คัดลอกจาก http://www.watpaknam.org/history_sod.htm
ชาติภูมิ
นามเดิม สด นามสกุล มีแก้วน้อย ฉายา จนฺทสโร ชาตะ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๗ ตรงกับวันศุกร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก ฉศก จุลศักราช ๑๒๔๖ ณ บ้านสองพี่น้อง ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี บิดาชื่อนายเงิน มารดาชื่อนางสุดใจ อาชีพทำการค้าข้าว มีพี่น้อง ๕ คน
การศึกษา
เริ่มเรียนหนังสือกับพระภิกษุผู้เป็นน้าชาย ณ วัดสองพี่น้อง แล้วมาอยู่ ณ วัดบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ในความปกครองของพระอาจารย์ทรัพย์ ปรากฏว่าเป็นผู้สามารถเรียน อ่านภาษาขอมได้อย่างคล่องแคล่ว เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้กลับไปช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพค้าข้าว ด้วยความวิริยะอุตสาหะ เพื่อสร้างฐานะให้มั่นคง
เนกขัม
เมื่ออายุได้ ๑๙ ปี เกิดความเบื่อหน่ายในเพศแห่งฆราวาสวิสัย แต่ไม่อาจปลีกตัวออกไปได้ โดยมีความห่วงใย ฐานะและความเป็นอยู่ของมารดาและพี่น้อง ได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า ขอเราอย่าได้ตายไปก่อน ขอให้ได้บวช เสียก่อน เมื่อบวชแล้วจะไม่ลาลิกขา ขอบวชไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ แล้วได้ขะมักเขม้นทำงานสะสมทรัพย์เพื่อให้มารดาและพี่น้องเลี้ยงชีพไปจนตลอดชีวิต
อุปสมบท
เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ต้นเดือน ๘ ท่านมีอายุได้ ๒๒ ปี ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี มีฉายาว่า จนฺทสโร โดยมี
พระอาจารดี วัดประตูสาร อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์
พระครูวินยานุโยค (เหนี่ยง อินฺทโชโต) วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี พระกรรมวาจาจารย์
พระอาจารย์ โหน่ง อินฺทสุวณฺโณ วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระอนุสาวนาจารย์
เมืออุปสมบทแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดสองพี่น้อง ๑ พรรษา ปวารณาพรรษาแล้วได้ยายมาจำพรรษา ณ วัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม ได้เอาใจการศึกษาเป็นอย่างดี โดยกลางคืนเรียนที่วัดพระเชตุพนฯ กลางวันได้ไปเรียนในสำนักเรียน วัดอรุณราชวราราม วัดมหาธาตุฯ วัดสุทัศนเทพวราราม วัดจักรวรรติราชาวาส ตามแต่โอกาสจะอำนวยจนมีความแตกฉานในภาษาบาลี และคัมภีร์พระไตรปิฎกเป็นอย่างดี เมื่อได้ศึกษาคันถธุระจนเป็นที่พอใจแล้ว ได้ศึกษาวิปัสสนาธุระกับพระวิปัสสนาจารย์เหล่านี้คือ
พระมงคลทิพยมุนี วัดจักวรรดิราชาวาส กรุงเทพมหานคร
พระอาจารย์ดี วัดประตูสาร อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี
พระอาจารย์โหน่ง อินฺสุวณฺโณ วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
พระอาจารย์เนียม วัดน้อย จังหวัดสุพรรณบุรี
พระสังวรานุวงษ์ วัดราชสิทธาราม กรุงเทพมหานคร
พระครูญาณวิรัติ (โป๊ะ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร
พระอาจารย์สิงห์ วัดละครทำ กรุงเทพมหานคร
พระอาจารย์ปลื้ม วัดเขาใหญ่ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี
เมื่อได้ศึกษาภาวนาวิธีจนมีความรู้ความเข้าใจ ทั้งจากพระอาจารย์ทั้งจากพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆ มีวิสุทธิมรรคเป็นต้น ได้แสวงหาที่หลีกเร้นมีความวิเวก เป็นสัปปายะต่อการปฏิบัติธรรมดังนั้น ในพรรษาที่ ๑๑ จึงได้กราบลาเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม) อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพนฯ เพื่อไปจำพรรษา ณ วัดโบสถ์บน ตำบลคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
บำเพ็ญเพียร
วันเพ็ญกลางเดือน ๑๐ ได้เข้าไปในพระอุโบสถตั้งแต่เวลาเย็นได้ตั้งสัจจอธิษฐานว่า
" ถ้าเรานั่งลงไปครั้งนี้ ไม่เห็นธรรมพี่พระพุทธเจ้าต้องการ เป็นอันไม่ลุกจากที่นี้จนหมดชีวิต"
เมื่อตั้งจิตมั่นคงแน่วแน่แล้วได้ระลึกถึงพุทธคุณเป็นที่พึ่งว่า ขอพระองค์ได้ทรงกรุณาโปรดข้าพระพุทธเจ้า ทรงประทานธรรมที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้อย่างน้อยที่สุดที่พระองค์ได้ทรงรู้แล้วแก่ข้าพระพุทธเจ้า ถ้าข้าพระพุทธเจ้ารู้ธรรมของพระองค์แล้วเป็นโทษแก่พระศาสนาของพระองค์ ขอพระองค์อย่าทรงพระราชทานเลย ถ้าเป็นคุณแก่พระศาสนาของพระองค์แล้วโปรดพระราชทานแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ขอรับเป็นทนายศาสนาในศาสนาของพระองค์จนตลอดชีวิต
ได้เริ่มบำเพ็ญเพียรแต่ก็มีมารผจญคือ มดที่ไต่ไปมาก่อความรำคาญต่อการบำเพ็ญกิจภาวนาจึงเอานำมันก๊าดและปลายนิ้วขีดดวงรอบล้อมตัว พอทำได้ครึ่งหนึ่งเกิดความละอายใจว่า ชีวิตเรายังสละได้จะกลัวอะไรกับมด แล้วเลิกอุบายป้องกัน บำเพ็ญกิจภาวนาเรื่อยไป ได้เริ่มเห็นฝังของจริงของพระพุทธเจ้า (คือธรรมกายโคตรภู)ในระหว่างมัชฌิมยามกับปัจฉิมยามติดต่อกัน ท่านได้รำพึงว่า ธรรมเป็นของลึกถึงเพียงนี้ ใครจะไปคิดคาดคะเนเอาได้ พ้นวิสัยของความ ตรึก นึก คิด ถ้ายัง ตรึก นึก คิด อยู่ก็เข้าไม่ถึง ที่จะเข้าให้ถึง ต้องทำให้รู้ตรึก รู้นึก รู้คิด นั้นหยุดเป็นจุดเดียวกัน แต่พอหยุดก็ดับ แต่พอดับแล้วเกิด ถ้าไม่ดับแล้วไม่เกิด ตรองดูเถิดท่านทั้งหลาย นี้เป็นของจริง หัวต่อมีอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนก็ไม่มี ไม่เป็นเด็ดขาด
รำพึงอย่างนี้สักครู่ใหญ่เกรงว่า ความมี ความเป็นนั้น จะเลือนไปเสียจึงเข้าที่ (ดำรงสมาธิมั่น) ต่อไปจนปัจฉิมยามในขณะดำรงสมาธิมั่นอยู่อย่างนั่น เห็นวัดบางปลา ปรากฏขึ้นในนิมิต จึงเกิดญาณทัสนนะขึ้นว่า ธรรมที่รู้ว่าได้ยากนั้น ในวัดบางปลานี้ จะต้องมีผู้รู้เห็นได้อย่างแน่นอน ออกพรรษาแล้วได้ไปสอนที่วัดบางปลา ๔ เดือน มีพระทำเป็น (ได้ธรรมกาย) ๔ รูป คฤหัสถ์ ๔ คน นี้เป็นที่มาแห่ง "ธรรมกาย" คำว่า ธรรมกาย นี้ มีพระบาลีรับรองว่า " ตถาคตสฺส วาเสฏฺฐ เอตํ ธมฺมกาโยติวจนํ ดูกรวาเสฏฐะธรรมกายนี้เป็นชื่อของตถาคต" และมีพระบาลีปรากฏในอัคคัญสูตร ปาฏิกวรรคทีฆนิกาย พระสุตตันตปิฎก รับรองว่า ตถาคตสฺส เหตํ วาเสฏฐา อธิวจนํ ธมฺมกาโย อิติปิ ดูกรทวาชะ เพราะว่าธรรมกายนั้นเป็นชื่อของตถาคต"
สนองพระบัญชา
พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โดยฉันทานุมัติของคณะสงฆ์ ซึ่งมีสมเด็จพระวันรัต (เผื่อน ติสฺสทตฺตเถร) เป็นประธาน ทั้งนี้โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้บูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะและถาวรวัตถุในวัด ซึ่งขณะนั้นอยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมกึ่งวัดร้าง
ในเบื้องต้น ท่านได้ประชุมพระภิกษุ สามเณร ทั้งหมดในวัดแล้วให้โอวาทว่า " เจ้าคณะอำเภอส่งมาเพื่อให้รักษาวัด และปกครอง ตักเตือนว่ากล่าวผู้อยู่อาศัย โดยพระธรรมวินัย อันจะให้วัดเจริญได้ต้องอาศัยความพร้อมเพรียงและเห็นอกเห็นใจกัน จึงจะทำความเจริญได้ ถิ่นนี้ไม่คุ้นเคยกับใครเลย มาอยู่นี้เท่ากับถูกปล่อยโดยไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใครเพราะต่างไม่รู้จักกัน แต่มั่นใจว่า ธรรมที่พวกเราปฏิบัติตรงต่อพระพุทธโอวาท จะประกาศความราบรื่นและรุ่งเรืองให้แก่ผู้มีความประพฤติเป็นสัมมาปฏิบัติ ธรรมวินัยเหล่านั้น จะกำจัดอธรรมให้สูญสิ้นไป พวกเราบวชกันมาคนละมากๆ ปี ปฏิบัติธรรมเข้าขั้นไหน มีพระปาฏิโมกข์เรียบร้อยอย่างไร ทุกคนทราบความจริงของตนได้ ถ้าเป็นไปตามแนวพระธรรมวินัยก็น่าสรรเสริญ ถ้าผิดพระธรรมวินัย น่าเศร้าใจ เพราะตนเองก็ติเตียนตนเองได้เคยพบมาบ้าง แม้บวชมาตั้งนานนับเป็นสิบๆ ปีก็ไม่มีภูมิจะสอนผู้อื่นจะเป็นที่พึ่งของศาสนาก็ไม่ได้ ได้แต่อาศัยศาสนาอย่างเดียว ไม่ทำประโยชน์ให้เกิดแก่ตนเองและแก่ท่าน ซ้ำร้ายยังทำให้พระศาสนาเศร้าหมองอีกด้วย บวชอยู่อย่างนี้ก็เหมือนตัวเสฉวน จะได้ประโยชน์อะไรในการบวช ในการอยู่วัด ฉันมาอยู่วัดปากน้ำจะพยายามตั้งใจประพฤติให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย พวกพระเก่าๆ จะร่วมกันก็ได้ หรือจะไม่ร่วมด้วยก็ได้แล้วแต่อัธยาศัย ฉันจะไม่รบกวนด้วยอาการใดๆ เพราะถือว่า ทุกคนรู้สึกผิดชอบด้วยตนเองดีแล้ว ถ้าไม่ร่วมใจก็อย่าได้ขัดขวาง ฉันก็จะไม่ขัดขวางผู้ไม่ร่วมมือเหมือนกัน ต่างคนต่างอยู่ แต่ต้องช่วยกันรักษาระเบียบของวัด คนจะเข้าจะออกต้องบอกให้รู้ ที่มาแล้วไม่เกี่ยวข้อง เพราะยังไม่อยู่ในหน้าที่ จะพยายามรักษาเมื่ออยู่ในหน้าที่"
หลวงพ่อได้เริ่มปรับปรุงวัดปากน้ำ จากวัดที่มีสภาพกึ่งวัดร้างมาเป็นวัดที่เป็นที่เจริญศรัทธาของประชาชนโดยลำดับ ทั้งในด้านการปฏิบัติธรรม ในด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม ในด้านการก่อสร้างปฏิสังขรณ์เสนาสนะและถาวรวัตถุในวัด ในด้านการอุปถัมภ์ด้วยอาหารบิณฑบาต ซึ่งนับว่าเป็นสัปปายะอย่างต่อผู้ใคร่ศึกษาและสัมมาปฏิบัติโดยทั่วไป
จริยาวัตร
นำพระภิกษุ สามเณร ลงทำวัตร สวดมนต์ในพระอุโบสถทุกวัน ทั้งเช้าและเย็นพร้อมทั้งได้ให้โอวาทสั่งสอนด้วย วันพระ และวันอาทิตย์ ลงแสดงธรรม - ฟังธรรม ในพระอุโบสถเป็นนิจ บำเพ็ญกิจภาวนาในสถานที่ซึ่งจัดไว้เป็นการเฉพาะ เป็นกิจวัตรประจำวัตร และจัดพระภิกษุ สามเณร แม่ชีผู้ได้ธรรมกาย ผลัดเปลี่ยนวาระทำกิจภาวนา สถานที่บำเพ็ญภาวนานี้ห้ามบุคคลภายนอกเข้าไปโดดเด็ดขาด ทุกวันพฤหัสบดี เวลา ๑๔.๐๐ น. ลงสั่งสอนการนั่งสมาธิภาวนาแก่พระภิกษุ สามเณร แม่ชี และประชาชนทั่วไป พระภาวนาโกศลเถระ (ธีระ ธมฺมธโร ป.ธ.๔) เป็นผู้ดำเนินการแทนท่าน เมื่อพระภาวนาโกศลเถระ มรณภาพลง พระภาวนาโกศลเถระ (วีระ คณุตฺตโม) เป็นพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระต่อมา อนึ่ง เฉพาะเวลาเย็นทุกวันได้มอบหมายให้แม่ชีญาณี ศิริโวหาร เป็นผู้สอนภาวนา ที่ศาลาการเปรียญ ไม่นิยมออกนอกวัด นอกจากมีกิจจำเป็นจริงๆ และได้ปฏิญญาว่า จะไม่ไปค้างแรมที่ไหนไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากเป็นห่วงการบำเพ็ญกิจภาวนา
ด้านการศึกษา
หลวงพ่อ ถือว่า การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ และต้องมาก่อนเรื่องอื่น การสร้างคนเป็นงานยิ่งใหญ่ เมื่อสร้างคนได้แล้ว สิ่งอื่นๆ ตามมาเอง คนที่ไร้การศึกษาเป็นคนที่รกชาติ ดังนั้น จึงจัดสร้างโรงเรียนราษฎร์ขึ้นในวัดเพื่อการศึกษาของเยาวชน ต่อมาได้ย้ายโรงเรียนไปอยู่วัดขุนจันทร์ อีกทั้งได้ส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ โดยสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมภาวนานุสนธิ์ขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๙๓ โดยมี ฯพณฯ ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีเป็นผู้วางศิลาฤกษ์
การสร้างสาธารณูปการ
ถึงแม้ว่า การสร้างคนเป็นงานหลัก กระนั้น ก็มิได้ละเลยงานก่อสร้างปฏิสังขรณ์เสนาสนะและถาวรวัตถุเลยทีเดียว จึงได้จัดสร้าง กุฏิ ๒ แถว ๒ ชั้น ชั้นบนเป็นไม้ ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน โรงเรียนพระปริยัติธรรมภาวนานุสนธิ์ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๓ ชั้น พร้อมอุปกรณ์ การศึกษาครบชุด ศาลาโรงฉัน พอเหมาะแก่ พระภิกษุ สามเณร ๕๐๐ รูป ฉันภัตตาหารเช้า - เพล กุฏิมงคลจันทสร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น กุฏิบวรเทพมุนี เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๓ ชั้น เสนาสนะหลังเล็กๆ ซึ่งเป็นสัปปายะ ต่อผู้ใคร่ศึกษาและปฏิบัติธรรม ทั้งนี้ อยู่ในความควบคุมดูแลของพระครูปลัดณรงค์ ฐิตญาโณ ป.ธ.๔
การอุปถัมภ์อาหารบิณฑบาต
อาหารสัปปายะ เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อการศึกษาและการปฏิบัติธรรม หลวงพ่อมองเห็นการขาดแคลนอาหารบิณฑบาตของพระภิกษุ สามเณร ซึ่งมีอยู่เป็นประจำจึงคิดแก้ไข ด้วยการเลี้งพระภิกษุ สามเณรทั้งวัด ทั้งเวลาเช้า และเพล โดยท่านรับภาระเองทั้งสิ้น ท่านปรารภว่า "กินคนเดียวกินไม่พอกิน กินหลายคนกินไม่หมด" จึงจัดตั้งโรงครัวขึ้นเพื่ออุปการะพระภิกษุ สามเณร และผู้ปฏิบัติธรรม โดยเริ่มดำเนินการเลี้ยงพระมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๙ จนถึงปัจจุบัน โดยมีอุบาสิกาท้วม หุตานุกรม เป็นหัวหน้าโรงครัวในยุคแรกตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็นต้นมา แม่ชีธัญญาณี สุดเกษ ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าโรงครัวสืบต่อมา
การปกครอง
หลวงพ่อได้แบ่งการปกครองออกเป็นส่วนๆ โดยมอบให้ ท่านหลวงพ่อ เป็นผู้ปกครองดูแลพระภิกษุ พระครูปัญญาภิรัติ (ถวิล ธมฺมาภิรโต) ปกครองดูแลเด็กวัด พระครูพิพัฒนธรรมคณี (ธนิต อุปคุตฺโต) ปกครองสามเณร อุบาสิกาไข่ ชัยพานิช อุบาสิกท้วม หุตานุกรม ปกครองดูแลแม่ชี
ความกตัญญูกตเวที
หลวงพ่อเป็นผู้หนักในกตัญญูกตเวทิตาธรรม ท่านได้รับโยมมารดาผู้ชรามาอยู่วัดวัดปากน้ำด้วย โดยสร้างที่อยู่อาศัยและอุปถัมภ์ด้วยเครื่องเลี้ยงชีวิตเป็นอย่างดี แม้คนอื่นก็เหมือนกัน ท่านย่อมอนุเคราะห์ตามฐานะ ในสมัยที่ท่านเรียนหนังสือ ท่านได้รับความอุปถัมภ์เรื่องอาหารบิณฑบาตจากอุบาสิกานวม ซึ่งเป็นแม่ค้าขายข้าวแกงเป็นประจำทุกวัน ต่อมาแม่ค้าผู้นี้ทุพพลภาพลงเพราะชราขาดผู้อุปการะ ท่านได้รับตัวมาอยู่วัดปากน้ำ ได้อุปการะทุกวิถีทาง เมื่อสิ้นชีวิตก็ได้จัดการฌาปนกิจศพให้ โดยท่านกล่าวว่า เมื่อเราอดอยาก อุบสิกานวมได้อุปการะเรา ครั้นอุบาสิกนวมยากจนลง เราได้ช่วยอุปถัมภ์ ที่สุดต่อทีสุดมาพบกัน จึงเป็นกุศลอันยากที่จะหาได้ง่ายๆ
สมณะศักดิ์
พ.ศ. ๒๔๕๙ เป็นพระสมุห์ ฐานานุกรมในพระศากยยุตติวงศ์
