ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๒เป็นต้นมา ได้ศึกษาและเก็บข้อมูลเรื่องมวลสาร การสร้าง การปลุกเสก
หลวงพ่อทวดเนื้อว่านปี ๒๔๙๗ วัดช้างให้ โดยได้ขอคำแนะนำจากครูบาอาจารย์และผู้เฒ่า
ที่ท่านนั้นมีส่วนร่วมได้เห็นการสร้างและการปลุกเสก อาทิเช่น หลวงพ่อนอง วัดทรายขาว
หลวงพ่อแดง วัดศรีมหาโพธิ์ หลวงพ่อสุข วัดตุยง และญาติโยมผู้เฒ่าข้างวัดอีกหลายท่าน
เพื่อเป็นข้อมูลที่จะนำมาสร้างหลวงพ่อทวด วัดเก่าเจริญธรรม ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ทำให้รู้ข้อมูล
เบื้องลึกเรื่องมวลสาร พิมพ์พระ การสร้าง การปลุกเสก พวกเนื้อพิเศษ พิมพ์พิเศษ ที่ทำใช้
กันเอง (เรียกว่าเนื้อแอบกด พิมพ์แอบทำ )เอามวลสารพิเศษของตนที่เก็บไว้มาผสมเสริม
กดพิมพ์ไว้ใช้เอง แกะพิมพ์เลียนแบบ เอามวลสารของวัดมากดพิมพ์เพื่อเก็บเอาไว้ใช้เอง
ส่วนการปลุกเสกนั้น เริ่มแรกเป็นการภายในใครว่างก็นิมนต์กันมา ตามวาระต่างๆที่ครูบาอาจารย์
ท่านว่างและมีเวลา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสหธรรมิกที่สนิทและคุ้นเคยของหลวงพ่อทิม วัดช้างให้
และพระในเขตจังหวัดปัตตานีที่รู้ข่าวการสร้างพระหลวงพ่อทวดมาเยี่ยมชมและช่วยสร้างช่วยทำ
จึงอาจจะพูดได้ว่า " พระที่บวชก่อนปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ในเขตใกล้เคียงวัดช้างให้นั้น มีส่วนร่วมเกือบทุกรูป"
พระพรรษาน้อยก็ช่วยสร้าง พรรษามากขึ้นหน่อยก็ช่วยสวด พรรษามากก็ช่วยเสก สร้างกันไปเสกกันไป
และการสร้างพระเนื้อว่านตำมือกดมือนั้น จะพิเศษจากการสร้างพระเนื้ออื่น แต่ละครกเนื้อจะมีเอกลักษณ์
ที่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับส่วนผสม มวลสาร ระยะเวลา น้ำหนักในการตำผสม ระยะเวลาในการกดพิมพ์
ความแห้ง ความเหนียว ของลูกกระสุน (เมื่อตำผสมเสร็จแล้วจะปั้นเป็นลูกกระสุนกลมๆขนาดพอกดเต็มพิมพ์)
ปั้นกันเป็นร้อยๆลูกใส่ถาดไว้ ลูกที่เอามากดก่อนก็จะเต็มพิมพ์กดง่าย ลูกหลังๆก็จะแห้งและกดยากไม่เต็มพิมพ์
ลูกที่ตำไม่ถึงก็จะเหนียวน้อยแตกลาน ลูกที่ตำเหลวไปพิมพ์ก็จะบิดเบี้ยวเมื่อเนื้อแห้งแล้ว ลูกกระสุนที่แห้งนั้น
เวลากดพิมพ์ หน้าจะไม่เต็ม หลังจะนูน เพราะกดไม่ลงเต็มพิมพ์ จึงผิดเพี้ยนกันไปในแต่ละองค์ทั้งที่พิมพ์เดียวกัน
มวลสารครกเดียวกัน หลวงพ่อทวดเนื้อว่าน ๙๗ ทุกองค์จึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
การจะบูชาพระหลวงพ่อทวดเนื้อว่าน ปี ๒๔๙๗ นั้น ถ้าจะให้แน่นอนที่สุดก็คือที่มาที่เชื่อถือได้เป็นอันดับแรก
รองลงมาก็เรื่องความเก่า(อายุว่านถึง ความแห้งถึง) ส่วนเรื่องคราบไขนั้นขึ้นอยู่กับความชื้นในแต่ละสถานที่ที่พระ
ไปอยู่ พิมพ์พระนั้นจะใกล้เคียงกันในแต่ละบล๊อกแต่ละพิมพ์ แต่จะไม่เหมือนกัน(เดะ)ทุกอย่าง ทุกองค์จะมีเอกลักษณ์
เฉพาะตน จากประสพการณ์ที่สร้างหลวงพ่อทวดเนื้อว่านมา ๔ รุ่น ประมาณ ๓ แสนกว่าองค์ (รุ่นละ ๘๔,๐๐๐ องค์)
หามวลสาร ผสมมวลสาร ตำผสมมวลสาร กดพิมพ์ ทำมาทุกอย่างด้วยตัวเองมาแล้ว ทำให้รู้และเข้าใจในเรื่องพระเนื้อว่าน
พอสมควร และรูปเหมือนตัวแทนของหลวงพ่อทวดนั้นจะมีข้อพิเศษ คือความศักดิ์สิทธิ์เข้มขลัง มีพลังเพราะมีเทวดารักษา
และขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้สร้างและผู้ทำที่บริสุทธิ์ เพราะหลวงพ่อทวดท่านเป็นมหาโพธิสัตย์ มีบุญฤทธิ์สำเร็จด้วยจิตอธิษฐาน
เทวดาที่เป็นบริวารจะร่วมสร้างบารมี เป็นพระที่ไม่มีคำว่าปลอม(ของปลอมนำมาปลุกเสกใหม่ก็จะกลายเป็นของจริง มีพลัง)
แต่คุณค่าในเชิงพานิชนั้น เขาจะเล่นกันตามค่านิยมของผู้ที่เรียกตนเองว่า " เซียน " เอาสิ่งที่ตนรู้และตนมีมาเป็นบรรทัดฐาน
ว่าเป็นพระแท้หรือพระปลอม
หลวงพ่อทวดเนื้อวา่น ปี๒๔๙๗ นั้น ไม่มีใครเป็น "เซียน"ที่รู้จริงและชัดเจน
คนที่บอกว่าตนเองเป็น "เซียน"นั้น โดนกันมามากแล้วทุกคน (แต่ไม่ออกอาการ) กลัวเสียฟอร์ม " เซียน "
ที่กล้าพูดก็เพราะว่า เคยส่งทีมงานไปลองของ ผู้ที่เรียกตนเองว่าเป็น " เซียนหลวงพ่อทวด ๙๗ " มาแล้วเกือบทุกคน
แม้แต่ตัวผู้เขียนเอง ก็ยังไม่กล้าที่จะบอกว่าตนเองนั้นเป็นเซียน ทั้งที่ได้ศึกษามาทั้งในทางทฤษฎีและการปฏบัติมาแล้ว
จึงขอฝากไว้เป็นข้อคิดให้นำไปพิจารณาด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๑.๕๓ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย