ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
ช่วงนี้ยังเก็บตัวอยู่บนศาลา งดคลุกคลีกับหมู่คณะ ปฏิบัติกิจอยู่บนศาลาเป็นส่วนใหญ่
จะลงไปข้างล่างเฉพาะที่จำเป็น เช่นลงไปดูงานและสั่งงาน หรือลงไปกวาดวิหารลานวัด พระธาตุเจดีย์
เพราะช่วงนี้ใกล้จะออกพรรษา กิจวัตรการปฏิบัติของหมู่คณะบางท่านเริ่มจะหย่อน ขาดจิตสำนึกความรู้สึก
จิตอาสา ขาดจิตสาธารณะ เมื่อไม่มีใครทำเราก็ต้องทำเอง ไม่ไปเรียกร้องและร้องขอให้เขาทำให้เขาช่วย
เพราะมันเป็นเรื่องของจิตสำนึกต่อส่วนรวม ตื่นนอนและทำกิจวัตรอย่างที่เคยทำมาในภาคเช้า ตอนสายๆ
ลงไปซักผ้าจีวร สบง อังสะและเสื้อกันหนาวเพราะช่วงนี้อากาศเริ่มจะเย็นลงอีกแล้ว เสร็จจากการซักผ้าแล้ว
ลงไปนั่งดูงานการก่อสร้าง ตรวจดูความเรียบร้อยของงาน กลับขึ้นมาศาลาที่พักฉันกาแฟ อ่านหนังสือ ฟังธรรม
จนถึงประมาณ ๑๕.๐๐ น.จึงลงไปกวาดลานวัดเพราะช่วงนี้ลมแรงใบไม้ร่วงมาก กว่าจะกวาดลานวัดเสร็จก็มืด
ประมาณ ๑๙.๐๐ น. นั่งพักให้หายเหนื่อยแล้วลงไปสรงน้ำ เพื่อเตรียมตัวไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเย็นและปฏิบัติ
ในภาคค่ำต่อไปจนถึงประมาณเที่ยงคืน จึงได้จำวัตรพักผ่อน
.....รอยธรรม.....
การปฏิบัติธรรมนั้นคือการทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ให้สมบูรณ์ที่สุด โดยมีสติและสัมปชัญญะ
ที่เป็นสัมมาทิฏฐิคุ้มครองอยู่ มีการระลึกรู้และรู้ตัวทั่วพร้อมและน้อมจิตให้เป็นกุศล ทั่งเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน
การทำงานจึงเป็นการปฏิบัติธรรม คือทำให้เหมาะสมกับสถานะและสภาวะของตน ตามบทบาทและหน้าที่ ที่ตนนั้นมีอยู่
ปัญหาของผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายที่มักจะเกิดขึ้นก็คือ การไม่รู้จักบทบาทและหน้าที่ของตนเอง สิ่งที่ตนเองนั้นควรกระทำ
มันจึงทำให้บกพร่องในบทบาทและหน้าที่ของตน เรียกว่าธรรมะไม่สัปปายะ คือเลือกธรรมมาปฏิบัติไม่เหมาะสมกับตน
เป็นฆราวาสผู้ครองเรือนแต่อยากจะปฏิบัติให้เหมือนพระ ทำให้บทบาทและหน้าที่ของการเป็นสามี ภรรยานั้นบกพร่องไป
หรือทำให้หน้าที่การงานนั้นเสียหายไป ธรรมะที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสสอนไว้นั้น มีหลายขั้นหลายตอน ตามความเหมาะสม
ของแต่ละบุคคล เพื่อให้สอดคล้องกันทั้งในทางโลกและในทางธรรม เพื่อการอยู่ร่วมกันโดยสันติสุข ตามกำลังของแต่ละคน
ที่สะสมอบรมมา " ธรรมะนั้นมีมากมาย ประดุจใบประดู่ลายทั้งราวป่า แต่ตถาคตมีเวลาที่จะเอามาชี้นำ เพียงกำมือเดียว "
คือความเป็น " อนัตตา " ของธรรมทั้งหลายทั้งปวง แปรเปลี่ยนไปเพื่อความเหมาะสม ตามจังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่ บุคคล
เป็นไปตามเหตุและปัจจัยในขณะนั้น อย่างเช่นไตรสิกขา ๓ สำหรับประชาชนคนทั่วไปอันได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา หรือฆราวาสธรรม ๔
ธรรมะสำหรับฆราวาสผู้ครองเรือน อันได้แก่ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ซึ่งมีให้ศึกษา่มาในพระไตรปิฏก ฉะนั้นการเลือกเฟ้นธรรม
ที่จะนำมาปฏิบัติให้เหมาะสมกับสภาวะสถานะของตนนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะจะทำให้ท่านผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายไม่หลงประเด็น
" ไม่เป็นภัยต่อชีวิต ไม่เป็นพิษต่อผู้อื่น ไม่ฝ่าฝืนศีลธรรมอันดีงาม เป็นไปโดยชอบ ประกอบด้วยกุศล เป็นมงคลต่อชีวิตและสังคม "
นั่นคือสิ่งที่ควรจะศึกษาและนำมาปฏิบัติ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะและสถานะของตน...
.....รอยกวี.....
ทุกชีวิต คิดฝัน ถึงวันสุข
ไม่อยากทุกข์ ทรมาน การใฝ่หา
จึงดิ้นรน ขวนขวาย ให้ได้มา
เข้าใจว่า คือสุข สำหรับตน
เพราะดิ้นรน เรียกร้อง แสวงหา
จึงนำพา ให้จิต คิดสับสน
เพราะความโลภ ความอยาก ในใจคน
จึงต้องทน ทุกข์กัน ทุกวันคืน
เมื่อได้มา ก็อยาก จะได้อีก
ไม่ยอมหลีก ทางไป ให้ผู้อื่น
อยากจะดี อยากจะเด่น อย่างยั่งยืน
ข่มผู้อื่น ด้วยลาภยศ กดข่มกัน
ไม่รู้จัก ความพอดี และพอเพียง
ในการเลื้ยง ชีวิต ที่คิดฝัน
จึงเบียดเบียน แก่งแย่ง แข่งขันกัน
จึงไร้วัน ที่จะสุข เพราะทุกข์ใจ
เมื่อไม่มี ศีลธรรม นำชีวิต
ก็พลาดผิด ดวงจิต ไม่สดใส
เมื่อไม่มี คุณธรรม ประจำใจ
ก็ทำให้ ออกห่าง จากทางบุญ
สร้างเวรกรรม ทำบาป ที่หยาบช้า
หลงคิดว่า บาปกรรม ไม่นำหนุน
ไม่ส่งผล อะไร ให้เกิดคุณ
จึงละบุญ มาสร้างบาป จนเคยชิน
เมื่อศีลธรรม ไม่กลับมา น่ากลัวนัก
คนไร้หลัก คุณธรรม นิจศีล
จึงก่อกรรม ทำร้าย ทั่วแผ่นดิน
ไม่สุดสิ้น ก่อกรรม ทำร้ายกัน
เพราะโลกขาด คุณธรรม นำชีวิต
จึงพลาดผิด ชีวิต ไม่สร้างสรรค์
จึงวุ่นวาย ไร้สุข อยู่ทุกวัน
เพราะโลกนั้น ขาดศีลธรรม มานำทาง.....
...................................
ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๕๕ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย