ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
๗ กันยายน ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
ใช้เวลาเกือบทั้งวันอยู่บนรถ ออกจากภูเขียว จ.ชัยภูมิ ตอนตีสี่
กลับถึงวัดทุ่งเว้าใกล้ค่ำ ๑๘.๓๐ น. สรงน้ำแล้วเขียนบทความ บทกวี จดบันทึก
เปิดดูข้อมูลข่าวสาร ประมาณห้าทุ่มกว่าๆ ก็จำวัตรพักผ่อน นอนพิจารนาดูกาย ดูจิต
จนหลับไป เพราะว่านั่งรถมาพันกว่ากิโล ร่างกายมันเพลีย เลยต้องจำวัตรเร็วกว่าปกติ
ตื่นมาตอนตีสามกว่าๆ ไหว้พระสวดมนต์บนศาลาที่พัก นั่งสมาะฺภาวนาต่อจนฟ้าสว่าง
ไม่ได้ออกไปบิณฑบาตร เพราะบอกปิดสายบิณฑบาตรไว้ ตอนไปงานศพที่ภูเขียว
มีญาติโยมลงมาทำกับข้าวถวายในตอนเช้าตามปกติ
.....รอยธรรม.....
การฝึกภาวนาท่ามกลางความวุ่นวายนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่ถ้าเรา
สามารถฝึกได้ สมาธินั้นจะมั่นคงกว่าการที่เราไปฝึกอยู่ในป่า หรือในที่เงียบสงบผู้เดียว
เพราะว่ามันได้ผ่านการทดสอบอยู่ตลอดเวลา สิ่งกระทบมันมากกว่าการที่อยู่ผู้เดียว
แต่สำหรับผู้ฝึกใหม่ๆนั้น จำเป็นที่จะต้องฝึกพื้นฐานสมาธิในที่ ที่มีความสงบเสียก่อน
เมื่อจิตมันลงฐานแล้ว จึงค่อยออกมาทดสอบจิต ว่ามีความมั่นคงเพีียงใด กับสิ่งกระทบ
ทั้งหลายในที่ ที่มันวุ่นวาย ว่าเราสามารถที่จะทรงอารมณ์สมาธิ มีสติอยู่ได้ตลอดหรือไม่
ทำอย่างนี้สลับไป สลับมา จนจิตนั้นแก่กล้าต่อสิ่งกระทบได้แล้ว จึงออกมาอยู่ในที่ ที่วุ่นวาย
สมัยบวชและปฏิบัติใหม่ๆนั้น ทุกปีจะออกไปอยู่ผู้เดียว ตามถ้ำ ตามเกาะ เพื่อฝึกจิตเจริญภาวนา
ประมาณครั้งละหกเดือน ตั้งแต่หลังรับกฐินแล้ว และจะกลับเข้าวัดมาช่วยงานหลวงพ่อจนออกพรรษา
ใช้เวลาทำอย่างนั้นมาประมาณสิบปี จนมีความมั่นใจแล้วว่าเราทนต่อสิ่งกระทบได้ จึงออกมาเปิดตัว
สร้างวัดและสงเคราะห์ญาติโยม สิ่งที่รู้ที่เห็นอันเกิดจากการปฏิบัติธรรมนั้น เราอย่าได้รีบด่วนสรุปว่า
รู้แล้ว เข้าใจแล้ว เพราะสิ่งที่เรารู้และเราเห็นในขณะนี้นั้น มันเป็นความเหมาะสมของกำลังสติ กำลังสมาธิ
ที่เรากำลังเป็นอยู่ เมื่อเราปฏิบัติต่อไป กำลังของสติ กำลังของสมาธิก็จะเพิ่มขึ้น การพิจารณาก็จะมากขึ้น
ไปตามลำดับ สิ่งที่จะรู้และจะเห็นมันก็จะชัดเจนและละเอียดมากขึ้นไปอีก ฉะนั้นจึงอย่าได้รีบด่วนสรุป
หรือไปฟันธงว่า มันต้องเป็นอย่างนั้น มันต้องเป็นอย่างนี้ ผู้ที่สามารถจะชี้ชัดฟันธงได้นั้นมีเพียงพระพุทธเจ้า
เพียงผู้เดียวเท่านั้น ฉะนั้นเราจึงต้องเตือนสติตัวเราอยู่ตลอดเวลาไม่ให้หลงสติไปยึดถือในสิ่งที่รู้และเห็นจนเกินไป
และเมื่อรู้อะไร เห็นอะไร ให้เราเอาไปเทียบกับหลักธรรม ว่าตรงกันหรือไม่ และถ้าไม่ตรงกับหลักธรรมก็อย่าไปพยายาม
ตีความหลักธรรมให้มาตรง มารองรับความเห็นของเรา เราต้องกลับมาดูที่ตัวเรา การปฏิบัติของเรา ว่ามันคลาดเคลื่อน
ไปจากหลักธรรมตอนไหน ตรงไหน ให้มาปรับที่ตัวเรา อย่าไปปรับที่หลักธรรม ซึ่งถ้าเราทำอย่างนั้นได้ก็จะทำให้ไม่หลงทาง....
.....รอยกวี.....
สัญจร ร่อนเร่มา ผ่านร้อยป่า และภูดอย
ฝึกฝน ทนรอคอย ไม่ท้อถอย ความหมั่นเพียร
ฝึกฝน สมถะ ลดมานะ ที่เบียดเบียน
บันทึก และขีดเขียน เป็นบทเรียน สำหรับตน
เตือนตน เตือนสติ ลดทิฏฐิ ลดกังวล
ค้นหา ซึ่งเหตุผล หาตัวตน ที่เกิดมา
ลองถูก และลองผิด ก็ด้วยจิต แสวงหา
เจริญ ภาวนา ตามตำรา ที่เล่าเรียน
กรรมฐาน ทั้งสี่สิบ ก็ได้หยิบ มาพากเพียร
เอามา เป็นบทเรียน ทำซ้ำเวียน ในทุกกอง
รู้กาย และรู้จิต รู้ถูกผิด ด้วยทดลอง
มีธรรม นั้นคุ้มครอง ไม่เศร้าหมอง ครองจิตดี
ให้จิต เป็นกุศล คุ้มครองตน ไปทุกที่
กายดี และจิตดี ก็ไม่มี สิ่งกังวล
รักษา ธรรมวินัย ให้เป็นไป ตามเหตุผล
สงเคราะห์ ต่อชุมชน ช่วยเหลือคน ตามเหตุการณ์
เรียนรู้ ในทุกศาสตร์ ไม่ประมาท จนชำนาญ
เพราะคิด ว่าคืองาน และเป็นการ ประพฤติธรรม
ทำงาน ทุกชนิด ทำด้วยจิต สตินำ
ธรรมะ ก็คือทำ ที่น้อมนำ กุศลมา
อย่าเคร่ง มันจะเครียด เป็นการเบียด เบียนกายา
เคร่งไป ไม่ก้าวหน้า เพราะจะพา ให้หลงทาง
หย่อนไป ก็ไม่ดี เพราะมันมี ซึ่งแบบอย่าง
จงเดิน ในสายกลาง ทำทุกอย่าง ให้พอดี...
..............................
ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๗ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๕.๕๖ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย