ผู้เขียน หัวข้อ: การเจริญสมาธิแบบปล่อยวางและพิจารณาอารมณ์  (อ่าน 2844 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ~@เสน่ห์เอ็ม@~

  • ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย พระคุณบิดามารดาผู้มีพระคุณ แล ครูบาอาจารย์ผู้เกื้อหนุน สาธุ..
  • เด็กวัด
  • *****
  • กระทู้: 5894
  • เพศ: ชาย
  • ศิษวัดบางพระ
    • ดูรายละเอียด
การเจริญสมาธิแบบปล่อยวางและพิจารณาอารมณ์

กัมมัฏฐานมี ๔๐ วีธี ใครจะใช้วิธีไหนก็ได้ทั้งนั้น ขอเพียงให้ถูกกับจริตของตนเป็นใช้ได้ หลวงปู่เทสก์บอกว่า การเจริญภาวนากัมมัฏฐานจะกำหนดพุทโธๆ ๆ หรือ อรหังๆ ๆ หรือ สัมมาอรหังๆ ๆ หรือ มรณังๆ ๆ หรือกายคตาสติก็ทำได้ทั้งนั้น ไม่มีขีดขั้น ข้อสำคัญคือการเจริญนั้นๆ จิตจะรวมลงสู่จุดเดียวได้หรือไม่ ถ้ารวมลงได้ก็เรียกว่าสมถะด้วยกันทั้งนั้น
การปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิ จิตใจต้องมั่นคง อย่ามัวไหลไปตามกระแส ใครว่ามีอะไรดีที่ไหนก็ไปตามเขา พอเขาเปลี่ยนใจ เราก็เปลี่ยนใหม่อีก จิตใจโลเล จิตใจวุ่นเสียแล้วแต่ต้นอย่างนี้ จะหาความก้าวหน้าจากการเจริญสมาธิไม่ได้เลย หลวงปู่เทสก็บอกว่าหลักธรรมที่แท้มิได้เกิดจากความคิดที่ส่งออก แต่เกิดจากการคิดค้นตรงเข้ามาหาของจริงที่มีอยู่ในตัวนี้ เมื่อเราค้นเข้ามาหาของจริงในตัวนี้แล้วจิตก็เป็นสมาธิ (คือคิดค้นอยู่ในที่อันเดียว)ต่อนั้นไปทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในรัศมีของจิต ก็จะกลายเป็นอุบายให้เกิดเป็นธรรมไปทั้งหมด
อุบายในการเข้าถึงธรรมมีมิใช่น้อย ถ้ารู้จักฉุกคิดขณะที่พระกำลังแสดงพระธรรมเทศนาอยู่ ตัวพระเองอาจบรรลุถึงธรรมก็ได้ ถ้าส่งใจไปตามกระแสธรรมที่ตนแสดงจนเกิดสมาธิและปัญญา ขณะที่เรากำลังถูบ้านถูไปถูมา เราคิดถึงจิตของตนว่า ถ้าจิตของเรามีการขัดถูให้สะอาดอย่างบ้านเรือน จิตอาจปลอดจากกิเลส หรือขณะตัดผม จะเป็นช่างตัดผม หรือเอาผมไปให้ช่างตัด อาจจะอาศัยอาการอย่างนี้ เพื่อตัดกิเลสตัดทุกข์ได้
พุทธวจนะคำสอนของพระพุทธองค์มีมากถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ตามที่ท่านกำหนดไว้แต่ละหมวดแต่ละข้อ หรือแต่ละขันธ์ ล้วนแต่เป็นของดี ท่านโบราณาจารย์เคยปฏิบัติได้รับผลสำเร็จมาแล้วทั้งนั้น จึงได้รวมตั้งไว้เป็นปริยัติเพื่อเป็นบทศึกษาแก่อนุชนสืบมา

ธรรมเป็นของดีแล้ว แต่เราปฏิบัติดียังไม่พอที่จะเป็นรากฐานให้เกิดธรรมของดีได้ มรรค ๘ ผล ๔นิพพาน๑ เป็นของผู้ปฏิบัติที่มีสัมมาสมาธิเป็นรากฐาน อริยสัจธรรมทั้งสี่ คือ ทุกข์๑ สมุทัย๑ นิโรธ๑ มรรค๑ เป็นวิชาของสัมมาสมาธิอย่างถูกต้อง ทุกข์ ทั้งหลาย มีชาติทุกข์เป็นต้นมีอยู่ แต่ผู้ที่จะเข้าไปรู้แจ้งเห็นจริงในทุกข์ทั้งหลายเหล่านั้นไม่มี สมุทัย มีความทะยานอยากในความใคร่เป็นต้นมีอยู่ แต่ผู้ที่จะเห็นโทษในสมุทัยันั้นแล้วละเสียไม่มี นิโรธ คือความเข้าไปดับซึ่งราคะธรรมเป็นต้นมีอยู่ แต่ผู้จะเข้าไปดับไม่มี มรรค มีองค์ ๘ ประการ อันเป็นทางยังผู้ดำเนินตามแล้วให้พ้นทุกข์ได้มีอยู่ แต่ผู้จะดำเนินตามไม่มี ทางจึงเป็นทางว่างหาผู้สัญจรไม่มี ก็เพราะขาดสัมมาสมาธิอันเป็นรากฐานที่มั่นคง
สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือสมาธิที่เจริญตามแนวของฌาน ๔ อันได้แก่
ปฐมฌาน มีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
ทุติยฌาน มีองค์ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
ตติยฌานมีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตา
จตุตถฌานมีองค์ ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา
เราเจริญสมาธิเพื่ออะไร?
ก็เพื่อให้เกิดปัญญา รู้เห็นสภาวะสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง เพื่อให้ชีวิตเป็นอิสระ เบาสบายมากขึ้น มีภาระที่ต้องแบกด้วยความยึดมั่นถือมั่นน้อยลงๆ จนหมดสิ้น เพราะฉะนั้น ควรกระทำด้วยความตั้งใจจริง เพื่อให้เกิดผลแท้จริง
วิธีการเจริญสมาธิภาวนาของหลวงปู่เทสก์ มี ๒ วิธีด้วยกันคือ วิธีปล่อยวางอารมณ์ กับวิธียกเอาอารมณ์ขึ้นมาพิจารณา ทั้งสองวิธีนั้นมีคำอธิบายว่า
๑) เราปล่อยวางอารมณ์ทั้งหมด ไม่ให้มีอะไรเหลืออยู่ที่ใจ พร้อมๆ กับอัดลมหายใจเข้าไปแล้วปล่อยวางลมหายใจออกมา แล้วตั้งสติกำหนดเอาผู้รู้ จะไปตั้งอยู่ตรงไหนแล้วแต่ความถนัดของตน แบบนี้ทำได้ง่ายสบายแต่ไม่มีหลักหนักแน่น ได้ชั่วขณะหนึ่งแล้วก็ส่งส่ายไปตามอารมณ์ที่ตนชอบเสีย

๒)ให้หยิบเอาอารมณ์อันใดก็ได้ ซึ่งมันเป็นอารมณ์ที่มันเคยทำความกระเทือนใจให้เราเกิดความสลดสังเวช จิตของเราเคยไปจดจ่ออยู่เฉพาะในเรื่องนั้นมาแล้ว เช่นเราเคยพิจารณาเห็นโทษทุกข์ในความเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย เป็นต้น เรายกเอาเรื่องนั้นขึ้นมาพิจารณาค้นคว้าทบทวนกลับไปกลับมา ไม่ให้จิตแลบออกไปจากเรื่องนั้น จนเข้าไปรู้เรื่องความเป็นอยู่เป็นมาและเป็นไปของเรื่องนั้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน แล้วจะเกิดมีอาการ ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา ณ ที่นั้นอย่างแปลกประหลาด คือความชัดเจนแจ่มแจ้ง อันมิใช่เกิดแต่ความนึกคิดคาดคะเน และได้สดับศึกษามาจากคนอื่น แต่มันเป็นความรู้ที่จัดเจนอันประกอบด้วยปีติปราโมทย์ ที่เกิดเองเป็นเอง อันใครๆ จะแต่งเอาไม่ได้๑
มิฉะนั้น จิตก็จะหดตัวเข้าไปนิ่งสงบเฉยอยู่ โดยไม่คิดอะไร แม้แต่ความคิดที่คิดค้นอยู่นั้น ก็พักหมด๑
บางทีสงบนิ่งเข้าไปอยู่ในที่แห่งหนึ่งเฉพาะจิตอย่างเดียว บางที่ก็รู้อยู่เฉพาะตัว แต่ความรู้อันนั้น มิใช่รู้อย่างอย่างที่เราจะพูดกันถูก หรือบางที่ก็ไม่รู้ตัวเสียเลย คล้ายๆกับหลับที่เรียกว่าจิตเข้าภวังค์ อาการเหล่านั้นใครๆจะทำเอาไม่ได้ แต่เมื่อภาวนาถูกต้องดังแสดงมาแล้ว มันก็จะเกิดขึ้นมาเอง๑
อาการทั้งสามอย่างนี้มิใช่จะเกิดเหมือนกันหมดทุกๆคน และทุกๆอาการก็หาไม่ บางคนก็เป็นและครบ บางคนก็เป็นอย่างสองอย่าง เรื่องของการภาวนานี้พิสดารมากหากจะนำมาพรรณาไว้ ณ ที่นี้ จะเป็นหนังสือเล่มเขื่องเล่มหนึ่ง ที่แย้มให้เห็นเพียงเล็กน้อยนี้ก็เพื่อแนะให้ทราบว่าผู้ภาวนาเป็นแล้วจะเป็นไปอย่างนั้น
แบบที่ ๒ ที่ให้หยิบยกเอาความเกิด-แก่-เจ็บ-ตายขึ้นมาพิจารณานี้ เป็นการหัดสมถะและวิปัสสนาไปในตัว ถ้าผู้ที่มีนิสัยวาสนาแล้วเป็นไปได้รวดเร็ว ถ้านิสัยพอประมาณได้ปานกลาง บางทีก็จะหนักไปทางสมถะ จิตเข้าหาความสงบ มีอาการสองหย่างดังแสดงมาแล้ว ถึงอย่างไรการพิจารณาอย่างนี้ย่อมมีอานิสงส์มาก เพราะพิจารณาให้เห็นสภาวะเป็นจริง ถึงไม่ได้ปัญญาขั้นละเอียด แต่ก็ยังรู้เท่าเข้าใจตามความเป็นจริงแล้วค่อยๆ ถอนวางจากอุปทานลงได้โดยลำดับ

การยกเอาความเกิด-แก่-เจ็บ-ตายขึ้นมาพิจารณานี้ เป็นอุบายของการภาวนาโดยแท้ อย่าได้สงสัยว่าเราไม่ได้ภาวนา อุบายภาวนา คือการที่หยิบยกเอากัมมัฏฐานบทใดบทหนึ่งขึ้นมาพิจารณาเมื่อจิตแน่วแน่ลงสู่อารมณ์อันเดียวจนเข้าเป็นภวังค์ เรียกว่าจิตเข้าถึงภาวนาแล้ว ฉะนั้นการที่เรายกเอาความเกิด-แก่-เจ็บ-ตายขึ้นมาพิจารณาจิตของเราจะจดจ่ออยู่ในเรื่องนั้นอย่างเดียว เรียกว่าเรากำลังเจริญภาวนาอยู่แล้ว ขอให้ยินดีพอใจในจิตของตนที่เป็นอยู่นั้นเถิด จิตก็จะได้แน่วแน่และเกิดปีติปราโมทย์จนละเอียดลงไปโดยลำดับ ผู้ไม่เข้าใจภาวนามักจะสงสัยไปต่างๆนาๆ แล้วก็ปรุงแต่งไปว่า ภาวนาจะต้องเป็นอย่างนั้น เห็นอย่างนี้ แล้วจัดระดับชั้นภูมิของตนๆ ไว้ก่อนภาวนา เมื่อจิตไม่เป็นไปตามสังขาร ก็เลยฟุ้งซ่านเกิดความรำคาญ สังขารเป็นผู้ลวง จะไปแต่งภาวนาไม่ได้ โดยเฉพาะแล้วสังขารเป็นอุปสรรคแก่การภาวนาอย่างยิ่ง ฉะนั้น เมื่อยังละสังขารไม่ได้ตราบใดแล้ว ไม่มีหวังจะได้ประสบรสชาติของการภาวนาเลย ที่สุดการฟังเทศน์หรือยกอุบายใจขึ้นมาพิจารณาก็ไม่เป็นผล มีแต่ความลังเลใจ ธรรมทั้งหลาย ๘๔,๐๐๐พระธรรมขันธ์ก็จะไม่มีคุณค่าแก่เขา แม้เท่าที่เขาได้ส่ายตาไปมองดูรูปที่สวยๆ ขณะแวบเดียว ผู้ที่ท่านช่างคิดค้นหาข้อเท็จจริงทั้งหลาย ท่านไม่ใช้สัญญาออกหน้า แต่ท่านใช้เหตุผลและปรากฏการณ์เฉพาะเพาะหน้าเข้าค้นคว้าพิจารณา จึงได้ผลสมประสงค์ ธรรมหรือวิธีเจริญกัมมัฏฐานมิใช่ของมีโครงการอะไร ขอแต่ให้หยิบยกเอาเหตุผลหรือสิ่งปรากฏการณ์นั้นๆ มาพิจารณาให้เข้าถึงหลักของจริงก็เป็นอันใช้ได้ ที่มีพิธีรีตองและโครงการมากๆ นั้น ล้วนแล้วแต่ว่าตามความจริงจากท่านที่ท่านได้ทำสำเร็จมาแล้วทั้งนั้น
ฉะนั้น ยิ่งนานและมีผู้ค้นพบของจริงมากเข้าเท่าไร วิธีและโครงการหรือตำราก็ยิ่งมากขึ้น จนผู้ศึกษาภายหลังทำตามไม่ถูก ก็เลยชักให้สงสัย บางคนพาลหาว่าตำราไม่ได้เรื่องอย่างนี้ก็มี ถ้าหากทำตามดังแสดงมาแล้ว คือยกเอาของจริง เช่น เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ขึ้นมาพิจารณาให้เห็นตามเป็นจริง จนเกิดเป็นภาวนาสมาธิขึ้นมาแล้ว โครงการหรือวิธีทั้งหลายแหล่จะมากสักเท่าไร ก็เป็นแต่เพียงกระจกเงาเท่านั้น หาใช่ตัวจริงไม่ ด้วยเหตุนี้สาวกของพระพุทธองค์จึงได้สำเร็จมรรคด้วยอุบายแปลกๆ ไม่เหมือนกัน

ขนาดแสงไฟในดวงเทียนจะมีธรรมอะไร ใครๆ เขาก็ใช้กันอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง ก็ไม่เห็นจะวิเศษวิโสได้สำเร็จมรรคผลอะไร แต่ภิกษุณีชื่อ ปฏาจารา จุดเทียนบูชาในวิหาร แล้วเพ่งดูแสงเทียน ยึดเอาอาการแสงเทียนพลุ่งขึ้นด้วยกำลังแรงไฟ แล้วย่อยยับๆ ลงมาด้วยความอ่อนกำลังของมันเอง อยู่อย่างนั้นเป็นอารมณ์ น้อมเข้ามาเทียบกับอายุขัยและวัยในอัตภาพของตน จนเห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในสังขารทั้งหลาย ที่สุดจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์เพราะไฟนั้นนี้เป็นตัวอย่าง ท่านยกเอาแสงเทียนขึ้นมาพิจารณา เห็นเป็นของไม่เที่ยงตามลักษณะที่มันพลุ่งขึ้นแล้งย่อยยับหดตัวลงตามเป็นจริง แล้วหมดความลังเลสงสัยในธรรมทั้งปวง ธรรมอื่นๆ ไม่ต้องไปตามพิจารณา แต่มันมาปรากฏชัดในที่แห่งเดียวแล้ว
บัณฑิตสามเณรลูกศิษย์ของท่านพระสารีบุตร เห็นเขาไขน้ำให้มันไหลไปตามนา ท่านนำมาพิจารณาว่า น้ำเป็นของไม่มีจิตใจ แต่ก็ไหลไปตามนาได้ตามประสงค์ จิตของเราเมื่อทรมาณให้อยู่ในอำนาจก็จะทำได้ เห็นเขาถากไม้ดัดลูกศร เขาหลิ่วตาข้างเดียวดูที่คดที่ตรง ท่านก็นำมาพิจารณาว่า ผู้ฝึกจิตถ้าทำจิตให้มีอารมณ์หลายอย่าง ก็จะสงบไม่ได้และไม่เห็นสภาพของจิตตามเป็นจริง ถ้าทำจิตให้ดิ่งแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียวแล้ว จิตก็มีกำลังเบ่งรัศมีแห่งความสว่างออกมาเต็มที่ มองสภาพของจิตตามเป็นจริงได้ ว่าอะไรเป็นจิต อะไรเป็นกิเลส อะไรเป็นของควรละ ผลที่สุดท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์เพราะอุบายอันนั้น นี่แหละความละเอียดและเป็นธรรมมิใช่อยูที่อุบาย แต่อยูที่จิต อบรมถูกจนจิตเป็นภาวนาสัมมาสมาธิแล้ว อุบายทั้งหลายที่หยิบยกขึ้นมาพิจารณานั้น ไม่ว่าหยาบและละเอียดก็จะได้ปัญญามีคุณค่าให้สำเร็จมรรคผลเป็นที่สุดเช่นเดียวกัน
ฉะนั้นทุกๆ คนเมื่อเราหยิบยกเอาอุบายอันใดขึ้นมาพิจารณา เห็นชัดจนแจ่มแจ้งแล้ว แม้แต่ครั้งเดียวก็ตามขออย่าได้ทอดทิ้ง ให้นำเอาอุบายนั้นแหละมาพิจารณาอีก จิตจะเป็นอย่างที่เคยเป็นมาแล้วหรือไม่ก็ตาม ขอให้ทำเรื่อยไปจนชำนาญ
ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การเจริญสมาธิควรกระทำจนเกิดความชำนิชำนาญ แคล่วคล่องว่องไว จะยกอุบายอะไรขึ้นมาพิจารณาก็ยกมาได้ทันที จะเข้าออกสมาธิก็ง่าย ทำให้สมาธิตั้งอยู่นานก็ได้ และเชี่ยวชาญในการกำหนดรู้อารมณ์ของสมาธิเป็นอย่างดี
( หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)

ศีลเป็นเบื้องต้นของสมาธิ
การรักษาศีลมิใช่เป็นของยากลำบากและเป็นการหนักอกหนักใจอะไร ทั้งไม่น่าเกลียดและขายขี้หน้าอีกด้วย เพราะการรักษาศีลก็คือการงดเว้นจากการทำชั่วนั่นเอง งดเว้นจากการทำชั่วมากเท่าไร ก็เรียกว่าได้รักษาศีลมากเทานั้น คนที่ไม่งดเว้นจากการทำชั่วนั้นเสียอีกเป็นผู้ที่น่าตำหนิและอับอายมาก ถึงคนอื่นเขาไม่ว่าอะไรตัวของเราเองก็ตำหนิและร้อนใจเราเองอยู่เสมอ เพราะเห็นความชั่วของตัวเองอยู่แล้ว
เช่นชาวประมงนั่นซิเขาลำบากสักหน่อย เมื่อไม่ทำก็ไม่มีอันจะกิน แต่ถึงขนาดนั้น หากเขาเห็นโทษของการไม่มีศีล เกิดศรัทธาเลื่อมใสในการรักษาศีลแล้ว เขาก็สามารถทำได้ เรื่องเช่นนี้เคยมีตัวอย่างมามากต่อมากแล้ว อาชีพของคนเกิดมาในโลกนี้ มิใช่ยมบาลจะจำกัดให้พวกประมงทำแต่บาปอย่างเดียว ยมบาลก็เป็นผู้ยุ่งเพราะสอบสวนพวกนี้อยู่แล้ว ขออย่างเดียวแต่ให้เห็นโทษของการไม่มีศีล แล้วงดเว้นจากโทษนั้นๆ ก็เป็นพระได้เท่านั้นแหละ การไม่ล่วงละเมิดศีลในข้อนั้นๆ เพราะไม่จำเป็น เช่นเรามีอันอยู่อันกินมีผู้เลี้ยงดูสุขสมบูรณ์ ไม่ต้องไปหาฆ่าสัตว์ลักทรัพย์เขามาเลี้ยงชีพ แต่เราไม่ตั้งเจตนางดเว้นศีลในข้อนั้นๆ ก็ไม่จัดว่ารักษาศีล เพราะศีลเกิดจากการงดเว้น ฉะนั้นผู้ที่ทำปานาติบาตมากอยู่แล้ว เมื่องดเว้นได้ มารักษาศีลจึงได้ชื่อว่า"รักษาศีลบนกองบาป"เป็นของมหัศจรรย์มาก ส่วนผู้ไม่ละเมิดศีลเพราะไม่จำเป็นดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ตั้งใจรักษาศีลเพราะความสุขเป็นสิ่งที่น่าเสียดายได้ชื่อว่า"เสวยสุขในกองคูถ" แต่ถ้าเขามีปัญญารู้ตัวว่าเขาได้รับความสุขเช่นนั้นเพราะกุศลหนหลังส่งผลให้และเป็นโอกาสอันดีที่เขาจะได้บำเพ็ญความดี มีการรักษาศีลเป็นต้น แล้วตั้งใจงดเว้นจากบาปนั้นๆ ถึงแม้เขาไม่จำเป็นต้องระวังศีล เพราะเขาไม่มีโอกาสจะทำเช่นนั้นก็ตาม แต่เขามาภูมิใจ เพราะบุญของเขาอำนวยให้ แล้วตั้งใจงดเว้นให้บริสุทธิ์ยิ่งๆ ขึ้นไป ได้ชื่อว่าเขา "สร้างบุญกุศลบนกองเงินกองทอง" เป็นของหาได้ยากแท้ ศีลเป็นของรักษาได้ง่าย ถ้าเป็นผู้เห็นโทษในการทำบาปจริงๆ และเมื่องดเว้นจากโทษ๕ โทษ๘ ประการดังพระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ตัวของเขาก็เป็นพระขึ้นมาทันที ถึงมิใช่พระอริยเจ้าผู้ไกลจากกิเลสอย่างท่าน แต่ก็เป็นพระไกลจากกิเลส ๕ ข้อ ๘ ข้อ ก็ยังนับว่าดีเลิศอยู่แล้ว


ขอบคุณที่มาจากเวป http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=31116
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 31 พ.ค. 2553, 06:17:10 โดย เอ็มเมืองไร่ขิง »

ออฟไลน์ ~@เสน่ห์เอ็ม@~

  • ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย พระคุณบิดามารดาผู้มีพระคุณ แล ครูบาอาจารย์ผู้เกื้อหนุน สาธุ..
  • เด็กวัด
  • *****
  • กระทู้: 5894
  • เพศ: ชาย
  • ศิษวัดบางพระ
    • ดูรายละเอียด
2.การมีสติ-ใช้สมาธิ-ปล่อยวางคือทางออก

สมัยก่อน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง เป็นปัญหาของสังคม แต่สมัยนี้อาจบอกว่าโรคดังกล่าวสามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่ แต่โรคทางจิตใจ เช่น โรคจิตเภท โรคประสาท โรคซึมเศร้า กลับเป็นปัญหาของสังคมและเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ น.พ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล แห่งกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัญหาของสังคมที่เปลี่ยนสภาวะเครียดเพิ่มมากขึ้น และพบว่าคนที่ฆ่าตัวตายมักเป็นวัยผู้ใหญ่หรือวัยกลางคน กลับกลายเป็นวัยรุ่น ซึ่งพบข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์

                กล่าวกันว่า ตั้งแต่เรียนก็หวังเพื่อให้ได้คะแนนสูงๆ มาทำงานพยายามที่จะดิ้นรนเพื่อให้ตนเองได้รับการเลื่อนขั้นที่ดี หรือเกรดเอ.....

                มองถึงด้านการหล่อหลอมการเยียวยาจากครอบครัวก็มีน้อย เห็นจากครอบครัวสมัยนี้พ่อแม่แยกทางกัน หย่าร้างกัน ท่านทราบไหมว่า โรงเรียนอนุบาลในกรุงเทพมหานคร เด็กที่พ่อ-แม่ได้เลี้ยงดูจริงๆ จะมีสักกี่ราย... เติบโตก็พยายามที่จะให้อายุตนเองยืนยาวนาน สรรหาอาหารมารับประทานมีคุณค่าเพื่อบำรุงร่างกาย แต่อาหารทางใจส่วนมากแล้วจะขาดหรือมองข้ามเพราะเห็นว่าอาจไม่สำคัญ รอไปก่อน อายุมากกว่านี้แล้วค่อยคิดใหม่

                ในขณะที่ท่านทำงานก็มีความทุกข์กับงาน กลับบ้านก็ทุกข์กับสมาชิกในบ้าน ทุกข์กับการอยู่คนเดียว แต่ก็ทราบอีกไหมว่า ร่างกายของคนเราประกอบไปด้วยกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วทำให้รู้สึกว่าขาด

                ข้อมูลจากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ แนะนำว่า การหาทางออกโดยไม่ต้องลงทุน อันเพื่อตนเองให้มีความสุข งานที่กระทำราบรื่นไปได้ด้วยดี และคนรอบข้างมีความสุข คือ

                1. การใช้สมาธิ ลองคิดดูเมื่อรู้สึกเหนื่อยจากการทำงาน งานก็จะผิดพลาดเป็นประจำ คิดอะไร เขียนอะไร จำอะไรก็ไม่ดี จิตใจหวั่นไหว ใครมาพูดกระทบแสดงความไม่พอใจ กล่าวกันว่า หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นต้องใช้ความอดทน การนั่งเฉยๆ แล้วเอาจิตมาผูกกับลมหายใจ เพียงแต่รับรู้ลมหายใจเข้าออก เข้าก็รู้ ออกก็รู้ ที่เป็นจริง ต่อเนื่อง ตามลมหายใจ ความคิดก็ค่อยๆ ไตร่ตรองแล้วก็หายใจเงียบๆ ประมาณ 5-10 นาที

                2. การสวดมนต์ กล่าวว่า จะทำให้จิตใจของเรายึดมั่นอยู่ในพระรัตนตรัย เป็นการฝึกจิตให้สงบ และมีสมาธิ จากการวิจัยของ น.พ.อีริค แลนเดอร์ ซึ่งเป็นแพทย์ทหารของกองทัพสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า หากรู้จักปลีกเวลาสัก 1 ชั่วโมง หลายๆ ครั้งต่อสัปดาห์เพื่อการสวดมนต์เชื่อว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย และสุขภาพกายและสุขภาพจิตจะดี

                3. การอยู่กับปัจจุบัน คือการแผ่เมตตา ปรารถนาดีซึ่งมีอยู่จริงๆ ในจิตของเรา ทำให้น้อมจิตแผ่เมตตา แบ่งความสุขไปยังทุกคนในที่ทำงานทุกทิศทุกทาง โดยทำความรู้จักกับลมหายใจเข้าออกให้ชัดเจน ใครที่ทำให้เราทุกข์ใจ ร้อนใจ ขัดเคือง เราก็ให้อภัยเขา ไม่เอามาคิด ที่จะทำให้ใจของเราเป็นสุข ไม่มีเวรและเป็นภัยต่อกัน

                4. การมีสติ พุทธพจน์ที่ว่า ดูก่อนภิกษุ ตถาคต กล่าวว่าสติช่วยในกิจทั้งปวง และสติสามารถฝึกและควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นตัวยับยั้งไม่ให้จิตฟุ้งซ่าน การมีสติเป็นการพัฒนาฝีมือของเรามากขึ้น หากแม้จะไม่สงบก็ลดความฟุ้งซ่านได้ เช่น ขณะกำลังพิมพ์งาน ความวุ่นวายของคนรอบข้างจะเข้ามา แต่เราอยู่ด้วยใจที่จดจ่อจับกับลมหายแล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง

                5. การปล่อยวาง คือการไม่จมอยู่กับงานจนมั่นหมายเป็นบ้า ไม่หมกมุ่นอยู่กับอดีตที่ผ่านไป อนาคตที่ยังมาไม่ถึงและการสลัดตนให้พ้นจากความรู้สึก หรือภาพประทับใจเก่าๆ ที่มาเกาะกุมจิตใจโดยไม่รู้ตัว

                สิ่งที่แนะนำมาเบื้องต้นไม่ข้อใดข้อหนึ่ง สามารถกระทำเองได้โดยไม่ต้องลงทุนด้วยเงินทอง จะมีประโยชน์ 2 ส่วน คือ ตัวเราเองมีความสุข ความสัมพันธ์กับเพื่อนรอบข้างก็ดี งานก็สำเร็จสัมฤทธิผล มีคุณค่าต่อสังคม เพราะว่ารู้จักนำธรรมะมาใช้กับงานอย่างถูกต้อง

ขอบคุณที่มา http://www.mongkoltemple.com/page02/articles012.html

ออฟไลน์ peeda

  • ปฐมะ
  • *
  • กระทู้: 2
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
ดีมากเลยค่ะ