สภาวธรรม
คำว่าสภาวธรรมมีความหมายลึกซึ้งทั้งทางกว้างและเจาะจงหลายระดับขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัตินั้นๆกำลังปฏิบัติอยู่ในระดับใด
สภาวธรรม หมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งทางกายและทางใจ ในขณะปฏิบัติธรรมให้ผู้ปฏิบัติธรรมรับรู้ได้ บางครั้งก็เรียกว่าอารมณ์ของกรรมฐาน หรือสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงของรูปนาม
สภาวธรรม ในระยะเริ่มแรกของการปฏิบัติธรรม ได้แก่สิ่งที่เกิดขึ้นทางกายและทางใจ เมื่อผู้ปฏิบัติเจริญสติทางกาย ที่เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการเฝ้าดูกายในกาย เช่น การกำหนดอานาปานสติ หรือลมหายใจ การกำหนดพองยุบ เป็นการดูอาการของกายที่เคลื่อนไหว ในอิริยาบถใหญ่ต่างๆ การยืน เดิน นั่ง นอน และการเคลื่อนไหวทางกายในอิริยาบถย่อย คู้ เหยียด กระพริบตา กลืนน้ำลาย เหล่านี้เป็นอารมณ์กรรมฐานที่ผู้เจริญสติเฝ้าติดตามดูและติดตามรู้ เป็นการสังเกตุพฤติกรรมทางกาย
เรียกง่ายๆ ว่า การเฝ้ากำหนดดูอาการเคลื่อนไหวทางกายอยู่เนืองๆ
เมื่อเฝ้าดูกายอยู่เสมอ ผู้ปฏิบัติก็จะเห็นสภาพทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นทางกาย เช่น อาการปวด เมื่อย เหน็บชา เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นติดตามมา เรียกว่าการกำหนด เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นการเฝ้าดูความเป็นจริงที่เกิดขึ้นของเวทนาทางกายและเวทนาทางใจต่อเนื่องกัน
เมื่อจิตเกิดการรับรู้เวทนาทางกายและทางใจ จิตก็จะเกิดจิตที่ขุ่นมัว หงุดหงิด โกรธ เรียกว่าจิตโทสะ หรือเมื่อจิตยินดีในอารมณ์ ติดใจในอารมณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ความสุขทางกายหรือทางใจ เรียกว่าจิตโลภะ เป็นการกำหนด จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ให้รู้เท่าทันจิตที่เสวยอารมณ์ต่างๆ
ในขณะที่เจริญสติอยู่นั้น โดยเฉพาะในการนั่งสมาธิ จะเกิดสิ่งที่ผู้ปฏิบัติต้องฝึกเรียนรู้ สภาวธรรมของจิต คือ นิวรณ์ธรรม ที่จะเกิดขึ้นทำให้จิตเศร้าหมอง เช่น ฟุ้งคิด ง่วงเซาซึม ความคิดประหวัดถึงสิ่งที่ยึดติดชอบใจในกาม หงุดหงิด โกรธ พยาบาท จิตที่ลังเลสงสัย
เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติต้องเรียนรู้เพื่อเข้าใจในความเป็นจริงของจิตที่เป็นไปกับอารมณ์ต่างๆ เรียกว่า การเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน นี้ก็เรียกว่าอารมณ์กรรมฐานหรือสภาวธรรมได้เช่นกัน
สิ่งที่ผู้ปฏิบัติเฝ้าเพียรกำหนดดูรู้อยู่อย่างนั้น ก็จะเกิดสภาวธรรม คือสภาพกุศลขึ้นในจิต เช่น ความอดทน ความพากเพียร ขันติ ที่อดทนสู้กับอารมณ์ต่างๆที่ไม่พึงปรารถนา ทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจในเรื่องของการสำรวมระวังในการรับและรู้อารมณ์ที่เข้ามากระทบอยู่เนืองๆ เป็นการระวังอกุศลมิให้เกิดขึ้นแก่จิต และเฝ้าระวังรักษาทวารต่างๆในการรับอารมณ์อยู่เสมอ
เรียกว่า เกิดอินทรียสังวรศีล อันเป็นศีลของผู้ปฏิบัติธรรม
ที่มา
http://www.vipassanacm.com/th/view_story.aspx?id=23