ผู้เขียน หัวข้อ: หลวงปู่สังข์ ปุญญสิริ วัดน้ำเต้า อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา  (อ่าน 10193 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ธรรมะรักโข

  • มีสติ...กำหนดรู้...อยู่ที่จิต
  • อัฏฐมะ
  • ***
  • กระทู้: 749
  • เพศ: ชาย
  • ผู้รักษาธรรม
    • ดูรายละเอียด


มีเรื่องเล่าขานกันว่า ครั้งหนึ่งในขณะที่หลวงพ่อยังเป็นสามเณรน้อย ได้เกิดไฟไหม้ป่าขึ้น ไฟป่าได้ไหม้ตรงเข้ามาจะถึงกระท่อมที่หลวงพ่อจำพรรษา

ชาวบ้านแตกตื่นกันมากเพราะกลัวว่าหลวงพ่อจะได้รับอันตราย และด้วยเปลวไฟก็ร้อนแรงมากเนื่องจากบริเวณนั้นเป็นป่าไผ่ ทำให้ไม่สามารถเข้าไปช่วยอะไรได้ 

จึงได้แต่ร้องตะโกนบอกให้หลวงพ่อหนีออกมา ในขณะที่ไฟได้ไหม้จนถึงกุฎิหลวงพ่อ ได้เกิดเหตุการณ์มหัศจรรย์คือเกิดลมหวนขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนและดับไฟลงได้

ด้วยความแปลกใจชาวบ้านได้ถามหลวงพ่อว่า ไฟไหม้น่าจะเป็นอันตรายแบบนี้ หลวงพ่อไม่กลัวไฟหรือหลวงพ่อมีอะไรดี หลวงพ่อได้ตอบว่า…

“ฉันได้ถวายชีวิตแก่พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้าแล้ว เมื่อจะเป็นอันตรายอย่างไร คุณพระท่านก็คงช่วยเหลือไม่ให้ได้รับอันตราย...”

และตอนนั้นหลวงพ่อพอจะหนีได้ ทำไมไม่หนีออกมาล่ะ....ท่านตอบว่า

“ฉันก็นั่งเจริญภาวนาระลึกถึงพระพุทธคุณอยู่ ก็คงเป็นด้วยคุณพระคุ้มครอง ไฟจึงไม่ไหม้มาถึงกระท่อม”



ครับ เรื่องราวเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องราวในอดีตที่เกิดขึ้นจริง

ว่ากันว่าเรื่องราวในอดีตต่างๆ ล้วนล่องลอยอยู่ในกาลเวลาและเฝ้ารอว่า สักวันหนึ่งจะมีใครเอื้อมขึ้นไปหยิบเรื่องราวเหล่านั้นมาถ่ายทอดต่อไป....

หลวงพ่อเป็นอดีตพระเกจิอาจารย์ที่สำคัญองค์หนึ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในช่วงยุค ๒๕๐๐



ตอนที่หลวงพ่อท่านมรณภาพผมเองยังคงเล่นแปลงกายเป็นอุลต้าแมนอยู่เลยครับ จนเมื่อตัวเองโตขึ้นและเริ่มสนใจเรื่องของพระ เรื่องของความมหัศจรรย์แห่งจิต ฯลฯ 

จึงได้ทราบว่าหลวงพ่อองค์นี้คือพระอุปัชฌาย์ที่บวชให้กับหลวงปู่ทิม อตตสนโต แห่งวัดพระขาว แต่ก็จนใจด้วยว่าประวัติของท่านค่อนข้างสืบหายากเหลือเกิน



จนผมได้พบกับท่านพระครูชินธรรมาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดสีกุก เรื่องราวประวัติของหลวงพ่อจึงค่อยๆประติดประต่อออกมายาวเหยียดดังนี้ครับ.....

“สังข์” เป็นชื่อเดิมของ”ท่านพระครูอุดมสมาจาร” อดีตเจ้าอาวาส”วัดน้ำเต้า” อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยคุณพ่อคุณแม่และบรรดาญาติๆของหลวงพ่อ ต่างก็เรียกชื่อนี้ติดปากกันมาตั้งแต่หลวงพ่อสังข์ท่านยังเล็กๆ .....

สาเหตุที่เรียกเช่นนี้ เกิดจากในวันที่หลวงพ่อคลอดออกมา ก็ปรากฏว่ามีสายรกพันคอและในมือของหลวงพ่อก็กำสายรกที่มีลักษณะแปลกๆ 

กล่าวคือสายรกนั้นมีรูปร่างยาวรี เวลายกขึ้นจะคล้ายๆคณโทน้ำ เวลาวางบนพื้นก็จะมีลักษณะตอนท้ายที่กลมโต แต่ปลายเรียว ซึ่งหญิงชราสูงอายุที่ทำคลอดให้หลวงพ่อขณะนั้นถึงกับเอ่ยปากว่า

“ดูคล้ายๆสังข์ที่เขาใช้สำหรับหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ในงานมงคลเสียจริงๆ...”

ด้วยเหตุนี้แหละครับ บรรดาญาติๆจึงได้ขนานนามหลวงพ่อว่า “สังข์”

 

หลวงพ่อเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยที่ท่านยังเป็นเด็ก เคยตามคุณย่าไปใส่บาตรพระที่หน้าบ้านของท่านเป็นประจำ ครั้นเมื่อเวลาที่คุณย่าของท่านใส่บาตรเสร็จ มักจะเอาข้าวก้นบาตรมาปั้นเป็นก้อนให้ท่านทานเสมอ หลังจากนั้นคุณย่าของท่านก็จะตักน้ำมารดลงบนพื้นดิน ด้วยความสงสัยจึงได้ถามคุณย่าของท่านว่าทำอะไร คุณย่าของท่านจึงตอบว่า....

“เมื่อเราใส่บาตรเสร็จแล้ว ก็ต้องกรวดน้ำด้วยซิหลาน เพื่อญาติของหลานจะได้บุญด้วยไงล่ะ...”

เชื่อไหมครับคำว่า “บุญ” เพียงคำเดียว สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดของเด็กชายตัวน้อยให้เข้ามานับถือและเชื่อมั่นในบวรพระพุทธศาสนาได้ทันที

จะว่าไปแล้วผมว่าคนเรานี่ก็แปลกๆ อย่างบางคนพบพระแล้วก็จะบอกลูกๆว่าให้ไหว้พระเสียสิลูก แต่ตัวเองไม่เคยไหว้นำให้เด็กๆเห็นเลย แล้วก็มักจะโทษเด็กๆว่า “มือแข็ง” กรรมของเด็กๆละครับ

 

คำโบราณเขาว่า “ดัดไม้เมื่ออ่อนย่อมได้ผลดี” เช่นเดียวกันครับ “ปลูกศรัทธา” มันก็ต้องปลูกกันตั้งแต่เล็กแต่น้อย 

ด้วยนิสัยที่ชอบในเรื่องของบุญกุศล เมื่อเด็กชายสังข์เติบโตมาพอที่จะตามคุณย่าของท่านไปวัดได้ คุณย่าจึงมักจะพาท่านไปทำบุญที่วัดด้วยเสมอและด้วยอุปนิสัยที่ชอบให้ทานแก่ผู้อื่น เช่น

การที่ท่านนำตุ่มน้ำตั้งไว้ที่ศาลาพักร้อนหลังบ้านของท่าน เพื่อไว้ถวายแก่พระธุดงค์ที่เดินผ่านมา หรือ

เมื่อเห็นคนขอทานเดินมา ท่านก็จะรีบเข้าไปในบ้านและตักข้าวมาให้แก่ขอทานผู้นั้นได้รับประทานอาหาร ท่านว่าสิ่งที่ท่านชอบมากที่สุดคือเวลาที่ท่านถวายของให้พระสงฆ์ และได้รับพรกลับมาว่า...

“ขอให้สำเร็จประโยชน์แก่พระโพธิญาณ” 

ท่านว่าประโยคนี้ได้ใจท่านมากครับ ทำให้ท่านรู้สึกอิ่มเอิบใจทั้งๆที่ท่านยังไม่รู้จักเลยว่า “บาปบุญ” เป็นอย่างไร

 

มีความเชื่อกันว่า “คนเราเกิดมาเพื่อจะเป็นอะไรสักอย่าง” ซึ่งความเชื่อแบบนี้ผมไม่แน่ใจว่ามันจะถูกต้องหรือเปล่า แต่อย่างน้อยมันก็เป็นความเชื่อที่มีสีสัน มีชีวิตชีวาและทำให้มนุษย์สามารถอยู่ได้อย่างมีความหวัง 

สมัยที่เด็กชายสังข์ตัวโตยังไม่ถึงหนึ่งเมตร อายุยังไม่ถึงสิบขวบ ท่านได้ไปอยู่วัดกับขลัวลุงขำ ซึ่งขณะนั้นขลัวลุงขำได้เรียน “กายคตาสติกัมมัฏฐาน” กับฆราวาสที่มีความรู้สูงชื่ออาจารย์อยู่ และเมื่อขลัวลุงขำเรียนจบก็มักจะชอบท่องสาธยายให้เด็กชายสังข์ฟังบ่อยๆว่า...

“เกศาผม โลมาขน นขาเล็บ ทันตาฟัน ตโจหนัง นี่เป็นอนุโลม ตโจหนัง ทันตาฟัน นขาเล็บ โลมาขน เกศาผม นี่เป็นปฏิโลม...”

ท่านว่าที่ขลัวลุงขำสาธยายให้ฟังนี้ ท่านไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร รู้แต่ว่าชอบมาก ฟังได้ไม่เบื่อ ครั้นจะถามก็ไม่กล้าเพราะกลัวจะโดนดุ จนเมื่อท่านมาอยู่วัดและได้เล่าเรียนศึกษา จนมีความรู้ทั้งหนังสือภาษาไทย หนังสือขอมและอ่านพระมาลัยได้(พระมาลัยสมัยนั้นเป็นภาษาขอม)

 

ท่านจึงได้เข้าใจว่า “กายคตาสติกัมมัฏฐาน” คือกัมมัฏฐานอย่างหนึ่ง ว่าด้วยการกำหนดพิจารณากายให้เห็นว่า กายนี้ประกอบไปด้วยชื้นส่วนต่างๆ ซึ่งชิ้นส่วนต่างๆ นี้เราเรียกว่า “อาการ ๓๒” มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น

ว่ากันว่า “ธรรมะที่เกิดขึ้นในใจ ก่อให้เกิดปัญญารู้ เรียกว่าญาณปัญญา” ญาณปัญญาที่เกิดขึ้นมีคุณสมบัติพิเศษคือ “สามารถทำให้เรามองเห็นตัวเอง”

 

“เราไม่ชอบเที่ยว ชอบที่จะสวดมนต์ มุ่งอยู่กับการปฏิบัติของเรา คือก่อนนอนเราก็สวดมนต์ สวดมนต์แล้วก็นอน

แต่มานึกได้ว่า เมื่อเราสวดมนต์แล้วก็นอน หากตายไปเราก็จะกลายเป็นคนไม่มีศีล

ก็เลยมีความคิดว่าเวลาสวดมนต์ต้องสมาทานศีลด้วย เวลาตายไปจะได้เป็นคนที่มีศีล.....”

เด็กชายสังข์บวชเป็นสามเณรน้อยเมื่ออายุได้ ๑๖ ปี โดยมีหลวงพ่อปั้น วัดพิกุลโสกัณฑ์ ตำบลพระขาว อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นอุปัชฌาย์บวชให้เมื่อวันจันทร์ที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๓ และเมื่อบวชแล้วสามเณรสังข์ได้เข้ามาจำพรรษาอยู่ที่วัดขวิด (ปัจจุบันชื่อวัดธรรมโชติการาม) ซึ่งเป็นวัดที่ไม่ไกลจากบ้านเกิดของท่านเท่าใดนัก

กิจวัตรประจำวันของสามเณรสังข์เมื่อกลับจากบิณฑบาตและฉันเสร็จแล้ว ท่านก็จะเข้าไปอยู่ในป่าช้าหลังวัดเพื่อปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานเจริญภาวนาทำสมาธิ ท่านว่าในช่วงที่เข้ามาอยู่ในป่าช้าใหม่ๆ ก็ยังเกิดความกลัว

 

เนื่องจากป่าช้าของวัดขวิดเป็นป่าช้าเก่าที่มีศพฝังอยู่หลายศพและคงด้วยความเป็นที่นิยมของชาวบ้าน ป่าช้าวัดขวิดแห่งนี้จึงเป็นที่รองรับของบรรดาศพใหม่ๆ ที่มีทยอยเข้ามากันเรื่อยๆ

ว่ากันว่าแม้แต่ตอนกลางวันนกยังไม่กล้าบินผ่านเลยครับ

นี่....ชาวบ้านเขาว่าเฮี้ยนกันขนาดนี้

แต่ว่าความเฮี้ยนนี้จะส่งผลให้หลวงพ่อสังข์ท่านเจอมิตรรักต่างมิติหรือเปล่าผมเองก็ไม่อาจทราบได้ ทราบเพียงแต่ว่าในกาลเวลาต่อมาสามเณรสังข์ สามารถเอาโลงศพเปล่าๆมาเรียงเพื่อรองนั่งได้

ครั้นต่อมาพอชาวบ้านทราบว่าสามเณรสังข์สามารถเข้าไปปฏิบัติกัมมัฏฐานอยู่ในป่าช้าได้ ก็เกิดความศรัทธาจึงพากันมาปลูกกระท่อมหลังน้อยให้สามเณรสังข์จำพรรษา..กระท่อมน้อยหลังนี้แหละครับคือที่มาของ ”เรื่องราวมหัศจรรย์ไฟไหม้ป่า” ที่ผมพ่นไปในข้างต้น

 

“เราหมดความกลัวผีไปแล้ว เพราะมาฉุกคิดได้ว่า ทั้งเราทั้งเขาต่อไปก็จะต้องเป็นอย่างนี้เช่นกันทั้งนั้น....”

สมัยก่อนชาวบ้านมักนิยมนิมนต์ให้พระสงฆ์ชักผ้ามหาบังสุกุลที่ศพในป่าช้า จึงไม่แปลกครับที่สามเณรสังข์เจ้าของสัมปทานป่าช้าจะถูกนิมนต์ให้ไปชักผ้ามหาบังสุกุลอยู่บ่อยๆและด้วยกิจวัตรของสามเณรสังข์ที่เคร่งครัดอยู่ในศีลธรรมกัมมัฏฐานเช่นนี้เอง ความได้ทราบไปถึง”หลวงพ่อปั้น วัดพิกุลโสกัณฑ์”อยู่เสมอๆ จนหลวงพ่อปั้นถึงกับเอ่ยปากทำนายว่า...

“เจ้าเณรสังข์องค์นี้ ต่อไปจะเป็นเสมือนช้างเผือกประจำกรุงศรีอยุธยา...”

ในระหว่างนั้นสามเณรสังข์ท่านก็ได้ไปมาหาสู่ปฏิบัติอุปัชฌาย์อาจารย์เสมอๆ ทำให้หลวงพ่อปั้นมีความรักและเมตตากับสามเณรสังข์มาก จึงได้ถ่ายทอดวิชาอาคมต่างๆให้กับสามเณรสังข์เป็นอันมาก สำหรับประวัติของหลวงพ่อปั้น วัดพิกุลนั้น ผู้เฒ่าผู้แก่ในละแวกวัดพิกุลได้เล่าให้ผมฟังว่า....

 

“หลวงพ่อปั้นนั้นท่านเป็นพระคณาจารย์ที่ทรงคุณวุฒิยิ่งอีกองค์หนึ่ง ท่านสามารถผูกหุ่นไว้เฝ้ากันขโมยได้ หรือ

แม้แต่ในวัดคราวที่มีงานใหญ่ๆ ล้างถ้วยล้างชามไม่ทัน หลวงพ่อปั้นท่านก็บอกให้เอาใส่เข่งเขย่าในน้ำล้างได้โดยไม่แตก...”

นอกจากสามเณรสังข์จะได้เรียนคาถาอาคมจากหลวงพ่อปั้นแล้ว ท่านก็ยังได้สนใจเรียนกัมมัฏฐานไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องของ”กายคตาสติ” จนจบอาการ ๓๒ โดยอนุโลมปฏิโลม(การพิจารณากลับไปกลับมา)

จะว่าไปแล้วการเรียนกัมมัฏฐานของสามเณรสังข์ ถึงแม้ว่าจะน้อยแต่ก็ได้ผลที่ค่อนข้างสูง ที่ว่าได้ผลค่อนข้างสูงมีที่มาที่ไปครับ

 

“วิชาการต่างๆในทางโลกนั้น จะนำมาใช้ได้ก็แค่เพียงในด้านการช่วยเหลือสังคมเท่านั้น ซึ่งวิชาการต่างๆเหล่านั้นไม่สามารถช่วยให้พ้นจากทุกข์คือกิเลสเร่าร้อนไปได้เลย”

 

“ถึงเราจะเรียนกัมมัฏฐานเพียงอย่างสองอย่าง แต่เราก็สามารถนำมาใช้ฝึกหัดดัดนิสัยจิตใจให้อยู่เหนืออำนาจกิเลส คือความโลภ ความโกรธ ความหลงผิด

ในเมื่อรู้เท่าทันกิเลสเครื่องเร่าร้อนได้แล้ว เราก็สามารถหาทางดับมันได้โดยไม่ยาก ถึงดับไม่หมดทีเดียวแต่ก็ทำให้มันน้อยลงได้ เหมือนไฟที่ไม่ใส่เชื้อก็มีแต่จะดับลง..”

ครับจะว่าไปแล้วถึงหลวงพ่อสังข์ท่านเรียนรู้และชำนาญเฉพาะแค่”กายคตาสติ”เท่านั้น โดยส่วนตัวผมก็คิดว่าท่านเยี่ยมแล้วเพราะว่า”กายคตาสติ”เป็นการเรียนรู้สภาวธรรมความเป็นจริงของสังขารร่างกายของตนเอง 

จะเปรียบเทียบก็ทำนองว่าเรียนรู้เท่าทันตนเองก่อนและจึงค่อยไปเรียนรู้เรื่องราวภายนอก คนเรานะครับมักหลงลืมที่จะทำความเข้าใจกับจิตใจของตนเองและมักชอบจะบอกเสมอๆว่าเข้าใจคนอื่น....

 

การที่สามเณรสังข์บำเพ็ญเพียร เพื่อจะเอาชนะจิตใจให้อยู่เหนืออำนาจกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลงนั้น

ทำให้ครั้งหนึ่งพระครูปุ้ย เจ้าอาวาสวัดขวิดเอาน้ำล้างจานข้าวที่ฉันแล้วเทราดลงบนศรีษะของสามเณรสังข์ ซึ่งขณะนั้นสามเณรสังข์ท่านกำลังนั่งฉันอาหารอยู่บนศาลาที่กำลังมีญาติโยมร่วมทำบุญเพราะเป็นวันพระ แต่สามเณรสังข์ท่านก็ยังนั่งฉันไปตามปกติ ไม่ได้แสดงอาการโกรธเคืองอะไรเลย...

ซึ่งพระครูปุ้ย ท่านมาเฉลยภายหลังว่าสาเหตุที่ท่านเทน้ำล้างจานข้าวลงบนศรีษะสามเณรสังข์นั้น

"เพื่อจะลองใจสามเณรน้อยดูว่าสามารถปฏิบัติกัมมัฏฐานจนสามารถเอาชนะความโกรธ อำนาจแห่งกิเลสได้หรือยัง"

เล่าลือกันว่าจากเหตุการณ์นั้นคะแนนเสียงของความศรัทธาจากชาวบ้านต่างเทลงที่สามเณรน้อยล้นหลามเลยทีเดียว....

 

พูดถึงคำว่า”การเรียนรู้” ผมเชื่อว่าแต่ละคนจะมีนิยามหรือมุมมองของคำว่าการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะอะไรหรือครับ ก็เพราะว่าแต่ละคนนั้นจะรับรู้และมีประสบการณ์ก็เพียงเฉพาะในส่วนที่ตนเองได้เคยรับรู้หรือเคยสัมผัสเท่านั้น....

สำหรับพระภิกษุสงฆ์แล้ว รับรู้แตกต่างกันได้ในบางเรื่องแต่เรื่องที่รับรู้แตกต่างกันไม่ได้คือพระธรรมวินัย...

“หากเปรียบเทียบว่าคนเรามีหัวใจเพียงหนึ่งดวง พระธรรมวินัยก็คือห้องหนึ่งในหัวใจดวงนั้น...”

 

พระนครศรีอยุธยาเป็นจังหวัดที่มีการประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก ด้วยความที่เป็นหมู่บ้านค่อนข้างห่างไกลจากความเจริญและมีความจำเป็นในเรื่องของการทำมาหากินเลี้ยงชีพ ทำให้ระบบการศึกษาไม่สามารถแทรกซึมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของบริบทความเป็นจริงของชีวิต

จะว่าไปแล้วคำว่าการศึกษา...มันก็คือยาขมขนานใหญ่สำหรับเด็กๆ แต่มันก็คือขนมหวานสำหรับสามเณรสังข์ครับ...