พ.ศ. ๒๔๖๔ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูสมณธรรมสมาทาน
พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระภาวนาโกศลเถร
พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้รับพระราชทานพัดยศเทียบเปรียญ
พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระมงคลราชมุนี
พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระมงคลเทพมุนี
คำปรารภ
พ.ศ. ๒๔๙๘ หลวงพ่อได้ประชุมบรรดาศิษยานุศิษย์ แล้วได้ปรารภว่าอีก ๕ ปี ท่านจะไม่อยู่แล้วขอฝากวัดด้วย จงควบคุมดูแลให้เป็นไป ทั้งการศึกษาพระปริยัติ การบำเพ็ญกิจภาวนา การก่อสร้างปฏิสังขรณ์เสนาสนะและถาวรวัตถุในวัด
อาพาธ
หลังจากที่ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ ที่ พระมงคลเทพมุนีแล้ว เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นต้นมา ได้อาพาธเกี่ยวกับความดันโลหิตสูง ท่านปรารภว่า เจ็บคราวนี้ไม่หายไม่มียารักษา เพราะยาที่มีอยู่ไม่ถึงโรค กรรมบังไว้เป็นเรื่องแก้ไขไม่ได้ ท่านมิได้แสดงอาการหวาดหวั่นท้อแท้แต่ประการใด คงมุ่งแต่ทำกิจภาวนาและควบคุมการบำเพ็ญกิจภาวนาของพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ด้วยตัวท่านเอง กิจภาวนานี้เป็นงานที่หลวงพ่อห่วงมาก และได้สั่งสอนว่างานที่เคยทำไว้อย่างไร อย่าได้ทิ้ง จงพยายามทำต่อไปและจงเลี้ยงพระภิกษุ สามเณร ดังที่เคยทำมา
มรณภาพ
หลวงพ่อมรณภาพ เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๒ เวลา ๑๕.๐๕ น. ตรงกับวันอังคาร แรม ๑๑ ค่ำ เดือนยี่ ปีกุน สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๓๒๐ ณ ตึกมงคลจันทสร วัดปากน้ำ แขวงปากคลอง เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร สิริอายุ ๗๕ ปี พรรษา ๕๓รูปํ ชีรติ มจฺจานํ นามโคตตํ น ชีรติ
คติธรรม
เห็นใดฤามาตรแม้น ธรรมกาย
จำสนิทนิมิตหมาย มั่นแท้
คิดทำเถิดหญิง-ชาย ชูช่วย ตนแฮ
รู้ยิ่งเบญจขันธ์แท้ แต่ล้วนอจิรัง
รักษ์ร่างพอสร่างร้าย รอดตน
ยอดเยี่ยม "ธรรมกาย" ผล ผ่องแผ้ว
เลอเลิศล่วงกุศล ใดอื่น
เชิญท่านถือเอาแก้ว ก่องหล้าเรืองสกล
ด้วยความหมั่น มั่นใจ ไม่ประมาท
รักษาอาตม์ ข่มใจ ไว้เป็นศรี
ผู้ฉลาด อาจตั้งหลัก พำนักดี
อันห้วงน้ำไม่มี มารังควาน
เกิดมาว่าจะมาหาแก้ว พบแล้วไม่กำ จะเกิดมาทำไม
อ้ายที่อยากมันก็หลอก อ้ายที่หลอกมันก็ลวง ทำให้จิตมันเป็นห่วงเป็นใย
เลิกอยากลาหยอก รีบออกจากกาม เดินตามขันธ์สามเรื่อยไป
เสร็จกิจสิบหก ไม่ตกกันดาร เรียกว่า "นิพพาน" ก็ได้
ประกอบเหตุ สังเกตผล ทนเอาเถิด ประเสริฐนัก
ไม่หยุดไม่ถึงพระ ตัวหยุดนี่แหละเป็นตัวสำเร็จ
ผลไม้ดกนกชุม น้ำเย็นปลาชอบอาศัย