๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓
ตถตาอาศรม ริ่มฝั่งโขง
การดำเนินชีวิตในสังคมมนุษย์อันกว้างใหญ่นั้น ย่อมมีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่อกัน
เพราะมนุษย์นั้นเป็นสัตว์สังคม เกี่ยวเนื่องกันตามบทบาทและหน้าที่ของแต่ละคนแต่ละสังคม
มีความสัมพันธ์กันตามสายโลหิตเครือญาติ หน้าที่การงาน การศึกษา ภาษาและท้องถิ่นที่อาศัย
ทำให้คนเราต้องรู้จักต้องพบปะกัน มีความสัมพันธ์กันในแต่ละสถานะ เป็นเครือญาติพี่น้องกัน
เป็นครูบาอาจารย์และศิษย์ เป็นเจ้านายกับลูกน้อง เป็นผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้อำนาจการปกครอง
เป้นพวกพ้อง เป้นเพื่อน หรือเป็นคนรู้จักกัน มีความสัมพันธ์กันในสังคม สมาคม ชมรมต่างๆ
และคำๆหนึ่ง ซึ่งเรามักจะได้ยินอยู่เสมอก็คือคำว่า"เป็นเพื่อนกัน" ซึ่งคำว่าเพื่อนนั้นมีความหมาย
ที่ยิ่งใหญ่ เพราะหมายถึงกัลยาณมิตร คือผู้ที่คิดและหวังดีต่อเรา จึงเหมาะที่จะเรียกว่าเป็นเพื่อน
เพราะถ้ามิใช่"กัลยาณมิตร"แล้ว คงเป็นได้เพียง"คนรู้จักกัน" หรือ"คนคุ้นเคยกัน"เป็นได้เท่านั้น
เราคงจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า"มีอะไรให้ผมรับใช้ บอกได้เลย"หรือ"มีปัญหาอะไรบอกผมได้"
จากคนที่รู้จักกันอยู่เสมอ ซึ่งมักจะเป็นคำพูดในธรรมเนียมปฏิบัติตามมารยาทของคนที่พึ่งจะรู้จักกัน
แต่ในความเป็นจริงนั้น เมื่อในยามที่มีปัญหาเกิดขึ้นมาจริงๆแล้ว มีน้อยมากที่จะพึ่งพาอาศัยได้
ในยามที่เราล้มเหลว ผิดพลาด หมดอำนาจวาสนาบารมี ไม่มีสมบัติทรัพย์สินฐานะทางสังคมแล้ว
ไม่มีผลประโยชน์ต่อเขาแล้ว คำพูดที่เขาได้เคยกล่าวไว้ก็ลืมหายไป ดั่งคำโบราณที่กล่าวไว้ว่า
"เมื่อมั่งมี มิตรมากมาย มุ่งหมายมอง
เมื่อมัวหมอง มิตรมอง เหมือนหมูหมา
เมื่อมอดม้วย มิตรเมิน ไม่มองมา
แม้นมวลมิตร หมูหมา ไม่มามอง"
แต่ในวิกฤตนั้นย่อมมีโอกาศ ในยามที่เรายากไร้หมดอำนาจวาสนาบารมี มีความผิดพลาดและล้มเหลว
เป็นช่วงเวลาแห่งการพิสูจน์มิตรแท้ พิสูจน์คำว่าเพื่อน ว่าจะมีใครบ้างที่ยังยืนเคียงข้างไม่ทอดทิ้งเรา
คอยช่วย้เหลือและปลอบขวัญให้กำลังใจเรา จะมีใครสักกี่คนที่ยังเหลืออยู่และเหมาะสมกับคำว่า"เพื่อน"
จะขอยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมนี้และได้มีส่วนร่วมในการรับรู้เหตุการณ์นั้น
เรื่องนั้นมีอยู่ว่า"บิดาของเพื่อนสนิทคนหนึ่ง ซึ่งนับถือท่านเหมือนบิดาแท้ๆของเรา ท่านเป็นข้าราชการผู้ใหญ่
มีอำนาจและบทบาทในสังคม สมัยที่ท่านรับราชการอยู่นั้น ทุกคนต่างไปพึ่งพาขอความช่วยเหลือจากท่าน
อยู่ไม่เคยขาด มีของขวัญของกำนัลไปให้ ยามที่ไปติดต่อขอความช่วยเหลือจากท่าน พร้อมกับคำพูดที่สวยหรู
"มีอะไรให้ผมรับใช้ ให้ผมตอบแทน บอกได้เลยครับ" เป็นอยู่อย่างนั้นเป็นประจำสำหรับคนที่มาหาท่านให้ท่านช่วย
จนท่านเกษียนอายุราชการ หมดอำนาจหมดหน้าที่ กลับมาเป็นสามัญชนคนธรรมดา จากการใส่สูทผูกไทค์ไปไหน
มีคนขับรถให้มีคนติดตาม จากบ้านพักข้าราชการหลังใหญ่ กลับมาอาศัยบ้านไม้เก่าๆหลังน้อย จากที่มีคนรับใช้มากมาย
มาอยู่กันสองตายายในบ้านสวน ชีวิตที่เปลี่ยนไป นุ่งขาสั่น ใส่เสื้อเชิตเก่าๆ รองเท้าแตะ ปั่นจักรยานไปทานกาแฟริมถนน
อยู่แบบยากจนอย่างข้าราชการเกษียนอายุ ใหม่ๆยังมีคนทักทายและสนทนาแต่พอวันเวลาผ่านไปไม่ค่อยจะมีใครสนใจ
และไปมาหาสู่ จะเหลืออยู่ก็เฉพาะลูกน้องเก่า เพื่อนสนิท ญาติใกล้ชิดเพียงไม่กี่คน
ผ่านไปประมาณสามปีหลังเกษียนอายุราชการและที่ท่านทำตัวอย่างนั้น พอย่างเข้าปีที่สี่ ท่านลงมือสร้างบ้านหลังใหม่
ราคาสิบกว่าล้าน(ในสมัยปี'2529) เปิดสวนอาหารในเนื้อที่สิบกว่าไร่ เปลี่ยนการดำเนินชีวิตกลับไปสู่อย่างเดิมก่อนเกษียน
จัดงานขึ้นบ้านใหม่และเปิดสวนอาหารอย่างใหญ่โต คำพูดของท่านที่ยังจำไม่เคยลืม"ผมยอมโง่ ยอมบ้า ยอมให้เขาดูถูกด่าว่า
เพื่อที่จะพิสูจน์ว่า ใครบ้างที่จริงใจกับเรา สามปีที่ยอมลำบากถูกเขาดูหมิ่นเยียดหยาม มันคุ้มกับการที่จะได้รู้ว่าใครเป็นเพื่อนแท้"
เป็นคำพูดและการกระทำที่ประทับใจ เป็นบทเรียนที่สอนข้าพเจ้าได้อย่างมากมาย เมื่อได้ระลึกนึกถึงท่าน จึงได้เขียนบทความนี้ออกมา
เพื่อนำมาเป็นวิทยาทาน ให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณา "ไม้ล้มข้ามได้ คนล้มอย่าข้าม (เพราะไม่รู้ว่าล้มจริง หรือว่าแกล้งล้ม)"
ในวิกฤตนั้นย่อมมีโอกาศ อย่าขาดสติและตื่นเต้นตกใจ ตั้งสติให้มั่นคง ค่อยๆคิดและพิจารณา มองหาสิ่งที่ดีและมีคุณของวิกฤตนั้น
แล้วนำมันมาเป็นโอกาศในการสร้างขวัญและกำลังใจ ที่จะก้าวเดินต่อไปสู่ความสำเร็จในภายภาคหน้า อย่ารอโอกาศ จงแสวงหาโอกาศ
"A friend in need is a frien indeed"แปลความได้ว่า"เพื่อนแท้คือเพื่อนในยามยาก"
นำมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นแบบอย่างในกานรดำเนินชีวิต โรดคิดและพิจารณาตาม แล้วท่านจะได้ข้อคิดในการดำเนินชีวิตบนโลกใบนี้
ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต แด่มวลมิตรผู้ร่วมชะตากรรมบนโลกใบนี้
รวี สัจจะ-สมณะชายขอบ-วจีพเนจร
๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๑๑.๐๓ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย