สันโดษ และ พากเพียร
หลวงพ่อมีนิสัยสันโดษ จนบางคราวเห็นได้ว่ามักน้อย และมีความพากเพียรพยายาม สบงและจีวรที่นุ่งห่มก็นิยมใช้ของเก่า จะได้เห็นหลวงพ่อนุ่งห่มสบงจีวรใหม่ ก็ต่อเมื่อมีผู้ศรัทธาถวายให้ครอง ในกิจนิมนต์ หลวงพ่อจึงครองฉลองศรัทธา ถ้าเป็นไตรจีวรแพร ครองแล้วกลับมาจากที่นิมนต์ก็มอบให้พระภิกษุรูปอื่นไป ข้าวของที่มีผู้ถวาย ถ้ามีประโยชน์แก่พระภิกษุรูปอื่นๆ หลวงพ่อก็ให้ต่อไป
ของสิ่งใดที่มีผู้ถวายไว้ ถ้ามีใครอยากได้แล้วออกปากขอ หลวงพ่อก็ให้ แต่เมื่อหลวงพ่อบอกให้แล้ว ผู้ขอต้องเอาไปเลยทีเดียว ถ้ายังไม่เอาไปและทิ้งไว้ หรือฝากไว้กับหลวงพ่อ เมื่อมีใครมาเห็น ในภายหลังและออกปากขออีก หลวงพ่อก็ให้อีก เมื่อผู้ขอภายหลังเอาไปแล้วผู้ขอก่อนมาต่อว่าว่าให้ผมแล้วเหตุใดจึงให้คนอื่นไปเสียอีก หลวงพ่อจะตอบว่า ก็ไม่เห็นเอาไป นึกว่าไม่อยากได้ จึงให้คนที่เขาอยากได้
กุฏิที่มีผู้สร้างถวายดี ๆ มีฝารอบชอบชิด หลวงพ่อก็ไม่ชอบอยู่ ชอบอยู่ในศาลาซึ่งมีแต่ฝาลำแพนบังลมในบางด้าน ต่อมาเมื่อหลวงพ่อมีอายุล่วงเข้าวัยชรามากแล้ว บรรดาศิษยานุศิษย์จึงช่วยกันรื้อศาลาหลังนั้นไปปลูกไว้ ณ ป่าช้าเผาศพ ทางทิศตะวันออกของวัดหนองโพ แล้วสร้างกุฏิมีฝารอบขอบชิดขึ้นแทนในที่เดิม ถวายให้เป็นที่อยู่ของหลวงพ่อต่อมา จนถึงวันมรณภาพ
ณ ศาลาหลังที่รื้อไปนั้น เมื่อผู้เขียนเป็นเด็กวัด เคยไปนอนอยู่ปลายตีนเตียงนอนปลายเท้าของหลวงพ่อ ครั้นตื่นขึ้นตอนเช้ามืด ราวตี ๔ ตี ๕ ก็เห็นหลวงพ่อจุดเทียนอ่านหนังสือคัมภีร์ใบลานสั้นๆ เสมอ เคยสอบถามศิษย์รุ่นเก่าก็เล่าตรงกันว่า เคยเห็นหลวงพ่อลุกขึ้นจุดเทียนอ่านหนังสือเช้ามืดอย่างนี้ตลอดมา แม้จะไปนอนค้างอ้างแรมในดงในป่า หลวงพ่อก็จุดเทียนอ่านหนังสือในตอนเช้ามืดเช่นนั้นเป็นนิตย์
ผู้เขียนอยากรู้ว่าหนังสือนั้นเป็นเรื่องอะไร ไม่รู้จนแล้วจนรอด เพราะหลวงพ่อมักจะเอาติดตัวไปไหนมาไหนด้วยเสมอ เวลาท่านอยู่ ไม่มีศิษย์คนใดกล้าไปขอดู หรือเรียนถามว่าเป็นหนังสืออะไร มาจนหลวงพ่อมรณภาพแล้ว เมื่อผู้เขียนขึ้นไปนมัสการศพหลวงพ่อจึงให้ค้นดู ปรากฏว่าเป็นหนังสือปฤศนาธรรม สำนวนเก่ามาก คัมภีร์หนึ่งมี ๖๒ ลาน เรียกว่า มูลกัมมัฏฐานและทางวิปัสสนา อีกคัมภีร์หนึ่ง มี ๑๖ ลาน เรียกว่า พระอภิธรรมภายใน ตลอดอายุของหลวงพ่อเห็นจะอ่านคัมภีร์ทั้งสองนั้นตั้งหลายพันครั้ง
ชอบเลี้ยงสัตว์พาหนะ
หลวงพ่อชอบเลี้ยงสัตว์พาหนะ ตอนแรกๆ ได้เลี้ยงวัวขึ้นไว้ฝูงใหญ่ แล้วภายหลังได้ยกให้นายต่วน คงหาญ ผู้เป็นหลานชายไป สัตว์ที่ชอบเลี้ยงเป็นประจำก็คือช้างและม้า เรื่องเลี้ยงช้างนั้นมิใช่แต่ชอบเลี้ยงอย่างว่าพอมีช้างเท่านั้น หลวงพ่อได้ศึกษาวิชาการช้างจนถึงร่วมกับหมอข้างไปโพนจับช้างป่าด้วย
หลวงพ่อเคยมีช้างหลายเชือก ทั้งช้างงาและช้างสีดอ ตายแล้วก็หามาเลี้ยงไว้ใหม่ แม้จนเวลามรณภาพก็ยังมีอยู่อีก ๓ เชือก แต่ได้ยกมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คนไว้แล้วก่อนท่านถึงมรณภาพ
สัตว์พาหนะที่หลวงพ่อชอบเลี้ยงไว้ก็เพื่อใช้เป็นพาหนะสำหรับบรรทุกและลากเข็นทัพพสัมภาระ ในการก่อสร้างถาวรวัตถุ และใช้ในการมหกรรมเครื่องบันเทิงของชาวบ้านในท้องถิ่นด้วย ดังจะเห็นได้ในเมื่ออ่านประวัติของหลวงพ่อต่อไป
แม้หลวงพ่อจะชอบเลี้ยงช้างก็จริง แต่ก่อนไม่เคยเห็นท่านขี่ช้าง มาขี่ตอนหลังเมื่ออายุหลวงพ่อล่วงเข้าวัยชรามากแล้ว
แต่ก่อนหลวงพ่อชอบเดินและเดินทนเดินเร็วเสียด้วย เรื่องเดินของหลวงพ่อนี้บรรดาศิษย์ตั้งแต่รุ่นก่อนๆ มาจนถึงรุ่นหลังๆ ที่เคยติดตามหลวงพ่อ ต่างระอาและเกรงกลัวไปตาม ๆ กันบางคนเดินทางไปกับหลวงพ่อครั้งเดียวก็เข็ด เพราะหลวงพ่อเดินตั้งครึ่งวันค่อนวัน ไม่หยุดพักและเดินเร็ว สังเกตดูก็เห็นก้าวช้า ๆ จังหวะก้าวเนิบ ๆ คล้ายกับช้างเดิน แต่คนอื่นต้องรีบสาวเท้าตาม
ผู้เขียนเองเมื่อเป็นเด็กเคยสะพายย่ามตามหลัง ถึงกับต้องวิ่งเหยาะ และถ้ามัวเผลอเหม่อดูอะไรเสียบ้างก็ทิ้งจังหวะไกลจนถึงต้องวิ่งตามให้ทันเป็นคราว ๆ
เรื่องเดินทน ไม่หยุดพักของหลวงพ่อนั่น ถึงกับเคยมีศิษย์บางคนที่ตามไปด้วยต้องออกอุบายเก็บหญ้าพุ่งชู้ตามข้างทาง เดินตามไปพลาง แล้วเอาหญ้าพุ่งชู้ขว้างให้ติดจีวรของหลวงพ่อไปพลาง จนเห็นว่าหญ้าติดจีวรมากแล้ว พอถึงที่มีร่มไม้ก็ออกอุบายเรียนขึ้นว่า
“หลวงพ่อครับ หญ้าติดจีวรเต็มไปหมดแล้ว หยุดพัก เก็บหญ้าออกกันเสียทีเถอะ”
จึงเป็นอันได้หยุดพักกันครั้งหนึ่ง
ชอบค้นคว้าทดลอง
หลวงพ่อมีนิสัยชอบศึกษาและค้นคว้าทดลอง การค้นคว้าทดลองของหลวงพ่อนั้นมีหลายเรื่อง ขอนำมาเล่าแต่บางเรื่อง เช่นคราวหนึ่งได้ประดิษฐ์สร้างเกวียนให้เดินได้เองโดยไม่ต้องใช้แรงวัวหรือแรงควายเทียมลาก เรียกของท่านว่าเกวียนโยก เมื่อสร้างขึ้นแล้วก็โยกให้เดินได้คล่องแคล่วดี แต่เดินได้แต่รุดหน้า เลี้ยวไม่ได้ จะได้พยายามแก้ไขอย่างไรอีกหรือเปล่าไม่ทราบได้ แต่ไม่ช้าก็เลิกไป
ตามปรกติชาวบ้านเขาสร้างเกวียนวัวเกวียนควายใช้กัน แต่หลวงพ่อสร้างเกวียนช้างคือใช้ช้างเทียมลาก แต่เกวียนช้างที่หลวงพ่อสร้างขึ้นครั้งแรกนั้น ไม่สำเร็จประโยชน์ดังประสงค์ เพราะเมื่อบรรทุกแล้ว พื้นดินทานน้ำหนักไม่ได้ กงล้อจมลงไปในพื้นดิน ต่อมาก็เลิก
ครั้นมาเมื่อสมัยเริ่มแรกนิยมใช้รถยนต์บรรทุกกันตามหัวเมือง หลวงพ่อก็ซื้อรถยนต์ไปใช้ แต่รถยนต์สมัยนั้นแล่นไปได้แต่ตามทางเกวียนที่เรียบๆ เมื่อแล่นไปตามท้องนา ซึ่งมีคันนาและมีหัวขี้แต้ หรือในท้องที่ขรุขระ ก็แล่นไม่ได้ ต้องมีคนคอยบุกเบิกทาง เอาจอบสับเอาเสียมแซะและเอาขวานคอยฟันคอยกรานต้นไม้กิ่งไม้ตามทางที่รถยนต์จะผ่านไป
ไม่ช้าหลวงพ่อก็เบื่อ ต่อมาก็เลิก แล้วหันกลับไปนิยมเลี้ยงช้างอย่างเดิม และคราวนี้ได้ประดิษฐ์สร้างเกวียนช้างขึ้นใหม่ แก้ไขจนใช้บรรทุกลากเข็นได้ประโยชน์ดีมากได้ใช้สำหรับเข็นลากไม้เสาและสัมภาระอื่นๆ ในการสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งเรียกว่า วัดหนองหลวง เพราะสร้างขึ้น ณ ที่ริมหนองน้ำชื่อนั้น
นอกจากค้นคว้าในทางประดิษฐ์แล้ว ตำรับตำราที่ครูบาอาจารย์ทำไว้แต่ก่อน ๆ บางอย่างหลวงพ่อก็นำมาทดลองด้วย เช่นวิชาเล่นแร่ คือทำแร่ตะกั่วให้เป็นเงินและทำเงินให้เป็นทอง บรรดาลูกศิษย์รุ่นเก่าเล่าให้ฟังว่า หลวงพ่อพยายามทดลองค้นคว้าวิชาทำเงินให้เป็นทองอยู่หลายปี โดยมีลูกศิษย์เป็นลูกมือช่วยเผาถ่าน ช่วยสูบไฟและอื่นๆ แต่ตอนผสมส่วนของธาตุโลหะและผสมยาซัดนั้น เล่ากันว่าหลวงพ่อต้องทำเอง
บรรดาศิษย์รุ่นเก่าเหล่านั้นเล่าตรงกันว่าหลวงพ่อพยายามทำเงินให้เป็นทองคำจนได้ ศิษย์รุ่นใหญ่ระบุ ทองที่หลวงพ่อทำได้และมอบให้กับศิษย์บางคน ซึ่งศิษย์ผู้นั้นได้เอาไปทำเครื่องประดับให้ลูกหลานสวมใส่อยู่ต่อมา
เรื่องที่จะเลิกทำทองนั้น เล่ากันมาว่า วันหนึ่งหลวงพ่อถลุงเงินให้เป็นทอง หนักราวสัก ๑ บาท พอหลอมเสร็จเทออกมาจากเบ้าทิ้งไว้ให้เย็น เอาขึ้นทั่งแล้วก็เอาฆ้อนตีแผ่ออกเป็นแผ่นบาง แล้วก็เอาลงหลอมดูใหม่แล้วก็เอามาตีแผ่ดูอีก เข้าใจว่า หลวงพ่อคงตรวจตราพิจารณาดูว่าจะเป็นทองคำได้จริงหรือไม่ แล้วก็เอาลงเบ้าหลอมดูอีกและเทออกจากเบ้าทิ้งไว้ให้เย็นเป็นก้อนค่อนข้างกลม แล้วหลวงพ่อก็หยุดไปนั่งพักเฉยอยู่บนอาสนะเป็นเชิงตรึกตรอง ไม่พูดจาว่ากระไร บรรดาศิษย์ต่างก็หยิบมาดูกันคนละทีสองทีแล้วคนนั้นก็ขอ คนนี้ก็ขอ
