คำปรารภ
พระธาตุเจ้าดอยต๊อกหรือ พระธาตุเจดีย์ศรีพุทธสถานอภิบาลดอยเต่านี้ แต่เดิมมีซากปรักหักพัง เหลือเพียงอิฐก้อนใหญ่แบบสมัยโบราณและซากเศษกระเบื้องเท่านั้น แต่สถานที่แห่งนี้มีความศักดิ์สิทธิ์มากแห่งหนึ่ง เมื่อหลายปีก่อนในอดีต ชาวบ้านมักเห็นพระบรมสารีริกธาตุเสด็จแสดงปาฏิหาริย์บ่อย ๆ ในคืนวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ โดยพระบรมสารีริกธาตุจะเสด็จลอยไปพระธาตุเจ้าดอยเกิ้ง และเสด็จกลับมาดอยต๊อกเป็นอย่างนี้ประจำ ที่ภูเขาหรือดอยลูกนี้ ถ้าใครทำอะไรไม่ดีในบริเวณนี้มักจะมีอันเป็นไปต่าง ๆ
สำหรับข้าพเจ้าเอง (พระอาจารย์บุญศรี อภิปุณฺโณ) ก็เคยเห็นพระบรมสารีริกธาตุเสด็จจากดอยต๊อกแห่งนี้ ไปทางพระมหาธาตุเจ้าดอยเกิ้ง เมื่อกลางพรรษาปี ๒๕๓๘ เวลาเที่ยงคืนเศษ ข้าพเจ้าได้ไปกราบคารวะครูบาเจ้าชัยยะวงศาที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ขณะนั่งรถกลับมาจะถึงดอยเกิ้งอีก ๗ กิโลเมตร ได้พบเห็นพระบรมสารีริกธาตุองค์ใหญ่ ประมาณพระจันทร์เพ็ญเต็มดวง พร้อมบริวารคล้ายดาวหางยาวประมาณ ๒ วา มีสีเขียวประกายพรึกงดงามยิ่งนัก เสด็จลอยข้ามหน้ารถจากซ้ายไปขวา มุ่งไปหน้าไปทางพระธาตุเจ้าดอยเกิ้ง
ประวัติพระธาตุเจ้าดอยต๊อก โดยสังเขป
ดังมีประวัติเล่าสืบ ๆ กันมาว่า ในสมัยของพระนางจามเทวี พระนางได้มาสร้างวัดป่าหยวก (ปัจจุบันนี้ได้จมไปใต้น้ำเขื่อนแล้ว) ต่อจากนั้นมาสร้างวัดแคป (น้ำท่วมไปแล้ว) ต่อจากนั้นก็ไปสร้างวัดหัวโต่งหรือวัดหัวทุ่ง ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นวัดร้างอยู่กลางสวน ต่อจากนั้นก็ไปสร้างที่เมืองฮอดคือวัดหลวงฮอดในปัจจุบัน จากนั้นไปสร้างที่วัดดอยน้อย อำเภอจอมทอง หลังจากนั้นไปสร้างที่เมืองลำพูนคือวัดจามเทวีในปัจจุบัน ในเวลาขณะนั้นได้เกิดสงครามกับม่าน (พม่า) ที่ยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ ชาวบ้านเกิดความระส่ำระสายกลัวภัยสงคราม จึงนำของมีค่าจากวัดป่าหยวก วัดแคป วัดหัวโต่ง มาซ่อนไว้ในถ้ำดอยพระเคี่ยน เนื่องจากกลัวพม่านำของมีค่าไป ปากถ้ำมีทางทิศตะวันออกที่เราสร้างฐานพระครอบไว้ในเจดีย์นี้ เป็นปล่องถ้ำลึกลงไป ๑๐ ศอก เป็นที่เก็บของสำคัญต่าง ๆ เดิมทีพุทธสถานแห่งนี้เป็นชื่อ ดอยพระเคี่ยน แต่เมื่อเกิดสงครามกับพม่าชาวบ้านกลัวพม่า นำของมีค่าไปจึงเปลี่ยนชื่อเป็นดอยต๊อกไป แต่ดอยต๊อกจริง ๆ ก็มีอยู่อีกแห่งหนึ่ง
ดอยต๊อกนี้คงสร้างหรือบูรณะในระยะไล่เลี่ยกับสมัยที่พระนางจามเทวีได้ไป สร้างและบูรณะที่วัดพระบรมธาตุแก่งสร้อย หรือเมืองท่าสร้อยเมื่อปี พ.ศ. ๑๒๓๐ และหลังจากนั้นมาเมืองท่าสร้อยก็เจริญรุ่งเรือง มาถึงที่สุดในสมัยกษัตริย์องค์สุดท้ายชื่อ ปทุมราชบรมกษัตริย์ ได้ทรงสร้างและบูรณะวัดอารามขึ้นมาใหม่ถึง ๙๙ วัดจนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ทางอโยธยา เกิดศึกสงครามกับพม่า จึงมาเกณฑ์เอาชาวเมืองท่าสร้อยไปช่วยทำศึก เมืองท่าสร้อยจึงร้างตั้งแต่นั้นมา จนถึงยุคสมัยของครูบาเจ้าชัยลังกาและครูบาศรีวิชัย จึงได้สร้างองค์พระเจดีย์ขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗ แล้วเสร็จเมื่อปี ๒๔๖๘ เมื่อเสร็จแล้วจึงจัดให้มีงานฉลองสมโภชขึ้นเป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน ล่วงมาถึงปี ๒๕๓๗ ครูบาชัยยะวงศา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อันเป็นลูกศิษย์แห่งครูบาเจ้าศรีวิชัย ก็ได้นำลูกศิษย์มาบูรณะพระธาตุเจดีย์แก่งสร้อย (เกตุสร้อย) และสร้างวิหารหลวงด้านหลังเจดีย์ขึ้น ทั้งยังจัดงานสรงน้ำพระธาตุประจำปีขึ้นอีกด้วยทุก ๆ ปี เมื่อครูบาชัยยะวงศาได้ละสังขารหรือมรณภาพไป ครูบานิกร ชัยยะเสนโน ก็ได้บูรณะพัฒนามาจนถึงทุกวันนี้
วัดพระบรมธาตุแก่งสร้อย สำหรับซากเมืองท่าสร้อยหรือแก่งสร้อย ปัจจุบันได้จมอยู่ใต้น้ำเขื่อนภูมิพล พร้อมทั้งวัด ๙๙ วัดนั้น เหลือไว้แต่พระธาตุและรอยพระบาท ที่เราได้ไปสักการะทุกวันนี้เท่านั้น เมืองแก่งสร้อยหรือท่าสร้อยนั้น ในตำนานพระพุทธเจ้าเลียบโลกผูกที่ ๔ เมืองท่าสร้อยเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุกระดูกแขนซ้ายและพระเกศาธาตุของพระ พุทธเจ้า
สำหรับดอยพระเคี่ยนหรือดอยต๊อกนั้น ข้าพเจ้ามาพิจารณาดูในตำนานพระพุทธเจ้าเลียบโลกในกัณฑ์ที่ ๑ แล้ว น่าจะเป็นท่าหัวเคี่ยน เพราะอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ และอยู่ติดฝั่งแม่น้ำปิง ตรงกับวัดพระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้งด้วย ในตำนานยังกล่าวไว้ว่า ที่นี่(ดอยพระเคี่ยนหรือดอยต๊อก) พระพุทธองค์ได้ทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้เหนือก้อนหินก้อนหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันก็ได้พบรอยพระพุทธบาทนี้แล้วเช่นกัน
ครูบาชัยยะวงศาท่านได้บอกว่า จากหน้าเขื่อนภูมิพลไปถึงวัดพระบรมธาตุแก่งสร้อย(เมืองสร้อย)นั้น ได้จมน้ำไป ๙๙ วัด หากท่านใดที่เคยไปอาจจะเห็น บางปีน้ำลด จะเห็นพระธาตุสะหรีอุ่นเมืองสร้อย ปรากฏให้เห็น บางปีจะเห็นพระพุทธรูปสูงขึ้นมาจากเกาะ บางปีจะไม่เห็น ขึ้นอยู่กับระดับของน้ำ ในปี ๒๕๕๒ ที่ละอ่อนดอยไปเดือนตุลาคมนั้น ปรากฏออกมาให้เห็นทั้งพระพุทธรูปและพระธาตุสะหรีอุ่นเมืองสร้อย และภายในวัดพระบรมธาตุแก่งสร้อยนั้น มีทั้งรอยพระบาทและรอยพระหัตถ์ วัดถูกล้อมรอบด้วยน้ำ บางปีน้ำสูงท่วมวัดบ้าง และจากหน้าเขื่อนภูมิพลไปถึงแม่ฮอด มีวัดจมน้ำ ๙๙๙ วัด ใครอยากไปล่องแพไปดูวัดที่จมน้ำก็ได้ครับ ติดต่อแพที่เขื่อนภูมิพลครับ ขอย้ำให้ไปเป็นคณะครับ เพราะแพลำหนึ่ง ๖,๕๐๐ กว่าบาท นั่งได้ ๓๐ กว่าคนสวยงามมากครับ เส้นที่เราเดินทางไปนั้น มีภูเขาล้อมรอบมีผักชวาตามระยะทางขึ้นหนามาก ไม่มีคลื่นโทรศัพท์ครับ ส่วนเวลานั้นไม่แน่นอนครับ แล้วแต่แพ ของผมขาไปใช้เวลา ๑๑ ชั่วโมงกว่าบนแพ ขากลับอีก ๑๑ ชั่วโมงกว่าครับ ขอให้มีความสุขกับการเดินทางครับ[/size]