ผู้เขียน หัวข้อ: ชม “เวียงกุมกาม” เมืองหลวงล้านนา  (อ่าน 5185 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ธรรมะรักโข

  • มีสติ...กำหนดรู้...อยู่ที่จิต
  • อัฏฐมะ
  • ***
  • กระทู้: 749
  • เพศ: ชาย
  • ผู้รักษาธรรม
    • ดูรายละเอียด


ชม “เวียงกุมกาม” เมืองหลวงล้านนา

จากเอกสารพงศาวดารโยนก ระบุว่า “เวียงกุมกาม” เป็นเมืองที่ “พญามังราย” กษัตริย์แห่งโยนกนครสถาปนาขึ้นเป็นเมืองหลวงแรกของล้านนา แต่เวียงกุมกาม ก็เป็นเมืองหลวงได้ไม่นาน เพราะประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี พญามังรายจึงโปรดให้สร้าง “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” อันมีชัยภูมิที่เหมาะสมเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่

เวียงกุมกามล่มสลายลงเพราะน้ำท่วมครั้งใหญ่ เมื่อครั้งพม่าแผ่อำนาจเข้ามาเมื่อปี พ.ศ.2101-2317 ทำให้เวียงกุมกามถูกฝังจมอยู่ใต้ตะกอนดินจนยากที่จะฟื้นฟู ประกอบกับอุทกภัยครั้งนั้น แม่น้ำปิงเปลี่ยนร่องน้ำไม่ไหลผ่าน จึงถูกทิ้งร้างมานับร้อยปี จนมีความเชื่อว่าเวียงกุมกามเป็นเพียงเมืองในตำนาน

 

เมื่อปี พ.ศ.2527 หน่วยศิลปากรที่ 4 กรมศิลปากร ขุดแต่งวิหารกานโถมที่ “วัดช้างค้ำ” ซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งในเวียงกุมกาม จนทำให้เรื่องราวของเมืองในตำนาน นครโบราณใต้พิภพแห่งนี้ ปรากฏเป็นจริงขึ้น

จากการศึกษาค้นคว้าของนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ ต่างยืนยันและเชื่อได้ว่า ในเขตท้องที่หมู่ 11 ต.ท่าศาลา อ.สารภี อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้รวมระยะทาง 5 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของเมืองเก่าเวียงกุมกาม จุดสำคัญของเวียงกุมกาม มีโบราณสถานที่น่าสนใจอยู่ 5 แห่ง หลังจากที่บูรณะแล้ว โดยยังคงสภาพความสมบูรณ์ในรูปแบบของสถาปัตยกรรม ในส่วนของเจดีย์ และอุโบสถ แลดูเป็นเอกลักษณ์ สวยเด่นเป็นสง่า เหมาะแก่การศึกษาและเดินทางเที่ยวชม

 

เริ่มที่ “วัดกานโถม” หรือ “วัดช้างค้ำ” จากเอกสารพงศาวดารโยนกระบุว่า พญามังรายโปรดให้สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ.1833 ลักษณะพระอุโบสถ ประกอบด้วยฐานเจดีย์กว้าง 12 เมตร สูง 18 เมตร มีซุ้มพระจำนวน 4 ทิศ ลดหลั่นเป็น 2 ชั้น ชั้นล่างประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวน 4 องค์ ส่วนชั้นบนประดิษฐานไว้จำนวน 1 องค์

อีกทั้งยังพบหลักจารึกหินทรายสีแดง ที่มีลักษณะอักษรผสมผสานกันระหว่าง อักษรมอญ อักษรไทย และอักษรสุโขทัย ที่นำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์และศูนย์ข้อมูลเวียงกุมกาม

นอกจากนี้ในบริเวณวัดกานโถม ยังมีต้นศรีมหาโพธิ์เก่าแก่ ที่อัญเชิญเมล็ดจากลังกามาปลูกไว้ และยังมีหอพญามังราย ซึ่งทั้ง 2 สิ่งนี้ เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนในละแวกนั้นมาตั้งแต่ครั้งโบราณ

 

เมื่อเดินมาสักระยะจะพบกับ “วัดอีก้าง” ซึ่งอยู่ติดกับแนวคูน้ำคันดิน ด้านทิศตะวันตกของเมือง วัดอีก้างประกอบด้วยวิหารและเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบล้านนา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ในรัชสมัยพระเจ้าเมืองแก้ว ประมาณปี พ.ศ.2060

ถัดมาเป็น “วัดปู่เปี้ย” ตั้งอยู่บริเวณที่เข้าใจว่าเป็นแนวคูน้ำคันดิน ด้านทิศตะวันตกของเวียงกุมกาม ประกอบด้วยวิหาร เจดีย์ อุโบสถ ส่วนองค์เจดีย์มีศิลปกรรมแบบสุโขทัย และแบบล้านนารวมกัน คือมีเรือนธาตุสูงรับองค์ระฆังขนาดเล็ก อายุการสร้างเจดีย์วัดปู่เปี้ยน่าจะอยู่ในรัชสมัย พญาติโลกราช พ.ศ.1988-2068

บริเวณใกล้ๆ กันเป็น “วัดพระธาตุขาว” ตั้งอยู่บริเวณนอกแนวคูเมือง เจดีย์เป็นลักษณะกลม ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมแบบศิลปะล้านนา อายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 21 ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นฉาบด้วยปูนขาวขนาดใหญ่ เข้าใจกันว่าชื่อวัดคงเรียกตามลักษณะของพระพุทธรูปนี้

 

สุดท้ายที่ “วัดเจดีย์เหลี่ยม” หรือ “วัดกู่คำ” เจดีย์เหลี่ยม (เจดีย์กู่คำ) มีขนาดฐานกว้าง 8 วา 1 ศอก สูง 22 วา ถอดแบบวัดจามเทพเทวี จ.ลำพูน เป็นศิลปกรรมแบบลพบุรี มีพระพุทธรูปยืนอยู่ในซุ้มทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 15 องค์ รวม 60 องค์ ยอดเจดีย์มีลักษณะแหลมขึ้นไปเป็นตุ่ม ไม่มีฉัตรเหมือนเจดีย์ทั่วไป

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2541 มีการบูรณะ โดยใช้ช่างชาวพม่า เป็นผู้ดำเนินการด้านลวดลายต่างๆ ทั้งหมด ทำให้ซุ้มพระและองค์พระจึงมีลักษณะศิลปกรรมแบบพม่า อย่างที่เห็นจนถึงปัจจุบัน

 

อีกทั้งยังมีวัดที่บูรณะแล้วเสร็จอีก 4 แห่ง ที่มีเพียงฐานรากของอุโบสถ ไว้ให้ชมและศึกษากัน ไม่ว่าจะเป็น วัดกู่ป้าด้อม วัดพระเจ้าองค์ดำ วัดพญามังราย และวัดหัวหนอง โดยวัดทั้ง 4 แห่ง มีการขุดพบโบราณวัตถุมากมาย เช่น พระพุทธรูปสำริดขนาดเล็กหลายองค์ เป็นศิลปะแบบล้านนาและเขมร ตลอดจนพระพิมพ์แบบหริภุญไชย เป็นต้น และยังมีเนินดินโบราณสถาน ที่ยังรอขุดแต่งและบูรณะอีกกว่า 11 แห่ง

เป็นที่น่าสังเกตว่า การสร้างวัดในเมืองเวียงกุมกามแห่งนี้ พระอุโบสถของวัด จะหันหน้าไปในทางทิศเดียวกันคือ ทิศของแม่น้ำปิงที่ไหลพาดผ่านเมืองทางทิศเหนือ ซึ่งเป็นแม่น้ำปิงสายเก่า ก่อนที่แม่น้ำสายนี้จะไหลเปลี่ยนทิศทาง นั่นสะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนในสมัยโบราณมีความผูกพันตลอดถึงความเชื่อต่อสายน้ำในชุมชน

เวียงกุมกามจากเมืองที่เคยหลับใหลกลายเป็นเพียงเมืองในตำนาน กลับฟื้นตื่นมาสะท้อนความรุ่งเรืองในอดีต

 



ขอขอบคุณ...หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน เรื่องและภาพโดย สกล ทองหมี