สักครู่หลวงพ่อก็ลุกเดินมาหยิบทองก้อนนั้นขึ้นไปถือกำไว้ในอุ้งมือแล้วก็เอามือไขว้หลังเดินไปบนคันสระลูกใหญ่ในวัดหนองโพ เอามือที่ถือก้อนทองเดาะเล่นกับอุ้งมือ ๒ - ๓ ครั้ง แล้วก็ขว้างก้อนทองนั้นลงสระน้ำไป พอเดินกลับมาถึงที่ถลุงทอง หลวงพ่อก็หยิบฆ้อนทุบเตา ทุบเบ้าถลุงแตกหมด แล้วก็เลิกเล่นเลิกทำแต่วันนั้นมา
รับสมณศักดิ์
ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ เมื่อพระครูพยุหานุศาสก์ (สิทธิ์) วัดบ้านบน เจ้าคณะแขวงอำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ มรณภาพลง เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ ศ. ๒๔๕๗ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ “ให้เจ้าอธิการเดิม วัดหนองโพ เป็นพระครูนิวาสธรรมขันธ์ รองเจ้าคณะแขวงเมืองนครสวรรค์) (๓) เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ เนื่องในงานเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ ๖ เวลานั้นหลวงพ่อมีอายุได้ ๕๕ ปี และมีพรรษา ๓๔ พรรษา ทั้งนี้ย่อมนำความปีติมาให้แก่บรรดาศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อเป็นอันมาก แต่ก็ยังพากันเรียกท่านด้วยความเคารพนับถือทั้งต่อหน้าและลับหลังว่าหลวงพ่อ อยู่อย่างนั้น เว้นแต่ศิษย์รุ่นผู้ใหญ่ จึงมักใช้สรรพนามเรียกหลวงพ่อว่า “ทาน” ส่วนประชาชนทั่วไปนั้นคงรู้จักกันแพร่หลาย โดยนามว่า “หลวงพ่อเดิม”
ต่อมาทางการคณะสงฆ์ได้แต่งตั้งหลวงพ่อเป็นเจ้าคณะแขวงอำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ และหลวงพ่อได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌายะ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ หลวงพ่อก็ได้ปฏิบัติศาสนกิจ ในหน้าที่นั้นมาด้วยความเรียบร้อยตลอดเวลากว่า ๒๐ ปี เมื่อท่านล่วงเข้าวัยชรามากแล้ว ทางการคณะสงฆ์จึงได้เลื่อนหลวงพ่อขึ้นเป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์
สร้างถาวรวัตถุในวัด
ศาลาการเปรียญหลังแรก หลวงพ่อเดิมสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔
หลวงพ่อมีนิสัยและมีฝีมือในการสร้าง ซึ่งหลวงพ่อได้ก่อสร้างสิ่งที่เป็นถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนา และที่เป็นสาธารณประโยชน์อื่นๆ ไว้มากมาย เมื่ออุปสมบทแล้วมาอยู่จำพรรษาในวัดหนองโพ ในพรรษาแรก ๆ นั้น หลวงพ่อก็เริ่มสร้างศาลาการเปรียญขึ้นในวัดหนองโพ แล้วเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ หลวงพ่อก็ปฏิสังขรณ์แก้ขยายขึ้นจากหลังที่หลวงพ่อสร้างไว้แต่ก่อนนั้นอีก
ก่อนหน้านั้น เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๓๕ หลวงพ่อได้สร้างกุฏิขึ้นใหม่ในวัดหลังหนึ่งเป็นกุฏิหลังแรกที่ใช้ฝาไม้กระดาน และชื้อมาจากบ้านบางไก่เถื่อน (ตำบลบ้านตลุก อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท) เมื่อสร้างศาลาและกุฏิขึ้นใหม่ในวัดหนองโพครั้งนั้นบรรดาท่านผู้เฒ่าผู้แก่ปู่ย่าตายายของชาวบ้านหนองโพซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยนั้น ต่างออกปากชมกันว่า “ท่านองค์นี้ไม่ใช่ใครอื่นแล้ว คือหลวงพ่อเฒ่าเจ้าของวัดของท่านมาเกิด”
ศาลาการเปรียญหลังแรก หลวงพ่อเดิมสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔
นอกจากศาลาการเปรียญและหมู่กุฏิ หลวงพ่อได้ร่วมกับทายกทายิกาชาวบ้าน สร้างโรงอุโบสถขึ้นในที่โรงอุโบสถเดิม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ และในคราวเดียวกันได้สร้างพระเจดีย์ ๓ องค์ มีกำแพงแก้วล้อมรอบไว้ตรงหน้าโรงพระอุโบสถด้วย
นิสัยชอบก่อสร้างของหลวงพ่อนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นชีวิตจิตใจของหลวงพ่อติดต่อมาจนตลอดชีวิตโดยเหตุที่วัดวาอารามตามท้องถิ่นในสมัยนั้น มักมีแต่กุฏิสงฆ์และมีแต่ศาลาดิน คือใช้พื้นดินนั้นเองเป็นพื้นศาลา หลังคาก็มุงแฝก ไม่มีโบสถ์ หลวงพ่อจึงสร้างศาลาการเปรียญ เป็นศาลายกพื้น หลังคามุงกระเบื้อง และสร้างโรงอุโบสถก่ออิฐถือปูนและคอนกรีต ขึ้นเป็นถาวรวัตถุของวัด
โบสถ์และศาลาการเปรียญที่หลวงพ่อสร้างขึ้น มักจะกว้างขวางใหญ่โตสำหรับท้องถิ่น จึงต้องใช้เงินทองและสิ่งของเครื่องใช้ในการก่อสร้างมาก วัตถุปัจจัยหรือเงินทองที่มีผู้ถวายหลวงพ่อ
เนื่องในกิจนิมนต์ก็ดี หรือถวายด้วยมีศรัทธาเลื่อมใสในตัวหลวงพ่อเองก็ดี หลวงพ่อมิได้เก็บสะสมไว้ หากแต่ได้ใช้จ่ายไปในการทำสาธารณประโยชน์และใช้เป็นทุนรอนในการก่อสร้างถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนาและสถานศึกษาเล่าเรียน จนหมดสิ้น
เห็นจะเป็นเพราะเหตุนี้ และเนื่องจากกิตติคุณทางวิทยาอาคมของหลวงพ่อด้วย จึงมักมีพวกทายกทายิกาช่วยกันเรี่ยไรรวบรวมทุนถวายให้หลวงพ่อทำการก่อสร้างอยู่เนือง ๆ วัดในตำบลใด ต้องการจะสร้างหรือปฏิสังขรณ์โบสถ์วิหารหรือศาลาการเปรียญ ขึ้นเป็นถาวรวัตถุในวัด หรือเริ่มก่อสร้างปฏิสังขรณ์กันไว้แล้ว แต่ทำไม่เสร็จ เพราะขาดช่างและขาดทุนรอน ขาวบ้านสมภารวัดในตำบลนั้นๆ ก็มักพากันมานิมนต์หลวงพ่อ ให้ไปช่วยอำนวยการสร้าง หรือไปเป็นประธานในงานก่อสร้างปฏิสังขรณ์ หลวงพ่อก็ยินดีไปตามคำนิมนต์
และมิใช่แต่จะไปบงการให้คนอื่นทำเท่านั้น แต่หลวงพ่อได้ลงมือทำด้วยตนเองด้วย เช่น ถ้าเป็นเครื่องไม้ก็ลงมือกะตัวไม้ และถากไม้ฟันไม้ เลื่อยไม้ ด้วยตนเอง ถ้าเป็นเครื่องปูน ก็ลงมือตัดและผูกเหล็กโครงร่าง และผสมทรายผสมปูนเทหล่อด้วยตนเอง จนเป็นเหตุให้คนอื่นนั่งเฉยอยู่ไม่ได้ ทั้งชาวบ้านและชาววัดต่างก็พากันลงมือทำงานช่วยหลวงพ่อ บางรายหลวงพ่อก็ทำตั้งแต่ตัดไม้ ชักลาก ทำอิฐและเผาอิฐ เผาปูนมาทีเดียว ยิ่งเป็นการก่อสร้างในบ้านป่าขาดอนซึ่งห่างไกลเส้นทางคมนาคม กำลังผู้คนและพาหนะก็เป็นของจำเป็นยิ่งนัก แต่หลวงพ่อก็จัดสร้างให้สำเร็จจนได้
คิดดูก็เป็นของน่าประหลาด ดูหลวงพ่อช่างมีอภินิหารในการก่อสร้างเสียจริง ๆ โบสถ์วิหารหรือศาลาการเปรียญ ที่หลวงพ่อไปอำนวยการก่อสร้างปฏิสังขรณ์ หรือไปเป็นประธานในงานก่อสร้างหรือปฏิสังขรณ์นั้นๆ ย่อมสำเร็จเรียบร้อยทุกแห่ง ทุนรอนที่ขาดอยู่มากน้อยเท่าใด ก็มักมีผู้ศรัทธาบริจาคถวายให้จนครบ หรือบางแห่งบางรายก็เกินกว่าจำนวนที่ต้องการเสียอีก เมื่อเห็นมีคนชอบเอาเงินทองมาถวายหลวงพ่อเนือง ๆ และบางรายก็ถวายไว้มาก ๆ เสียด้วย
ผู้เขียนเคยกราบเรียนถามว่า “หลวงพ่อทำอย่างไรจึงมีคนชอบนำเงินมาถวายเนือง ๆ ?”
หลวงพ่อก็ยิ้มแล้วตอบว่า “ก็เราไม่เอานะสิ เขาจึงชอบให้ ถ้าเราอยากได้ใครเขาจะให้”
บรรดาศิษย์รุ่นเก่า ซึ่งเคยติดลอยห้อยตามหลวงพ่อมาหลายสิบปี เช่น นายยิ้ม ศรีเดช มรรคนายกวัดหนองโพ ซึ่งเวลานั้นมีอายุกว่า ๘๐ ปี (บัดนี้ล่วงลับไปแล้ว) เคยปรารภว่า “เงินทองสัมผัสแต่เพียงตาของหลวงพ่อ ไม่กระทบเข้าไปถึงใจ”
เงินทองที่มีผู้ถวายมากมายเท่าใดหลวงพ่อก็ใช้จ่ายไปในการก่อสร้างและทำสิ่งสาธารณประโยชน์ หมดสิ้น
สิ่งก่อสร้างที่หลวงพ่ออำนวยการสร้าง หรือเป็นประธานในการก่อสร้าง และมีถาวรวัตถุเป็นพยานให้เห็นมากมายหลายแห่ง จนหลวงพ่อเองก็จำสถานที่และลำดับรายการไม่ได้ นอกจากจะมีใครถามขึ้น บางทีหลวงพ่อก็นึกได้สิ่งก่อสร้างและถาวรวัตถุที่หลวงพ่อสร้างขึ้นนี้ เห็นได้ว่าหลวงพ่อได้สร้างความเจริญให้เกิดขึ้นแก่ท้องถิ่นเหล่านั้น เพราะเท่ากับทำบ้านและตำบลนั้น ๆ ให้ตั้งอยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง และมีถาวรวัตถุเป็นหลักฐานของหมู่บ้าน ซึ่งจะเป็นพยานยั่งยืนมั่นคงไปชั่วกาลนาน