นค่าก่อสร้างรวม
ทั้งสิ้นประมาณ ๑,๖๗๑ บาท ซึ่งปรากฎรายละเอียดอยู่ในหนังสือมรรคนายกวัดใหม่ ที่
๓๕๔๖ ลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ร.ศ.๑๒๘
หอระฆัง
ในปี ร.ศ.๑๒๙ (พ.ศ.๒๔๕๓) วัดใหม่ได้จัดสร้างหอระฆังขึ้น ฐานกว้างด้านละ ๑ วา
๓ ศอก ๔ เหลี่ยม ๒ ชั้น สูง ๒ วา ๒ ศอก ใช้เงินในการก่อสร้างประมาณ ๑,๕๗๐ บาท
โดยจีนเก้าเสี้ยน เป็นผู้บริจาคทั้งหมดปรากฏรายละเอียดในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๘
ภาคที่ ๑ วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๑๓๐ (พ.ศ.๒๔๕๔) หน้า ๗๖๔
ที่ถือน้ำ
ในสมัยราชาธิปไตย บรรดาข้าราชการตามภูมิภาคหรือหัวเมืองและแขวงต่างๆ ต้อง
กระทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ( น้ำที่ดื่มในเวลาถวายสัตย์ต่อพระเจ้าแผ่นดิน) กันทุกปี
โดยมักกระทำพิธีถือน้ำกันในวัดที่เห็นสมควร
แม้วัดใหม่ของหลวงพ่อพัฒน์ จะเป็นวัดที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่เมื่อประมาณไม่นานหลัง
จาก พ.ศ.๒๔๔๐ แต่ก็เป็นวัดที่ทางราชการในพื้นที่นั้น เลือกใช้เป็นที่ประกอบพิธีถือน้ำ
พระพิพัฒน์สัตยาด้วย ดังความในหนังสือ ที่ ๔๒๘๘ ร.ศ.๑๓๐ (พ.ศ.๒๔๕๔) ของพระศรี
สมโพธิ์ เจ้าคณะมณฑลชุมพรตอนหนึ่งว่า
"ฉันเพลแล้ว เข้ากระบวนแห่พระบรมรูปทางบกมาวัดใหม่ (วัดที่ถือน้ำ) เชิญพระ
บรมรูปประดิษฐานไว้ในอุโบสถกับธรรมาศน์ที่พระราชทาน"
"หลวงพ่อมรณะภาพในท่านั่งสมาธิ สังขารท่านไม่เน่าไม่เปื่อย" พระเครื่องของหลวงพ่อ...