สามเณรสังข์ได้ชื่อว่าเป็นสามเณรที่มีหัวดี จะเล่าเรียนอันใดก็มีความพยายามและความสามารถในการจดจำเรื่องราวต่างๆได้อย่างแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือภาษาไทยหรือภาษาขอม สามเณรสังข์ก็สามารถอ่านและเขียนได้อย่างคล่องแคล่ว

ขนมหวานจานโปรดสำหรับสามเณรสังข์มีชื่อว่า “หนังสือพระไตรปิฏก” ซึ่งสามเณรสังข์ได้อ่านหนังสือพระไตรปิฏกจนจบแล้วจบอีกเรียกว่าอ่านจนแตกฉานและเข้าใจเนื้อหาได้อย่างถ่องแท้

โดยเฉพาะในหมวดของ “พระธรรมวินัยปิฏก” ค่อนข้างจะเป็นที่โปรดปรานมากเป็นพิเศษ ซึ่งเรื่องที่สามเณรสังข์ให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่งคือเรื่องของ”ศีลในพระปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อ” ถ้าจะพูดกันง่ายๆก็คือว่าหลวงพ่อสังข์ท่านสามารถ”ปั่นพระปาฏิโมกข์” ได้ตั้งแต่ยังเป็นเณร

ด้วยความมีชื่อเสียงในเรื่องของความสามารถสวดพระปาฏิโมกข์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ทำให้พระเณรในยุคนั้นต่างให้ความเคารพยำเกรงต่อสามเณรสังข์ ก็จะไม่ให้ยำเกรงได้อย่างไรเล่าครับในเมื่อสามเณรสังข์ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงภูมิความรู้ทั้ง “ข้ออนุญาตและข้อห้าม” ในพระวินัยเป็นอย่างดี

สามเณรสังข์ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ในวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๕๗ ณ พันธสีมาวัดขวิด โดยมีท่านพระครูเขมาภิรมย์(หลวงพ่อลับ) วัดบันไดช้าง อำเภอเสนา เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อจง พุทธสสโร วัดหน้าต่างนอก อำเภอบางไทร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูปุ้ย ธมมโชติ วัดขวิด อำเภอบางบาล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ปุญญสิริ”

 

เล่ากันว่าในวันที่ท่านอุปสมบท มีอยู่ตอนหนึ่งหลวงพ่อจงท่านแกล้งสวดญัตติพลาดไปวรรคหนึ่ง

ซึ่งเรื่องของการสวดญัตตินั้นตามหลักการถือว่าต้องสวดให้ถูกต้องจะผิดแม้วรรคหนึ่งวรรคใดก็ไม่ได้ เพราะการสวดผิดจะทำให้สังฆกรรมนั้นใช้ไม่ได้ ดังนั้นท่านจึงขอให้หลวงพ่อจงสวดญัตติให้ใหม่อีกครั้ง

หลวงพ่อจงท่านยิ้มด้วยความเอ็นดูเพราะท่านได้รับทราบกิตติศัพท์ความเคร่งครัดปฏิบัติของหลวงพ่อสังข์มาเป็นอย่างดีอยู่แล้ว

และเมื่อท่านได้มองเห็นชุดผ้าไตรจีวรที่หลวงพ่อสังข์ได้ตัดเย็บและย้อมเองตามหลักของพระวินัย ทำให้ท่านเกิดความประทับใจในตัวของหลวงพ่อสังข์

ท่านจึงได้เปลื้องผ้าสังฆาฏิของท่านถวายแก่หลวงพ่อสังข์และได้บอกกับทุกคนที่อยู่ในที่นั้นว่า....

“ต่อไปคุณสังข์จะเป็นพระที่มั่นคงอยู่ในพระพุทธศาสนาอีกรูปหนึ่ง”



มีคำเปรียบเทียบว่า “บิดามารดา” เป็นเสมือน “พระพรหมหรือพระอรหันต์” ของบุตรทุกคน แม้แต่พระพุทธองค์ท่านก็ทรงสรรเสริญในพระสูตรต่างๆอย่างมากมายในเรื่องของการตอบแทนคุณบิดามารดา

มีเรื่องขำๆ แต่น่าคิดอยู่เรื่องหนึ่ง.....

ผมเชื่อว่าเพื่อนๆหลายๆท่านก็คงจะเคยอ่านผ่านตามาบ้างแล้ว เพียงแต่ว่าเรื่องนี้มีความสำคัญคือเป็นเรื่องที่หลวงพ่อสังข์ท่าน”ชอบมาก”และท่านก็มักจะ”ยกขึ้นมาเล่าเพื่อเป็นอุทาหรณ์”ให้บรรดาญาติโยม ลูกศิษย์ลูกหาได้ฟังอยู่เสมอ เรื่องนี้ค่อนข้างยาวแต่ขอเล่าอย่างย่อๆครับ

....ไอ้ทิดทองมันไปไถนา วันนั้นตาอยู่ได้บังเอิญเดินทางผ่านไปทางนั้น ตาอยู่คิดลองใจทิดทอง จึงได้ร้องตะโกนไปว่า...

“เฮ้ย...ไอ้ทิด ยายมาแม่ของเอ็งเป็นลมอยู่ที่บ้านแน่ะ แกให้ขามาตามเอ็ง”

ทิดทองตอบว่า “แม่เหรอ ไม่เป็นไรหรอกเพราะแกเคยเป็นแบบนี้ประจำ เดี๋ยวบ่ายๆปลดไถแล้วค่อยไปดู”

ตาอยู่แกก็ไม่ว่าอะไร แล้วแกก็ได้เดินทางไปทำธุระต่อ ครั้นขากลับผ่านมาอีกครั้ง แกก็ยังเห็นทิดทองไถนาอยู่ จึงแกล้งร้องตะโกนไปว่า

“ไอ้ทิด ไอ้ทิด เมียเอ็งเจ็บท้องที่บ้าน”

รวดเร็วปานกามนิตหนุ่มครับ ไอ้ทิดทองรีบวางคันไถแล้วเผ่นไปหาเมียทันที เมื่อเห็นว่าเมียของตัวเองไม่ได้เป็นอะไร ทิดทองจึงได้กลับมาต่อว่าตาอยู่ ตาอยู่รอจังหวะสวนกลับอยู่แล้วตามชื่อ จึงสวนกลับไปว่า

“มึงนี่ใช้ไม่ได้ เข้าตำราที่ว่า หลงเมียจนลืมแม่”

ครับเรื่องเล่าของหลวงพ่อจบลงเพียงเท่านี้ แต่เรื่องของความกตัญญูในชีวิตจริงของท่านยังไม่จบ เพราะหลวงพ่อสังข์ท่านได้หมั่นแวะเวียนไปดูแลบิดามารดาของท่านเสมอ

ยามเมื่อบิดาของท่านเจ็บป่วย ท่านก็จะเข้าไปบีบนวดและพูดคุยเรื่องธรรมะต่างๆให้โยมบิดาของท่านฟัง หรือแม้แต่ยามเมื่อท่านออกบิณฑบาต หากท่านรู้ว่าสิ่งใดคือสิ่งที่โยมของท่านชอบ ท่านก็จะไม่ฉันและนำไปฝากให้โยมได้รับประทานอยู่เสมอๆ



ประกาศนียบัตรถือว่าเป็นตัวแทนทางรูปธรรมของคำว่า”ความรู้” แต่คนที่มี “ความรู้” ก็ไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะต้องมีรูปธรรมดังกล่าวมารองรับ

หลวงพ่อสังข์ท่านได้รับความเชื่อถือว่า เพียบพร้อมไปด้วยความรู้ทั้งทางแนวปริยัติและแนวปฏิบัติ เรียกว่าในสมัยนั้นหาคนที่จะก้าวเข้ามาเทียบชั้นชิงตำแหน่งจากท่านได้ยากประมาณว่าครองแชมป์ตลอดกาลอะไรทำนองนี้ครับ

และก็มีเรื่องจริงที่ถูกบันทึกไว้ในความทรงจำของบรรดาลูกศิษย์ว่า ครั้งหนึ่งได้มีนักเทศน์ระดับดีกรีมหาเปรียญ ๙ ประโยคก็ยังต้องมาสยบจนมุมกับปัญหาธรรมะของหลวงพ่อ

เรื่องมีอยู่ว่าหลวงพ่อสังข์ท่านได้ให้พระมหารูปนั้นเปิดพระไตรปิฏกเพื่อแปลความหมายและอธิบายใจความให้ท่านฟัง ผลปรากฏว่าพระมหาท่านนั้นสามารถแปลพระไตรปิฏกได้อย่างไม่ติดขัดแต่มาติดปัญหาคือไม่สามารถอธิบายตีความหมายตามนัยยะต่างๆได้

ด้วยเหตุนี้หลวงพ่อสังข์ท่านจึงได้อธิบายความหมายและตอบคำถามของพระมหาในเรื่องของพระไตรปิฏกได้อย่างชัดเจน จนพระมหาท่านนั้นต้องยอมยกธงให้กับความเชียวชาญของหลวงพ่อครับ



จะว่าไปแล้วการที่หลวงพ่อสังข์ท่านไม่ได้มีประกาศนียบัตรนักธรรมเปรียญใดๆเลย แต่ตัวท่านก็มีความรู้มากเปรียบเสมือนว่าตัวท่านเองเป็นดังตู้พระไตรปิฏก ทำให้ท่านได้รับฉายาจากชาวบ้านและพระสงฆ์ทั่วไปว่า “ตู้พระไตรปิฏกแตก” นี่แหละครับคือตำนานที่มาของชื่อเรียกนี้

กล่าวกันว่าการทำอะไรสักอย่าง “ผลงานที่ปรากฏขึ้นย่อมบ่งบอกถึงลักษณะและอุปนิสัยของคน” ถ้า ”การเกิดมาเป็นมนุษย์ที่ดีควรมีศักดิ์ศรีอยู่ที่การกระทำ” ศักดิ์ศรีของมนุษย์คงขึ้นอยู่กับอุปนิสัยเป็นสำคัญ

ผมเชื่อว่าเพื่อนๆ ทุกท่านคงจะเคยได้ยินคำว่า “ประเคน”

ประเคนคือกิริยาการนำของไปถวายพระ ซึ่งตามปกติของคนแล้วการส่งต่อหรือส่งมอบเพียงแต่ส่งให้ถึงมือก็ถือว่าใช้ได้แล้วไม่ต้องคิดอะไรมาก

แต่หากต้องส่งมอบให้พระขืนไม่คิดมากเห็นทีจะต้องตกนรกละครับ

หลวงพ่อสังข์ท่านมีความสำรวมระวังถือตามวินัยอย่างเสมอต้นเสมอปลาย โดยเฉพาะการรับประเคนของ หากว่าของสิ่งใดที่ขาดประเคนหรือประเคนไม่ถูกหลักในวินัย ท่านก็จะไม่ยอมฉันของนั้นเลย ซึ่งวิธีการประเคนอย่างถูกต้องนั้นท่านสอนว่า

 

“ของที่ประเคนถูกหลักของวินัยนั้น ต้องยกให้สูงพอประมาณแล้วน้อมเข้ามาถวายทีละอย่างด้วยอาการเคารพ ในระยะ ๑ ศอกโดยประมาณจากกาย”

ท่านเคยเล่าให้ฟังว่าตัวท่านเองเคยพบเห็นวิธีการประเคนในสถานที่อื่นๆ ซึ่งมีทั้งการยื่นให้กันบ้างหรือบางทีก็เสือกต่อๆเป็นแพให้กันบ้าง ท่านว่ากระทำแบบนี้ถือว่าไม่ถูกต้องของหลักการประเคน

ศัพท์ทางพระเขาเรียกว่า “อาบัติ” แต่เท่าที่ผ่านมาท่านเคยสอบถามพระบางองค์ว่าทำไมถึงยอมรับประเคนแบบนั้น พระเหล่านั้นก็ตอบว่า

”กลัวญาติโยมจะลำบาก”

ด้วยเหตุฉะนี้พระเหล่านั้นท่านจึงยอมลำบากเสียเอง โดยยอมฉันอาหารทีมีการประเคนผิดวินัยสงฆ์แต่สำหรับหลวงพ่อสังข์ท่านไม่คิดแบบนั้นครับ ความคิดและเหตุผลของท่านฟังแล้วกระชากสามัญสำนึกดีเหลือเกิน

“สงสารญาติโยมจะพากันตกนรก เพราะเป็นเหตุทำให้พระต้องอาบัติ”

 

ถ้าเราไม่ปฏิเสธความเป็นจริงของชีวิตกันนัก ก็ต้องยอมรับครับว่าพวกเราประมาทกันในเรื่องระเบียบวิธีการแบบนี้ การไม่เข้าใจและยังฝืนกระทำอยู่มักจะส่งผลให้คนเราต้องประสบกับปัญหาที่มีติดตามมาอยู่เสมอๆ

จะอ้างว่าไม่รู้ไม่เข้าใจก็ไม่ได้ก็เรื่องแบบนี้เขาบัญญัติไว้แล้วนี่ครับ ก็คงเหมือนกับหลักกฎหมายเขาว่าไว้แหละครับ

“การไม่รู้กฎหมายไม่ใช่ข้ออ้าง”

.....ทำความเข้าใจกันใหม่ครับ ประเคนของอย่างถูกต้อง ถูกหลัก ผู้ถวายก็ไม่เกิดโทษและหลวงพ่อผู้รับเองก็ไม่ต้องอาบัติ....

ย้อนวนเข้ามาพูดเรื่องของวัตถุมงคลกันบ้าง ว่ากันว่าเหรียญหรือพระเครื่องของหลวงพ่อสังข์มีคุณอภินิหาริย์ศักดิ์สิทธิ์เหลือกำลัง ขนาดขับรถเร็วจี้พลิกคว่ำยังไม่เป็นอะไร หรือบางคนเป็นทหารได้รับเหรียญของท่านไปโดนยิงก็ไม่เข้าเป็นเพียงแต่รอยช้ำพอให้รับรู้อาการ 

แต่ตามปกติแล้วหลวงพ่อสังข์ท่านก็ไม่ค่อยยินดีหรือสนับสนุนในเรื่องเครื่องรางของขลังอะไรเท่าใดนัก แต่ท่านก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าเป็นของไม่ดี ซึ่งเรื่องนี้หลวงพ่อเคยเล่าเหตุผลให้ฟังว่า....

 

“ฉันก็เป็นศิษย์หลวงพ่อปั้น หลวงพ่อจง ซึ่งก็ศึกษาเล่าเรียนมาพร้อมๆกับหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค

แต่ที่ฉันไม่อยากเปิดเผยอะไรกับใครเพราะเมื่อเขารู้แล้วจะพากันมาขอนั้นขอนี่ ทำให้เราไม่มีเวลาปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานภาวนา”

“ของดีๆ แต่ไม่ค่อยมีใครสนใจก็คือธรรมะ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นำไปใช้เถอะได้ผลแน่

ขอแต่ให้ปฏิบัติอย่างจริงใจเท่านั้นแหละ ย่อมได้ผลคือความสุขกาย สบายใจได้ดีกว่าไปอาศัยเครื่องรางของขลังเหล่านั้น....”



ครับขึ้นชื่อว่าพญามัจจุราชแล้ว ไม่เคยปราณีชีวิตสังขารของผู้ใดเลย แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาเอกในโลก ก็ยังต้องเสด็จดับขันธ์เข้าสู้นิพพานไปตามอายุสังขาร....

 

ท่านพระครูอุดมสมาจาร หรือหลวงพ่อสังข์ ปุญญสิริได้มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๑๘ ด้วยอาการสงบ ท่ามกลางเสียงสวดมนต์เจริญพระพุทธคุณของบรรดาลูกศิษย์ที่ยืนอยู่รอบๆเตียงที่ท่านนอน 

เล่ากันว่ายามปกติวัดน้ำเต้าจะมีค้างคาวนับเป็นพันๆตัวบินร่อนกันส่งเสียงดัง แต่ในคืนที่หลวงพ่อมรณภาพทุกสิ่งทุกอย่างต่างเงียบสงบราวกับเป็นการไว้อาลัยให้กับร่มโพธิ์ร่มไทรของวัด

ค้างคาวที่มีเยอะแยะก็ไม่บินมาปรากฏให้เห็นแม้แต่ตัวเดียว



หลวงพ่อสังข์ นับได้ว่าเป็นปูชนียบุคคลที่เราควรเคารพบูชา เพราะตลอดชีวิตของท่านมุ่งแต่ปฏิบัติตั้งตนอยู่ในคุณธรรม อุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขแก่สังคมและพระพุทธศาสนาตลอดมา ทุกวันนี้ทางวัดน้ำเต้าและวัดสีกุก ได้จัดให้มีงานทำบุญเพื่อระลึกถึงพระคุณของท่านเป็นประจำทุกปี

 

จะว่าไปแล้วการเรียนรู้ประวัติของคน โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะจะทำให้เราได้แง่คิดทั้งข้อดีและข้อเสีย

ซึ่งทั้งข้อดีและข้อเสียต่างก็เป็นประโยชน์สำหรับชีวิตเราทั้งนั้น

หากเป็นข้อดีก็มีประโยชน์ให้เราเลือกปฏิบัติตามแนวทางนั้น

หากเป็นข้อเสียก็เป็นประโยชน์ให้เราอย่าไปในแนวทางนั้น

ชีวิตของใครคนนั้นก็ต้องดูแล...

หวังว่าแนวทางการปฏิบัติของหลวงพ่อสังข์ จะเป็นแสงสว่าง(บางส่วน)ที่นำทางชีวิตของเพื่อนๆ ไปในสิ่งที่ดี สิ่งที่เป็นมงคล...สวัสดีครับ

 
ขอขอบพระคุณท่านศิษย์กวง...http://www.oknation.net
กราบขอบพระคุณ ท่านพระครูชินธรรมาภรณ์(ประยูร ชินปุตโต) เจ้าอาวาสวัดสีกุก เจ้าคณะอำเภอบางบาล ที่เมตตาให้ข้อมูล
และขอขอบคุณ คุณธีภพ แพร่หลาย สำหรับภาพถ่ายหลวงพ่อสังข์ยุคเก่า คุณพรชนก สุขพงษ์ไทย กับภาพถ่ายที่เป็นปัจจุบัน เพื่อนต่อกับคำแนะนำที่มีประโยชน์ คุณสมบูรณ์ ร้านนายฮ้อ สระบุรี กับกำลังใจที่มีส่งมาให้เสมอ ขอบคุณครับ


ออฟไลน์ สุวรรณปักษี

  • เด็กวัด
  • *****
  • กระทู้: 541
  • เพศ: ชาย
    • ดูรายละเอียด
ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดี ๆ ที่นำมาฝากครับ

ออฟไลน์ A_hatyai

  • ฉัฏฐะ
  • *
  • กระทู้: 338
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
เคยได้อ่านประวัติหลวงปู่ทิม วัดพระขาว..มีตอนนึงบอกว่าอาจารย์ของท่านองค์หนึ่งก็คือ หลวงปู่สังข์ วัดน้ำเต้านี่แหละครับ

ออฟไลน์ theeravut-ta

  • ตติยะ
  • ***
  • กระทู้: 9
    • ดูรายละเอียด
กราบหลวงพ่อสังข์ และ หลวงปู่ทิม ครับ


ออฟไลน์ ~@เสน่ห์เอ็ม@~

  • ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย พระคุณบิดามารดาผู้มีพระคุณ แล ครูบาอาจารย์ผู้เกื้อหนุน สาธุ..
  • เด็กวัด
  • *****
  • กระทู้: 5894
  • เพศ: ชาย
  • ศิษวัดบางพระ
    • ดูรายละเอียด
ขอบคุณพี่ธรรมมะรักดขมากครับ สำหรับประวัติและข้อมูลดีๆ

กราบมนัสการ หลวงปู่สังข์  ด้วยครับ  :054:

ออฟไลน์ gottkung

  • จะหมึกหรือน้ำมันไม่สำคัญ จงตั้งมั่นให้อยู่ในความดี
  • เด็กวัด
  • *****
  • กระทู้: 4088
  • เพศ: ชาย
  • "จะลูกใครนั้นไม่สำคัญ เป็นศิษย์ฉันเท่ากันทุกคนไป "
    • ดูรายละเอียด
    • www.gottkung.multiply.com
อ่านแล้วได้ความรู้มากครับ ขอบคุณอีกครั้งสำหรับบทความดีๆ
เราเป็นศิษย์คิดมีครูดูก่อนเถิด อย่าละเมิดคำครูที่พร่ำสอน
ปุถุชนคนธรรมดาพึงสังวรณ์ ครูท่านสอนมอบสิ่งดีแก่เราๆ