ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
ตื่นนอนตามเวลาปกติ ไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเช้า นั่งสมาธิ อธิษฐานจิต แผ่เมตตา
เจริญจิตตภาวนา จนสมควรแก่เวลา จึงได้วันทาลาพระ ลงไปกวาดวิหารลาดวัด ปฏิบัติกิจอย่างที่เคยทำมา
ตอนสายๆลงไปทาสีเรือด้านใน ใช้เวลาไปสามชั่วโมงกว่าๆจึงจะทาสีเสร็จ กลับที่พักฉันกาแฟ ทบทวนมนต์
ตอนบ่ายลงไปดูงานการก่อสร้างที่เก็บน้ำในสวนป่า สั่งซื้อวัสดุมาเพิ่ม มีสมาชิกในเวปบอร์ดบางพระมาเยี่ยม
นั่งสนทนากัน แจกวัตถุมงคล สักน้ำมัน สนทนาธรรมให้แนวคิดในการดำเนินชีวิต อธิบายตอบปัญหาข้อสงสัย
จนเป็นที่เข้าใจระดับหนึ่ง คุยกันถึงเวลา ๑๖.๓๐ น. โยมจึงลากลับเพื่อเดินทางต่อไปทีนครพนม ลงไปดูพวก
ฝีพายที่มาซ้อมเรือกันที่ท่าน้ำ เสร็จแล้วกลับขึ้นศาลาเพื่อไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเย็น ตามเวลาปกติที่เคยทำ
ทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว มานั่งทวนบทสวดบุพรกิจแห่งปวารณา เพราะใกล้จะออกพรรษาแล้ว ต้องใช้สวดในวัน
ปวารณาออกพรรษา ซึ่งปีหนึ่งนั้นจะใช้สวดครั้งเดียวในวันปวารณาออกพรรษา ทิ้งมาเกือบปี จึงต้องมาทวนใหม่
เพื่อให้สวดคล่องไม่ผิดและติดขัด จนได้เวลาจึงได้จำวัตรพักผ่อน
.....รอยธรรม.....
มีผู้สอบถามกันมามากในเรื่องการปฏิบัติธรรม " การเพ่งกสิน " และได้อธิบายขยายความ
ตอบคำถามข้อสงสัยนั้นมาหลายครั้งแล้ว แต่เป็นการตอบคำถามที่เป็นข้อความส่วนตัว ไม่ได้นำมาโพสต์ลงไว้
จึงยังมีผู้สงสัยและถามมาอยู่เสมอ จึงขออธิบายขยายความให้เป็นที่รู้และเข้าใจในการปฏิบัติเรื่อง " การเพ่งกสิน "
การเพ่งกสินนั้นเป็นกรรมฐานหมวดหนึ่ง ในกรรมฐาน ๔๐ ซึ่งตามตำรานั้นแบ่งออกเป็น ๑๐ กอง เป็นเรื่องธาตุและสี
ซึ่งเป็นวิธีที่เอาสติและจิตไปจับอยู่กับภาพนิมิต ให้ติดตาและติดใจ จนเห็นภาพนิมิตนั้นชัดเจนด้วยตาใน เห็นด้วยใจ
และในการปฏิบัติจริงนั้น เราสามารถที่จะเอาภาพอะไรก็ได้มาเป็นภาพนิมิต ที่จะให้จิตนั้นไปเพ่งอยู่ แต่สิ่งที่จะเอามา
เป็นภาพนิมิตนั้น เราต้องมีความชอบความพึงพอใจชื่นชมในภาพนั้น เพราะเมื่อเราระลึกนึกถึงมันจะเห็นภาพนั้นชัดเจน
ภาพอะไรก็ได้ที่เราชอบ เราชื่นชม เราพึงพอใจ เช่นภาพครูบาอาจารย์ ภาพดอกไม้ ภาพวัตถุมงคล ภาพอะไรก็ได้ที่ใจ
เรานั้นชอบ เราสามารถที่จะเอามาเป็นนิมิตได้ทั้งหมด ระลึกนึกคิดเอาจิตไปจับอยู่กับภาพนั้น จนปรากฏภาพนั้นขึ้นชัดเจน
แจ่มชัด จนสามารถที่จะบังคับภาพนิมิตนั้นได้ ขยายให้ใหญ่ ย่อให้เล็ก เปลี่ยนรูปทรงของภาพนิมิตนั้นได้ การกระทำอย่างนี้
เรียกว่าจิตลงฐานแล้ว จิตเป็นสมาธิแล้ว ขั้นต่อไปนั้นผู้ปฏิบัติก็ต้องปรับจิต ปรับนิมิตนั้นเสียใหม่ โดยเปลี่ยนไปสู่ภาพนิมิตแห่ง
กสิน ๑๐ คือสีต่างๆ ธาตุต่างๆ ไล่เรียงไปตามที่เรามีความชอบ ความพึงพอใจ เราก็จะเข้าอารมณ์สมาธิได้ในกสินทั้ง ๑๐ กอง
แต่ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นของผู้ที่ฝึกกสินนั้น คือการหลงอารมณ์ ทำให้เกิดความเพี้ยน จิตวิปลาส ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีสาเหตุมาจาก
เจตนาดำริ การริเริ่มที่ผิดพลาด ที่เรียกว่า " ความปรารถนาลามก " คือเจตนาในการฝึกนั้นมันไม่บริสุทธิ์ คือความต้องการฝึกเพื่อ
ความอยากจะได้ฤทธิ์ อยากเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ อยากเป็นผู้วิเศษ อยากจะให้คนมาเคารพนับถือ อยากจะได้มาซึ่งเอกลาภจากการฝึกนั้น
มันจึงเกิดความหลงอารมณ์ เพราะจิตมันไปปรุงแต่งในความอยากเหล่านั้น เพราะในช่วงที่จิตกำลังเปลี่ยนอารมณ์สมาธินั้น มันจะมี
ช่องว่างระหว่างอารมณ์และในช่องว่างของอารมณ์นั้น ความรู้สึกนึกคิดที่อยู่ในจิตสำนกจะผุดขึ้น ซึ่งถ้าเป็นกุศลจิตก็จะเป็นนิมิตที่ดี
แต่ถ้าเป็นอกุศลจิต ความคิดที่ผิดทาง มันก็จะสร้างภาพนิมิตที่ไม่ดีผุดขึ้นมา ทำให้เกิด "สัญญาวิปลาส" ไม่สามารถที่จะควบคุมจิตได้
ทำให้ตกใจสติแตก หรือหลงไปกับภาพนิมิตจนคิดว่ามันเป็นเรื่องจริง จิตเข้าไปยึดถือและปรุงแต่งว่ามันเป็นเรื่องจริง และบางครั้งเพราะ
ความอยากที่จะได้อารมณ์กสินมากเกินไปนั้น ทำให้ผู้ปฏิบัติไปกดจิต กดดันตนเองมากจนเกินไป ทำให้ธาตุในกายไม่ปกติ ไม่สมดุลย์
ที่เรียกว่า " ธาตุแตก " ธาตุในกายไม่สัมพันธ์กัน " ธาตุน้ำแตก ธาตุไฟเข้าแทรก ธาตุลมกระจาย ธาตุดินสะลาย " จิตไม่สามารถที่จะ
ควบคุมได้ นั้นคืออันตรายของผู้ที่ฝึกกสินที่เกิดจากการตั้งเจตนาที่ผิด และการปฏิบัติที่ผิดขั้นตอน จึงขอฝากไว้ให้เป็นข้อคิด สำหรับผู้
ที่คิดจะปฏิบัติในแนวกสินนี้ พึงต้องระวังและต้องตั้งเจตนาในการปฏิบัติให้ถูกต้อง ซ่งเรื่องฤทธิ์เรื่องอภิญญานั้นมันเป็นเพียงผลพลอยได้
ไม่ใช่เป้าหมายของการปฏิบัติที่แท้จริง จิตที่นิ่ง จิตที่สงบ นันคือเป้าหมายของการปฏิบัติ....
.....รอยกวี.....
พรสวรรค์ นั้นมี แต่กำเนิด
เพราะว่าเกิด จากบุญ ที่สะสม
เพราะจิตนั้น ได้ผ่าน การอบรม
และสั่งสม สืบต่อ ปัจจุบัน
พรสวรรค์ อาจหายไป ถ้าไม่ต่อ
มัวแต่รอ วาสนา เฝ้าแต่ฝัน
ไม่สานต่อ ทำเพิ่ม เติมเต็มมัน
พรสวรรค์ ก็หมด หดหายไป
พรสวรรค์ นั้นแพ้ พรแสวง
เสาะหาแหล่ง เีรียนรู้ สู่สิ่งใหม่
พัฒนา ตนเอง ขึ้นเรื่อยไป
เพื่อจะได้ ฝึกฝน จนชำนาญ
ทุกสิ่งอย่าง มันยาก ตอนเริ่มต้น
เพราะทุกคน เพียงแต่คิด จิตไม่หาญ
เมื่อไม่ทำ ก็ไม่รู้ ไม่สู้งาน
ปล่อยให้ผ่าน เปล่าไป ไม่ได้ทำ
การฝึกฝน เริ่มต้น ตรงที่จิต
ต้องฝึกคิด ปลุกจิต ไม่คิดต่ำ
คิดให้ดี คิดให้ชอบ แล้วกระทำ
โดยการนำ ทำความคิด ให้เป็นจริง
ความคิดนั้น เป็นเพียง นามธรรม
ต้องน้ิอมนำ ทำไป ในทุกสิ่ง
ทำให้ดู ทำให้เห็น ให้เป็นจริง
อย่าเฉยนิ่ง ทำทุกสิ่ง เพื่อทางธรรม
เอาธรรมนั้น มานำทาง สร้างชีวิต
เพื่อนำจิต ออกจาก สิ่งตกต่ำ
ลดและละ ความชั่ว ที่ครอบงำ
เดินตามธรรม ตามทาง สร้างความดี
สร้างความดี ฝากไว้ ให้คนคิด
เป็นนิมิต ฝากไว้ ในทุกที่
เกิดเป็นคน ควรสร้าง เส้นทางดี
ชี้วิตนี้ เกิดมา ค่าคู่ควร.....
ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๖.๕๐ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย