ศรัทธาในการปฏิบัติธรรมของญาติโยม
ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
๒๙ กันยายน ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
ตื่นนอนเวลาประมาณตีสามกว่าๆทำกิจวัตรตามปกติ ไหว้พระสวดมนต์
นั่งสมาธิเจริญสติภาวนา แผ่เมตตา อธิษฐานจิต จนถึงสว่างอารมณ์แต่ยังมีธรรมยังค้างอยู่
เกิดความเบื่อหน่าย ไม่อยากที่จะทำอะไร จึงได้นั่งพิจารณาจิตเพื่อค้นหาที่มาของความ
เบื่อหน่ายที่เป็นอยู่ หาเหตุที่เกิดของอารมณ์นั้น นั่งพิจารณาจนเข้าใจถึงที่มาของอารมณ์นั้น
ตั้งแต่เช้ามืดจนเกือบถึงเที่ยง ไม่ได้ลงไปทำกิจไหว้พระสวดมนต์ ทำวัตรเช้าและฉันภัตราหาร
ใกล้เที่ยงจึงได้ฉันเพล ตอนบ่ายลงไปดูพระและพวกฝีพายที่ช่วยกันแก้ไขรถพ่วงบรรทุกเรือยาว
ลงไปให้คำแนะนำปรับปรุงแก้ไขแก่พวกเขา เสร็จแล้วไปดูช่างทำมุ้งลวดที่เขามาวัดและประเมิน
ราคาค่าติดมุ้งลวดที่กุฏิรับรอง ตกลงราคาและจ่ายเงินกัน กลับขึ้นที่พักเปิดดูเวปบอร์ดตอบปัญหา
ที่มีญาติโยมถามมา พิจารณาปฏิบัติธรรมต่อ เพลิดเพลินในธรรมจนเลยเวลา ไม่ได้ลงไปทำวัตรสวดมนต์
ร่วมกับพระที่อยู่ด้วยกัน เลยทำวัตรสวดมนต์ปฏิบัติธรรมต่อบนศาลาที่พัก จนสมควรแก่เวลาจึงได้จำวัตร
.....รอยธรรม.....
เจริญสติพิจารณาธรรมตามแนวของมหาสติปัฏฐาน ๔ พิจารณาใน กาย เวทนา จิต ธรรม
เห็นการเกิดดับของรูปนามตามแนวของสติปัฏฐาน ๔ แยกรูปนามออกจากกัน รู้เหตุและผลของรูปนาม
เห็นความเป็นพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของรูปนาม เห็นความเกิดดับของรูปนาม เห็นความ
ดับไปของรูปนาม เห็นรูปนามเป็นของน่ากลัว เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม
แล้วเกิดความเบื่อหน่าย เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนามแล้วเกิดความเบื่อหน่ายแล้วอยากหลุดออกจากรูปนาม
เห็นที่มาของอารมณ์ความเบื่อหน่ายที่เรียกว่า " นิพพิทาญาณ " รักษาทรงไว้ซึ่งอารมณ์ธรรมตามกำลังของ
สติ ปัญญาและศรัทธาที่มีเท่าที่จะทรงอารมณ์ไว้ได้ น้อมระลึกนึกถงหลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้...
...ความไม่ประมาทเป็นคุณธรรมของนักปฏิบัติ...
ความไม่ประมาทพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้มีอยู่ ๔ ประการ
๑.ไม่มีความอาฆาตใคร
๒.มีสติอยู่ทุกเมื่อ
๓.มีสมาธิอยู่ภายใน
๔.บรรเทาความอยากในจิตใจ
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า " บุคคลผู้ใด ได้มีคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ บุคคลผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในคำสอนของเราตลอดกาล "
" ปิฏกํ พุทฺธวจนํ อาหริตฺตวา กถิยมานํ อุปฺปมาทํ โอตรติ "
" พระไตรปิฏกทั้งหมดทั้งสิ้น อันพระธรรมกถึกได้เทศนาสั่งสอนนั้น ก็รวมลงอยู่ในที่ความมีสติอย่างเดียว "
.....รอยกวี.....
เสียศูนย์ ฤาฉัน สูญเสีย
ฉันเหนื่อย ฉันเพลีย ไฉน
ฉันพ่าย ฉันแพ้ หรือไร
จึงได้ เบื่อหน่าย ขึ้นมา
ทบทวน ดูกาย ดูจิต
ค้นคิด สืบเสาะ ค้นหา
ถึงเหตุ ที่เกิด ขึ้นมา
เพื่อหา ต้นตอ อารมณ์
เห็นทุกข์ เห็นภัย เห็นโทษ
ประโยชน์ และความ เหมาะสม
แยกรูป แยกนาม อารมณ์
ผสม ตั้งอยู่ ดับไป
เข้าใจ ในพระ ไตรลักษณ์
รู้หลัก เปลี่ยนจิต คิดใหม่
รูปนาม ดำเนิน ต่อไป
เข้าใจ ที่มา อารมณ์
เบื่อหน่าย เพราะเห็น เกิดดับ
สลับ กับความ เหมาะสม
ตามดู รู้ตาม อารมณ์
สั่งสม อารมณ์ แห่งธรรม
รักษา ดำรงค์ ทรงไว้
ให้ใจ ไม่ให้ ใฝ่ต่ำ
ไม่ให้ ความชั่ว ครอบงำ
น้อมนำ ธรรมมา คุ้มครอง
ให้จิต อยู่กับ กุศล
ส่งผล ให้ใจ ไม่หมอง
ใคร่ครวญ ดำริ ตริตรอง
และมอง ทุกอย่าง เป็นธรรม
รวมลง ตรงที่ สติ
เริ่มริ ก็ใจ สุขล้ำ
คิดดี คิดชอบ แล้วทำ
น้อมนำ สุขใจ ในธรรม....
ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๒๙ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๐๘.๒๙ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย