ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
๗ ตุลาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
อากาศอุ่นขึ้นมาเล็กน้อย อุณหภูิมิเพิ่มขึ้นเป็น ๒๑ องศา ร่างกายเริ่มปรับสภาพได้
ตื่นนอนตามเวลาปกติ ทำกิจวัตรอย่างที่เคยทำมาเช่นทุกวัน ตอนสายๆลงไปดูพระท่านซ่อมเรือหางยาว
ให้คำแนะนำและชี้แนะเรืองการเข้าไม้ เสร็จแล้วกลับขึ้นศาลาที่พัก นั่งสมาธิเจริญจิตตภาวนา แผ่เมตตา
อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก " วีรชน ๖ ตุลา ๑๙ " เนื่องในวาระครบรอบ ๓๓ ปี แห่งเหตุการณ์นองเลือด
ที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และท้องสนามหลวง ซึ่งในครั้งนั้นตัวเราเองได้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์
" อดีตที่เป็นบทเรียน " ช่วงหนึ่งของชีวิตกับแนวความคิดทางการเมือง เพราะช่วงชีวิตเติบโตมาในยุคของ
การแสวงหา การศึกษาลัทธิการเมืองแบบต่างๆ การเรียกร้องประชาธิปไตยที่มาจากใจที่บริสุทธิ์ เกิดจาก
จิตสำนึกต่อสังคม การเรียกร้องความเป็นธรรมทั้งหลาย ซึ่งใช้วิธี " อหิงสา " ใช้พลังแห่งความสามัคคี
ไม่มีการใช้ความรุนแรง มองดูยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ที่มีผลประโยชน์เข้ามาแอบแฝง การใช้ความรุนแรง
ในการชุมนุมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแตกต่างกันกับในอดีต คนรุ่นใหม่ชอบใช้ความรุนแรงและมีผลประโยชน์
เข้ามาแอบแฝง ไม่ใช่การชุมนุมเรียกร้องที่เกิดจากจิตสำนึก จิตอาสา แต่เป็นการเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์
ของตนเองและพวกพ้อง เป็นการเรียกร้องเพื่อตนเอง เพราะแกนนำในการชุมนุมเกือบทุกคนนั้น เรารู้ประวัติ
และแนวความคิดของพวกเขาดี ว่ามีที่มาของแต่ละคนเป็นอย่างไร เพราะหลายคนเคยได้ร่วมงานกันมาในอดีต
จึงได้แต่ทำใจ สงสารประเทศไทย ประชาชนยังถูกหลอกใช้เป็นเครื่องมืออยู่เช่นเดิม....นั่งทบทวนเรื่องราวใน
อดีต แผ่เมตตา อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ทุกคนที่ต้องสังเวยชีวิตในการชุมนุมที่ผ่านมา ตอนเย็นจึงลงไปกวาด
ศาลา วิหาร ลานวัด ปฏิบัติอย่างที่เคยทำมา จนได้เวลาทำกิจในภาคค่ำ กลับขึ้นศาลาที่พัก ไหว้พระสวดมนต์
ทำวัตรเย็น ปฏิบัติธรรมตามที่เคยทำมา สมควรแก่เวลาจึงได้จำวัตรพักผ่อน..
.....รอยธรรม.....
การเรียกร้องทั้งหลายนั้นคือ " ตัณหา " คือความอยากจะได้มา อยากจะให้เป็น ตามที่ตนเอง
นั้นต้องการ เป็นเรื่องของอัตตา มานะทิฏฐิ ความอยากที่จะจัดระเบียบสังคม แต่ลืมจัดระเบียบตนเอง เรียกร้องให้
ผู้อื่นทำตามที่ตนอยากจะให้เป็น แต่ไม่เคยเรียกร้องตนเอง เป็นเพราะว่าขาดการเอาหลักธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิต
ความเป็นมิจฉาทิฏฐิ คิดโดยเอาอัตตาของตนมาเป็นที่ตั้ง บางคนนั้นรู้ธรรม เห็นธรรม เข้าใจธรรม แต่ไม่เคยที่จะเอามาทำ
จึงไม่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ เพราะไม่ได้อยู่กับธรรม เพียงแต่จำได้ พูดได้ แต่ไม่ได้ทำ สังคมจึงสับสนวุ่นวาย มากมายด้วยปัญหา
เกิดจากอัตตา " ตัวกูและของกู " คิดถึงคำของหลวงพ่อพุทธทาส แห่งสวนโมกข์ ที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า ..." เมื่อศีลธรรมไม่กลับมา
โลกาจะวินาศ " ซึ่งสังคมไทยในทุกวันนี้ใกล้จะถึงจุดนั้นแล้ว ถ้าเราหันมาดูกาย ดูจิต ดูความคิดและการกระทำของตนเอง
รู้จักควบคุมความอยากทั้งหลายของตนเอง รู้จักความพอดีพอเพียงในการเลี้ยงชีวิต มีจิตสำนึกแห่งคุณธรรม ปัญหาทั้งหลาย
ก็จะคลี่คลายลง ถ้าเรารู้จักควบคุมตนเอง....
.....รอยกวี....
อดีต คือบทเรียน
นำมาเขียน เพื่อเล่าขาน
บอกเล่า ถึงตำนาน
บอกเหตุการณ์ ที่ผ่านมา
ผ่านร้อน และผ่านหนาว
หลายเรื่องราว มาหนักหนา
ผ่านกาล ผ่านเวลา
จึงนำมา เล่าให้ฟัง
เมื่อคิด และใคร่ครวญ
ได้ทบทวน ถึงความหลัง
เคยผิด เคยพลาดพลั้ง
เคยสิ้นหวัง สิ้นศรัทธา
เคยเขียน บทกวี
ในยุคที่ แสวงหา
บอกเล่า เรื่องผ่านมา
ให้รู้ว่า เป็นเช่นไร....
เสียศุนย์ หรือฉัน สูญเสีย
ฉันเหนื่อย ฉันเพลีย ไฉน
ฉันพ่าย ฉันแพ้ หรือไร
หวังไว้ ไม่สม ซมซาน
หวังคิด จะสร้าง โลกใหม่
ด้วยใจ ฮึกเหิม ห้าวหาญ
มุ่งมั่น มากด้วย อุดมการณ์
สร้างงาน ด้วยแรง ศรัทธา
ชุมนุม เรียกร้อง ต่อสู้
เคียงคู่ ผู้มี ปัญหา
กรรมกร ชาวไร่ ชาวนา
ร้องหา ซึ่งความ เป็นธรรม
ความคิด และจิต อาสา
นำมา ซึ่งความ ชอกช้ำ
ก้าวเดิน สู่ความ มืดดำ
ถลำ เข้าสู่ วังวน
การเมือง คือเรื่อง ตัณหา
อัตตา นั้นคือ เหตุผล
แอบอ้าง ว่าเพื่อ ประชาชน
แต่ตน ได้ผล ตอบแทน....
การเมือง ไม่มี มิตรแท้
ผันแปร ไม่เป็น ปึกแผ่น
มุ่งหวัง เพียงสิ่ง ตอบแทน
ทั่วแดน ต่างรู้ กันดี....
นี่คือ นิยาม การเมือง
เป็นเรื่อง เกิดได้ ทุกที่
เพราะว่า ศีลธรรม ไม่มี
โลกนี้ จึงได้ วุ่นวาย
เกิดจาก กิเลส ตัณหา
อัตตา ความอยาก ทั้งหลาย
ความอยาก ที่มี มากมาย
สุดท้าย ไม่พ้น เวรกรรม
ใครทำ ก็ต้อง ชดใช้
ทำให้ ชีวิต ตกต่ำ
กิเลส ที่เข้า ครอบงำ
เรื่องกรรม ไม่อาจ ต่อรอง
ทำดี ดีนั้น ส่งเสริม
ต่อเติม ไม่มี หม่นหมอง
ชีวิต ไปตาม ครรลอง
คุ้มครอง ชีวิต ด้วยธรรม....
ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๗ ตุลาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๓๐ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย