ความสุขง่ายๆ จาก พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
ความสุขง่ายๆ จาก พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
เมื่อไม่นานมานี้ พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก มาบรรยายธรรมที่ห้องประชุม นสพ.ข่าวสด ถนนประชาชื่น มีสาระสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้
...จิตของคนเราดูแล้วหลากหลายแตกต่างกันราวฟ้าดิน
ชีวิตของคนแก่เฒ่ากับคนหนุ่มสาว คนรวยเป็นมหาเศรษฐีกับยาจก
คนเก่งระดับดอกเตอร์กับคนไม่รู้หนังสือ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้
คนดีที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ หรืออาชญากรชั่วร้ายที่มีคนสาปแช่ง
ไม่ว่าคนเราจะมีสถานะภายนอกแตกต่างกันมากเพียงใด
ไม่ว่าคนเราจะนับถือศาสนาใด ผิวขาว ผิวดำ เชื้อชาติไหน พูดภาษาใดก็ตาม
แต่ธรรมชาติของจิตสำหรับมนุษย์เราทุกคนที่มีความเหมือนกัน คือ ประภัสสร
สะอาด สงบ ผ่องใสก็มีอยู่แต่ดั้งเดิม เหมือนน้ำใสสะอาดที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
__________
ลมหายใจยาวๆ เป็นปฐมพยาบาลทางจิตใจ
ธรรมชาติของจิตแต่ดั้งเดิมนั้น ประภัสสร บริสุทธิ์ ผ่องใสโดยธรรมชาติ แต่จิตเศร้าหมองเพราะอุปกิเลสครอบงำจิต
โลกธรรมฝ่ายน่าปรารถนา มีลาภ มียศ สรรเสริญ สุข ทำให้เกิดอารมณ์พอใจ ยินดี
โลกธรรมฝ่ายไม่น่าปรารถนา เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ทำให้เกิดอารมณ์ไม่พอใจ ยินร้าย
อารมณ์พอใจ ไม่พอใจ ยินดี ยินร้าย ขี้เกียจ ขี้ฟุ้งซ่าน ขี้น้อยใจ ขี้อิจฉา ขี้โกรธ ขี้กลัว เหล่านี้เป็นอาการของโรคทางใจ
ทุกข์ ไม่สบายใจเกิดขึ้นเมื่อไร เราควรมีความเห็นถูกต้องว่า ความไม่สบายใจ ทุกข์ใจนี้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เพราะธรรมชาติของจิตที่แท้จริงนั้น ผ่องใส ทุกข์ไม่สบายใจเกิดขึ้น ก็ให้รักษาด้วยการ "หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ"
เมื่อมีสติสัมปชัญญะ มีความรู้สึกตัวทั่วถึง ลมหายใจเข้ายาว ลมหายใจออกยาวแล้ว อารมณ์พอใจ ไม่พอใจ ก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เป็นการรักษาสุขภาพใจดีของเรา เป็นปฐมพยาบาลให้แก่จิตใจของเรา
หายใจสั้น
เมื่อกระหายร้อน กระสับกระส่าย ไม่สงบ
เมื่อเจ็บไข้ ป่วย เป็นโรค
เมื่อเหนื่อย
เมื่ออารมณ์หงุดหงิด โกรธ
เมื่อใจร้อน ตื่นเต้น เพราะกลัว ดีใจ เสียใจ
หายใจยาว
เมื่อกายได้พักผ่อน
เมื่อกายสงบเย็น เป็นปกติ สุขภาพแข็งแรง
เมื่ออารมณ์ดี
เมื่อใจดี ใจสบาย
พยายามแก้ไขตนเอง
เมื่อเราสังเกตดูจิตใจ ความคิดของตนองแล้ว จะเห็นว่าจิตใจของเราคิดแต่เรื่องของคนอื่นเป็นส่วนใหญ่ ว่าเขาดี เขาไม่ดี น่ารัก น่าชัง
คิดเรื่องคนอื่นมากกว่า 90% คิดเรื่องของตนเองน้อยกว่า 10%
อยากจะให้คนอื่นละความชั่วที่ไม่ถูกใจเรา อยากจะให้คนอื่นทำจิตใจให้บริสุทธิ์ เพื่อจะไม่กระทบเรา แต่จิตใจของเรากลับปล่อยให้ขุ่นมัว เศร้าหมอง เครียด ฟุ้งซ่าน
"โทษคนอื่นเห็นเป็นภูเขา โทษของเราแลไม่เห็นเท่าเส้นผม
ตดคนอื่นเหม็นเหลือทน ตดของตนถึงเหม็นไม่เป็นไร"
สนใจ เอาใจใส่ ดูตนเองเพิ่มขึ้น มากขึ้น จนดูตนเอง 90% ดูคนอื่น 10%
เราดูคนอื่นเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง
เห็นตนเองในคนอื่น และเห็นคนอื่นในตัวเอง
เพราะไม่มากก็น้อย เราก็เหมือนๆกับคนอื่น
เป็นการเจริญสติ สัมปชัญญะ ทำให้มีเมตตากรุณา
ตำหนิ ติเตียนคนอื่น ดูหมิ่น ดูถูกคนอื่น น้อยลง
ตำหนิติเตียนตนด้วยสติปัญญา แก้ไขพัฒนาตน มากขึ้น
ความคิดที่จะแก้ไขปรับปรุงตนเองนี้ เป็นกุศลกรรม
เมื่อสำรวจตนเองแล้ว พบว่ามีข้อที่คิดว่าน่าจะแก้ไข
ให้ตั้งใจทุกวัน พยายามแก้ไขอยู่อย่างนั้น
ผิดพลาดเป็นร้อยเป็นพันครั้งก็ช่างมัน
พยายามคิดตั้งใจจะแก้ไขอยู่อย่างนั้นก็ใช้ได้
ความโกรธ
ความโกรธ เกิดขึ้นจาก
เขาพูดจริงโดยหวังดีต่อเรา แต่ไม่ถูกใจเรา ------เราโกรธ
เขาพูดธรรมดา แต่ไม่ถูกใจเรา ------เราโกรธ
เขาไม่พูด ไม่ถูกใจเรา ------เราโกรธ
เราคิดว่าเขานินทาเรา (ที่จริงเขาไม่ได้นินทาเรา) ------เราโกรธ
เขาว่าเรานินทาเขา (แต่เราไม่ได้นินทาเขา) ------เราโกรธ
เราเข้าใจผิดว่าเขาทำผิด (ทั้งๆที่เขาทำดี) ------เราโกรธ
เขาเข้าใจผิดว่าเราทำผิด (ทั้งๆที่เราทำดี) ------เราโกรธ
เขาหน้าบึ้ง ใจไม่ดี เรารู้สึกว่าเขาไม่พอใจเรา ------เราโกรธ
ความโกรธเปรียบเหมือนอาหารไม่อร่อย
หากมีใครนำมาให้เราแล้วเราไม่รับ ผู้ที่นำมาให้ก็จะต้องรับกลับไปเอง
ความโกรธก็เช่นเดียวกัน เมื่อเขาโกรธเรา แล้วเราเฉยๆก็เท่ากับเขาโกรธตัวเอง
หากเราโกรธตอบ ก็เหมือนกินอาหารไม่อร่อยนั้นด้วยกัน
ความรักต่อตัวเอง เมตตาต่อตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญ
มนุษย์เรา คนเรานี้ ไม่มีเมตตาแก่ตัวเอง ปัญหาต่างๆเกิดขึ้น ทั้งปัญหาส่วนตัว ปัญหาสังคม ปัญหาของประเทศชาติที่เรามองเห็นอยู่ ทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ รู้สึกโกรธ รู้สึกอาฆาตพยาบาท
ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจาก เราไม่มีเมตตา ไม่มีความรักตัวเอง ถ้าเรามีเมตตา มีความรักตัวเอง ปัญหาต่างๆจะไม่เกิดขึ้น และน้อยลง อดีตอยู่อย่างไร ปัจจุบันก็ยังอยู่อย่างนี้ เพียงเท่านี้ ความรักต่อตัวเองก็หมายถึง ทำจิตใจของตัวเองให้สบาย มีความสุข ในทุกสถานการณ์
ธรรมชาติของจิตของเราทุกคนเป็นประภัสสร ผ่องใสโดยธรรมชาติ แต่ว่ามีกิเลส อนิจจัง ความไม่รู้ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เมื่อจิตใจของเรายังมีกิเลสแล้ว ความรู้สึกต่างๆที่ก่อให้เกิดความไม่สบายใจก็เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปฏิกูลทางจิตใจ ความไม่สบายใจเกิดขึ้นจากภายในจิตใจของเรา
ปัญหาภายนอกตั้งแต่ขั้นกายก็ดี หรือว่ามีเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น เหตุการณ์ที่ไม่น่าปรารถนา เสื่อมลาภ เสื่อมยศ สิ้นเหล่านี้ก็เพียงแต่กระตุ้นจิตใจ ให้เกิดความทุกข์
ชีวิตของเราเป็นทุกข์ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "ชีวิตเป็นทุกข์ ความแก่ของตัวเอง หรือของสิ่งรอบตัว ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์"
ทุกวันนี้เราจำเป็นต้องอยู่กับคนที่ไม่ชอบใจ ครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติ ความคิดเห็นไม่ตรงกัน ต่างคนต่างรีบ ใช้อารมณ์ ใช้วาจา ใช้ความรุนแรงต่างๆ คนที่ไม่ชอบใจ สิ่งที่ไม่ชอบใจก็มีมากในชีวิต
ตรงกันข้ามก็มีอยู่ การต้องพลัดพรากจากคนที่เรารัก สิ่งที่เรารัก หรือไม่สมปรารถนาในชีวิต ไม่เป็นไปตามที่ต้องการ สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดความไม่สบายใจ เป็นทุกข์ใจ
แต่เราต้องเข้าใจว่า ความไม่สบายใจนี้ เกิดขึ้นจากภายในจิตใจของเรา ไม่ใช่เกิดขึ้นจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย การพลัดพรากจากกัน เพราะแม้แต่พระพุทธเจ้าก็ดี หรือเหล่าพระอรหันต์ทั้งหลายก็ดี เหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความทุกข์ก็เกิดอยู่กับทุกคนเช่นกัน
ถึงอย่างไรก็ตามความจริงของชีวิตก็เป็นเช่นนี้ ลองสังเกตดูว่าเรารักตัวเองมากแค่ไหน เรามีเมตตาต่อตัวเองมากน้อยขนาดไหน จิตของเราผ่องใสโดยธรรมชาติ แต่ความรู้สึกที่ไม่ดีเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งเป็นข้อเสียของเราเกิดจากจิตใจ ถ้าเรายังรักตัวเอง ก็ต้องจัดการสิ่งเหล่านี้ ก่อนที่จะเดินทางจากชาตินี้ อย่างน้อยก็ต้องรู้จักว่าเรามีเมตตา ทำจิตใจให้สบาย มีความสุข มีความพอใจ
ตั้งสติ หายใจออกยาวๆสบายๆ หายใจเข้า ปล่อยตามธรรมชาติ หายใจออกยาวๆสบายๆ เพื่อคลายความรู้สึกที่ไม่ดีออกไปพร้อมกับลมหายใจออก หายใจเข้า ปล่อยตามปกติ ให้ลมหายใจเข้า ช้าๆลึกๆ พอสมควร หายใจออก ตั้งใจให้เป็นลมหายใจยาวๆสบายๆ เมื่อทำซ้ำๆอยู่เช่นนี้ ก็จะรู้สึกสบายกาย สบายใจ เกิดความสงบเย็นใจ แล้วก็เกิดความละอายต่ออารมณ์โกรธ จนกระทั่งความโกรธไม่กล้าโผล่หน้ามาให้เห็นอีก
เราลองนึกดูว่า น้ำ กับน้ำแข็ง เมื่อเราการน้ำ ในขณะที่เรามีเพียงแต่น้ำแข็ง ให้คิดเสียว่าน้ำกับน้ำแข็งเป็นสิ่งเดียวกัน เมื่อได้น้ำแข็งก็ควรดีใจ และบอกตนเองว่า ทำอย่างไรจึงจะละลายน้ำแข็งได้ เราต้องหาความร้อน เพื่อให้มีความอบอุ่น และน้ำแข็งก็จะละลาย และกลายเป็นน้ำ
ความไม่สบายใจ ความสบายใจ ก็เหมือนน้ำแข็งกับน้ำ แต่ถ้าเราเจอ เรามีสิ่งที่ไม่สบายใจ ก็ดีใจได้ ที่มองเห็นความไม่สบายใจชัดเจน และมองเห็นความสบายใจชัดเจน
____________________________________________
ประวัติพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
(ที่มา : นิตยสารเอสไควร์ กุมภาพันธ์ 2552)
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก เป็นชาวญี่ปุ่น เป็นสัทธิวิหาริกรุ่นแรกของพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
ชาติภูมิเป็นชาวจังหวัดอีวาเต้ ประเทศญี่ปุ่น เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2494 จบไฮสคูลสาขาเคมี
ออกเดินทางค้นหาความหมายของชีวิตทั่วโลกตั้งแต่อายุ 18 ปี จนตัดสินใจบวชเป็นพระภิกษุที่เมืองไทย ท่านคือพระนักปฏิบัติเผยแผ่ธรรมะด้วยภาษาเข้าใจง่าย หนังสือของท่านหลายๆ เล่มล้วนเข้าถึงความทุกข์ของคนในปัจจุบันได้ตรงจุดที่สุด
พระอาจารย์มิตซูโอะเล่าถึงเส้นทางของตัวเองก่อนจะเดินทางมาเมืองไทยว่า หลังเดินทางออกจากญี่ปุ่น เป้าหมายแรกคือปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ แต่ไม่สำเร็จ ปีนต่อไม่ไหว เพราะหนาวและยากลำบากมาก
จากนั้นเดินทางไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งได้ไปพุทธคยา ในอินเดีย ได้เรียนรู้เรื่องราวของพระพุทธเจ้า ทำให้ได้คิดว่า การที่เราออกเดินทางไกลเพื่อแสวงหาความหมายของชีวิตนั้น แท้จริงแล้วเป็นแค่ปัจจัยภายนอก สิ่งที่เราแสวงหานั้นอยู่ไม่ไกลเลย
แท้จริงมันอยู่ที่จิตใจของเราเอง
พระอาจารย์มิตซูโอะ เริ่มต้นศึกษาพุทธศาสนาจากการนั่งสมาธิและเล่นโยคะกับโยคีที่อินเดียประมาณ 2 ปี อยู่ไปอยู่มามีปัญหาเรื่องวีซ่า พอดีมีเพื่อนฝรั่งเศสบอกว่าให้ลองไปปฏิบัติธรรมที่เมืองไทย เพราะไม่ยุ่งยากเท่าอินเดียก็เลยมาบวชที่เมืองไทย
"มิตซูโอะ ชิบาฮาชิ" คือชื่อเดิมในภาษาญี่ปุ่น หลังบวชเป็นพระภิกษุ หลวงพ่อชา (หลวงปู่ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี) พระอุปัชฌาย์ตั้งฉายาให้ว่า "คเวสโก" (อ่าน คะ-เว-สะ-โก) แปลว่า "ผู้แสวงหาซึ่งฝั่ง"
ขณะที่หลวงปู่ชาเรียกลูกศิษย์ผู้นี้ว่า "สี่บาทห้าสิบ"
เพราะวันแรกที่ไปฝากตัว หลวงพ่อท่านถามชื่อ พระอาจารย์ก็ตอบไปว่า "ชิบาฮาชิ"
ออกเสียงคล้ายๆ คนพูดไทยไม่ชัดว่า "สี่บาทห้าสิบ"
ช่วงบวชแรกๆ หลวงพ่อบอกว่าพบอุปสรรคมากมาย คิดว่าจะได้นั่งสมาธิกับเล่นโยคะเหมือนตอนที่อยู่ในอินเดียก็ไม่ได้ทำ
เพราะต้องตื่นตี 3 บิณฑบาต สวดมนต์ ภาษาไทยก็ไม่รู้เรื่อง
"กว่าจะได้นั่งสมาธิหรือเล่นโยคะก็เหนื่อยเสียแล้ว คิดจะสึกกลับญี่ปุ่นอยู่หลายหน แต่เมื่อปฏิบัติไปก็เริ่มมีความอดทนมากขึ้น
รู้ว่าไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ"
http://www.prachachat.net/news_detai...id=07&catid=no
ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต