ตัวกำหนด คือ ตัวฝืนใจ เป็นตัวธัมมะ (ธัมมะ แปลว่าฝืนใจ ฝืนใจได้ดีได้) เป็นตัวปฏิบัติ คนเรา ถ้าปล่อยไปตามอารมณ์ของตนแล้วมันจะเห็นแต่ความถูกใจ จะไม่เห็นความถูกต้อง อยู่ตรงนี้นะ
กรรมฐานสอน ง่าย แต่มัน ยาก ตรงที่ท่านไม่ได้ กำหนด ไม่ได้เอาสติมาคุมจิตเลย...ผู้ปฏิบัติธรรม ที่ไม่ได้กำหนดไม่ใช้สติ มันก็ไม่เกิดประโยชน์ในการปฏิบัติเลย ว่างเปล่า ไม่ได้ผล คนเรามีสติอยู่ตรงนั้น... ต้องมีสติทุกอิริยาบถ ต้องกำหนดทั้งนั้น
กำหนดอยาก กำหนดโน่น กำหนดนี่ มันจะมากไปเอาแต่น้อยก่อน เพราะเดี๋ยวจะกำหนดไม่ได้ เอาทีละอย่าง เดี๋ยวก็ได้ดีเอง แล้วค่อยกำหนดต้นจิตทีหลัง ต้นจิต คือ ตัวอยาก อยากหยิบหนอ อยากหยิบหนอ นี่ต้นจิต เป็นเจตสิกเอาไว้ทีหลัง ค่อยเป็น ค่อยไปก่อน ค่อย ๆ ฝึก ให้มันได้ขั้นตอน ให้มันได้จังหวะก่อน แล้วฝึกให้ ละเอียดทีหลัง ถ้าเรากำหนดละเอียดเลย ขั้นตอนไม่ได้ ก็เป็นวิปัสสนึกไปเลย พองยุบก็ไม่ได้
การศึกษาภาคปฏิบัตินี่ยากมาก คือ อารมณ์หลายอย่างมาแทรกแซงเรา ก็ขอเจริญพรว่า ให้กำหนดทีละอย่าง ศึกษาไปทีละอย่าง ทีนี้มันฟุ้งซ่าน ความวัวยังไม่ทันหายความควายเข้ามาแทรกแซงตลอดเวลา เพราะไม่ได้ปฏิบัติมานาน เช่น มีเวทนากำหนดทีละอย่าง ยิ่งปวดหนัก ๆ เดี๋ยวมันจะเกิดอนิจจังไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์จริง ๆ นะ ทุกข์นี่คือตัวธัมมะ เราจะพบความสุขต่อเมื่อภายหลัง แล้วเวทนาก็เกิด ขึ้นสับสนอลหม่านกัน ไอ้โน่นแทรก ไอ้นี่แซง ทำให้เราขุ่นมัว ทำให้เราฟุ้งซ่านตลอดเวลา เราก็กำหนดไปเรื่อย ๆ ทีนี้ถ้าปัญญาเกิดขึ้นเป็นขั้นตอน มันก็จะรู้ในอารมณ์นั้นได้อย่างดีด้วยการกำหนด มันมีปัญหาอยู่ว่า เกิดอะไรให้กำหนดอย่างนั้น อย่าไปทิ้ง อริยสัจ ๔ แน่นอน เกิดทุกข์แล้ว หาที่มาของทุกข์ เอาตัวนั้นมาเป็นหลักปฏิบัติ แล้วจะพบอริยสัจ ๔ แน่นอนโดยวิธีนี้ อันนี้ขอเจริญพรว่า ค่อย ๆ ปฏิบัติ กำหนดไปเรื่อย ๆ พอจิตได้ที่ ปัญญาสามารถตอบปัญหาสิบอย่างได้เลยในเวลาเดียวกัน เดี๋ยวคอมพิวเตอร์สามารถจะแยกประเภทบอกเราได้ อารมณ์ฟุ้งซ่านต้องเป็นแน่เพราะเราเพิ่งปฏิบัติไม่นาน
กำหนดได้เมื่อใด สติมีเมื่อใด สามารถจะระลึกเหตุการณ์ในอดีตได้โดยชัดแจ้ง จากคำกำหนดว่า คิดหนอ มีประโยชน์มาก ถ้าเราสติดี ปัญญาเกิดความคิดของกรรมจะปรากฏ แก่นิมิตให้เราทราบได้ว่า เราจะใช้กรรมวันพรุ่งนี้แล้ว และเราก็จะได้ประโยชน์ในวันพรุ่งนี้แล้ว นี่อดีตแสดงผลงานปัจจุบัน ปัจจุบันแสดงผลงานในอนาคต... ที่เรารู้สรรพสำเนียงเสียงนก กำหนดเสียงหนอ อ๋อนกเขาร้อง ด้วยเหตุผล ๒ ประการ มันบอกได้อย่างนี้ เราเดินผ่านต้นไม้ สติดี สัมปชัญญะดี ต้นไม้จะบอกอารมณ์แก่เราได้ ว่าขณะนี้เป็น อย่างไร
บางทีเราไม่รู้ตัวว่ามันมีอะไรเกิดขึ้น เราก็ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไร ถ้าเรามีสติเราก็กำหนดตรงลิ้นปี่ รู้หนอ รู้หนอ รู้หนอ พอสติดีปัญญาเกิด เราก็รู้อะไรขึ้นมาเหมือนกัน อันนี้ไม่ใช่วิธีฝึก แต่เป็นวิธีปฏิบัติที่เกิดเฉพาะหน้า
กรรมฐาน ต้องทำซ้ำ ๆ ซาก ๆ เพิ่ม ๆ เติม ๆ คิดหนอบ่อย ๆ ถ้าโกรธก็กำหนด เสียใจก็กำหนด ดีใจก็กำหนด อย่าประมาทอาจองต่อสงครามชีวิต เดี๋ยวจะปลงไม่ตก
มันจะมีความสงบได้แค่ไหนไม่สำคัญ สำคัญที่เรากำหนดได้ในปัจจุบันหรือไม่เท่านั้น แล้วปัญญาจะเกิดเองตามลำดับ แล้วความคุ้นเคยก็จะมาสงบต่อในภายหลัง
ที่จะเน้นกันมากคือ เน้นให้ได้ปัจจุบัน สำหรับพองหนอ ยุบหนอ เพราะตรงนี้เป็นจุดสำคัญมาก ถ้าทำได้คล่องแคล่ว ในจุดมุ่งหมายอันนี้รับรอง อย่างอื่นก็กำหนดได้
การกำหนดไม่ทัน วิธีแก้ทำอย่างไร กำหนดรู้หนอ รู้หนอ ถ้ามันงูบลงไปต้องกำหนด ไม่อย่างนั้นนิสัยเคยชินทำให้พลาด ทำให้ประมาทเคยตัว
อย่างคำว่า เห็นหนอ เห็นหนอ เห็นหนอ นี่นะมีประโยชน์มาก อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเหลวไหล จะเห็นอะไรก็ตั้งสติไว้ จนกว่าเราจะได้มติของชีวิตว่าเป็นปัจจัตตังแล้ว มีความรู้ในปัญญาแล้ว เราเห็นอะไร ปัญญา จะบอกเอง แต่การฝึกเบื้องต้นนี่ ต้องฝึกกันเรื่อยไป ถึงญาติโยมกลับไปบ้านไปยังเคหะสถาน หรือจะประกอบการงานของโยม ก็ไม่ต้องใช้เวลาว่าง ใช้งานนั่นแหละเป็นกรรมฐาน
บางคน นั่งกรรมฐานตลอดกระทั่งได้ผลสมาบัติ ไม่มีนิมิตเลย บางคนนิมิตไหลมาเป็นไข่งู ไหลมาเป็นภาพยนตร์เลย กำหนดเห็นหนอ อย่าไปดูมัน เห็นหนอ เห็นหนอ เห็นหนอ ไม่หาย กลับภาพจริงครั้งอดีตชาติ รำลึกชาติได้ นิมิตจะบอกได้ในญาณ ๔
หนอ นี่รั้ง จิต ให้มี สติ หนอตัวนี้สำคัญ ทำให้เรามีสติ ทำให้ความรู้ตัวเกิดขึ้น โดยไม่ฟุ้งซ่านในเรื่องเวทนาที่มันปวด แล้วเราก็ตั้งสติต่อไป
ถ้าวันไหนฟุ้งซ่านมาก ไม่ใช่ ไม่ดีนะ ดีนะมันมีผลงานให้กำหนด แล้วก็ขอให้ท่านกำหนดเสีย ฟุ้งซ่านก็กำหนด ตั้งอารมณ์ไว้ให้ดี ๆ กำหนดฟุ้งซ่านหนอ กำหนดฟุ้งซ่านหนอ กำหนดฟุ้งซ่านหนอ หายใจยาว ๆ ตามสบาย สักครู่หนึ่งท่านจะหายแน่นอน บางคนดูหนังสือปวดลูกตา อย่าให้เขาเพ่งที่จมูก ต้องลงไปที่ท้อง หายทุกราย บางทีปวดกระบอกตา ดูหนังสือไม่ได้เลย ร่นลงมากำหนดที่ท้อง ก็จะว่องไวคล่องแคล่วขึ้น แล้วจะหายไปเอง
ทวาร ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่มาของ นรกสวรรค์ จึงต้องกำหนดจิต ทวาร ๓ ทวารกาย ทวารวาจา ทวารใจ เป็นที่มาของ บุญบาป จึงต้องสำรวม
ตัวกำหนดจิตสำคัญมาก จะทำงาน เขียนหนังสือก็กำหนด จะกินน้ำก็กำหนด จะเดินก็กำหนด จะหยิบอะไรก็ตั้งสติไว้ โกรธก็เอาสติไปใส่ เสียใจก็เอาสติไปใส่ ให้รู้ว่าเสียใจเรื่องอะไร โกรธเรื่องอะไร เราจะรู้ด้วยตัวเองว่า เราสร้างกรรมอะไร และจะแก้ปัญหาอย่างไร
ถ้าเราโกรธ เราไม่สบายใจ กลุ้มอกกลุ้มใจ อย่าไปฝากความกลุ้มค้างคืนไว้ อารมณ์ค้าง เช้าขึ้นมาทำงานจะเสียหาย หายใจยาว ๆ แล้วกำหนดตรงลิ้นปี่ว่า โกรธหนอ โกรธหนอ โกรธหนอ รับรองหายโกรธ โกรธแล้วไม่กำหนด ฝากความโกรธ เก็บไว้ในจิตใจตายไปลงนรกนะ... ในทำนองเดียวกัน กำหนดเสียใจหนอ เสียใจหนอ เสียใจหนอ หายใจยาว ๆ ร้อยครั้งพันครั้ง ความเสียใจจะหายไปเลย ดีใจเข้ามาแทนที่ สร้างความดีต่อไป
ขอบคุณคำสอนของหลวงพ่อจรัญ ครับ