๏ พรรษาที่ 2 (พ.ศ. 2503) : จำพรรษา ณ
วัดราษฎร์โยธี บ้านโคกกลอย ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา
ก่อนเข้าพรรษา 4 วัน พระอาจารย์คำพอง ติสฺโส (พระครูสุวัณโณปมคุณ) ได้มาขอให้ไปจำพรรษาที่วัดราษฎร์โยธี หลวงปู่เทสก์ได้นั่งรถตามมาสอนพระอาจารย์เปลี่ยนที่วัด โดยเทศน์ให้ฟังทั้ง 4 คืน ที่พักอยู่ด้วย ก่อนจะจากไปหลวงปู่เทสก์สั่งว่า ถ้ามีปัญหาการภาวนาให้นั่งรถไปหาท่าน
ในพรรษานี้พระอาจารย์เปลี่ยนได้เร่งปฏิบัติ ถึงกับลดอาหารลงเหลือเพียง 5 ช้อนต่อวันแล้วเพิ่มเป็น 7 ช้อนบ้าง 9 ช้อนบ้าง ลดบ้างเพิ่มบ้างตามจำนวนนี้ จนชาวบ้านกลัวว่าท่านจะเจ็บไข้และเสียชีวิต แต่ท่านก็ยังปฏิบัติเช่นนี้ต่อไป ท่านนั่งภาวนาจนสามารถตัดเสียงต่างๆ ที่ได้ยินนั้นได้ทันที ไม่คำนึงถึงเสียงรอบตัวท่านเลย
ส่วนหลวงปู่พรหม จิรปุญโญ ก็ยังคงไปสอนพระอาจารย์เปลี่ยนในสมาธิเสมอ ท่านสามารถเห็นและได้ยินเสียงของหลวงปู่พรหม ชัดเจน จึงคิดจะพิสูจน์ว่าหลวงปู่พรหม มาจริงหรือไม่ ในขณะที่หลวงปู่พรหมสอนท่านในสมาธิ ท่านได้เอามือซ้ายออกไปสัมผัสหัวเข่าของหลวงปู่พรหม แล้วลืมตาดูไม่เห็นอะไร แต่เมื่อทำสมาธิต่อก็พบหลวงปู่พรหมอยู่ที่เดิม เมื่อหลวงปู่พรหมสอนเสร็จ ก็ลอยออกไปทางหน้าต่างตามปกติ
ในพรรษานี้ พระอาจารย์เปลี่ยนได้ใช้เวลาว่างในตอนกลางวันค้นคว้า และอ่านพระไตรปิฎก รวมถึงหนังสือธรรมประเภทอื่นด้วย
หลวงปู่เทสก์เป็นห่วงเรื่องการอดอาหารของพระอาจารย์เปลี่ยน ได้ตักเตือนเมื่อพระอาจารย์เปลี่ยนไปหาที่ จ.ภูเก็ต ว่า อาหารการกินเป็นเรื่องของขันธ์ 5 เราฉันเพียงเล็กน้อย 5 ช้อน 10 ช้อน เพื่อเลี้ยงขันธ์ 5 ให้อยู่ได้ ไม่กิน มันตาย ส่วนสุขเป็นเรื่องของใจ เรื่องของกายต้องกินอาหาร และได้เล่าว่าเมื่อครั้งที่ท่านไปจำพรรษาที่ภาคเหนือกับพวกชาวเขาเผ่ามูเซอร์ ท่านเคยเกิดปิติจนหมดความอยากในอาหารเช่นเดียวกัน แต่ท่านก็พยายามฉัน
ใกล้ออกพรรษาพระอาจารย์เปลี่ยนก็ยังคงฉันอาหารน้อยจนแทบจะไม่ฉันเลย หลวงปู่เทสก์จึงเดินทางมา จ.พังงา และว่ากล่าวพระอาจารย์เปลี่ยนด้วยตนเองอีก พระอาจารย์เปลี่ยนจึงต้องหันกลับมาฉันอาหารตามเดิม
๏ การออกธุดงค์ครั้งที่ 3 ภาคใต้
ออกพรรษาที่ 2 แล้ว พระอาจารย์เปลี่ยนได้ย้ายจากวัดราษฎร์โยธี ไปอยู่วัดเขาควนดิน อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ได้พบกับพระอาจารย์เนตร ซึ่งเป็นพระปฏิบัติเหมือนกัน ได้ปฏิบัติธรรมร่วมกันพักหนึ่งแล้วท่านก็ธุดงค์ต่อไปยัง จ.กระบี่
ต่อมาพระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ ซึ่งใฝ่ใจการปฏิบัติเช่นเดียวกัน ได้มาอยู่ปฏิบัติด้วยประมาณเดือนครึ่ง พระอาจารย์เปลี่ยนได้ขอร้องให้พระอาจารย์สุวัจน์เทศน์ให้ฟัง ต้องคะยั้นคะยออยู่นาน พระอาจารย์สุวัจน์ได้เทศน์เรื่องอนัตตา เรื่องตัดธาตุ ตัดขันธ์ภายใน ซึ่งเทศน์ได้ดีมาก พระอาจารย์สุวัจน์ได้ธุดงค์ต่อไปที่วัดบางเหนียว จ.ภูเก็ต
พระอาจารย์เปลี่ยนอยู่ที่วัดเขาควนดินได้ระยะหนึ่ง ท่านต้องต่อสู้กับกิเลสภายในตัวเอง ต้องฝึกจิตให้มีความเข้มเข็ง เด็ดเดี่ยวมากขึ้นแล้ว ยังต้องต่อสู้กับสตรีเพศที่จะเข้ามาทำลายท่านด้วย จึงกลับไปปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่เทสก์ ที่ จ.ภูเก็ต อีกประมาณ 2 เดือน แล้วย้ายกลับไปปฏิบัติธรรมที่วัดเขาควนดิน อ.ท้ายเหมือง อีก หลวงปู่เทสก์มีความเป็นห่วง จึงเดินทางมาสอนท่านที่นี่ด้วย พระอาจารย์เปลี่ยนจึงมีโอกาสปรนนิบัติหลวงปู่เทสก์อย่างใกล้ชิด หลวงปู่เทสก์ก็สอนและเทศน์ให้ฟังจนแน่ใจแล้ว หลวงปู่เทสก์จึงเดินทางกลับไปที่วัดเจริญสมณกิจ จ.ภูเก็ต
ระหว่างอยู่ที่ อ.ท้ายเมือง ท่านได้ทราบว่ามารดาป่วยจึงได้กราบเรียนหลวงปู่เทสก์ ซึ่งได้บอกให้ท่านกลับไปดูแลมารดา แต่พระอาจารย์เปลี่ยนยังไม่ยอมกลับ เพราะว่ายังปฏิบัติธรรมไม่พอกับความต้องการของใจท่าน จึงอยู่กับหลวงปู่เทสก์อีกเกือบหนึ่งเดือน
พระอาจารย์เปลี่ยนได้ถามหลวงปู่เทสก์ เรื่องการนั่งสมาธิของท่านแล้วจิตดิ่งลึกลงไปอยู่สามชั่วโมงครึ่ง โดยที่ท่านไม่รู้ว่าจิตอยู่ที่ไหน เพราะว่าจิตดับหมด ไม่ได้ยินเสียงอะไรทั้งสิ้น จิตเป็นสมาธิมากกว่าเมื่อจำพรรษาอยู่ที่วัดเขาควนดิน จ.พังงา ที่วัดนั้นท่านยังได้ยินเสียงแต่ก็มีปิติมากจนไม่อยากจะฉันอาหาร
หลวงปู่เทสก์ชี้แจงว่า อาการเช่นนี้เรียก นิพพานพรหม จิตดับจนกระทั่งไม่ได้ยินเสียง ไม่รับรู้อะไรจากภายนอก จิตลงไปสู่ส่วนลึกที่สุดเป็นอัปปนาฌาน เรียกว่าพรหมลูกฟักเป็นพรหมชั้นสูง ถ้าไม่แก้ไขผู้นั้นจะคิดว่าตนได้พบพระนิพพาน จะไปไหนไม่รอด หลวงปู่เทสก์ก็ได้เล่าว่า หลวงปู่ขาว อนาลโย เมื่อติดตามไปอยู่กับหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ ทางภาคเหมือ และพักอยู่สำนักสงฆ์อรัญญวิเวก (วัดอรัญญวิเวก บ้านปง ปัจจุบัน) ได้นั่งสมาธิตั้งแต่ 6 โมงเย็นไปจนถึง 6 โมงเช้าวันรุ่งขึ้น น้ำค้างจับร่างหลวงปู่ขาวจนเปียกชุ่มท่านจึงรู้สึกตัวออกจากสมาธิ ก็ไม่ทราบว่าจิตไปอยู่ที่ไหน จึงไปถามหลวงปู่มั่น ท่านตอบหลวงปู่ขาวเพียงนิดเดียวคือ ให้หลวงปู่ขาวตั้งต้นใหม่ติดตามดูจิตตั้งแต่เริ่มต้นเข้าสมาธิ ใช้สติปัญญาตามดูจิตให้ดีว่า วางอารมณ์อะไรจึงดับเสียงไปหมด ให้ดูว่าจิตไปอยู่ที่ไหนต้องตามให้รู้
พระอาจารย์เปลี่ยนได้รับคำสอนจากหลวงปู่เทสก์แล้ว ได้เดินทางกลับบ้าน และเริ่มปฏิบัติทันทีตั้งแต่อยู่ในเรือ จาก จ.ภูเก็ต ไป อ.กันตัง ตลอดทางจนถึง จ.อุดรธานี แทนที่พระอาจารย์เปลี่ยนจะรีบกลับบ้านที่ จ.สกลนคร ท่านกลับเดินทางไปเยี่ยมหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ (วัดป่านิโครธาราม บ้านหนองบัวบาน อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี) แล้วเดินทางไปหาหลวงปู่ขาว อนาลโย พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต เจ้าอาวาส ที่วัดถ้ำกลองเพล (ต.โนนทัน อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี) พระอาจารย์เปลี่ยนได้เล่าปัญหาของท่านที่นั่งภาวนาจนจิตเป็นสมาธิ แต่ไม่รู้ว่าหายไปไหนให้หลวงปู่ขาวทราบ ซึ่งหลวงปู่ขาวได้เล่ายืนยันและย้ำให้ดูจิตของตนเองให้ได้
เมื่อได้รับคำแนะนำจากหลวงปู่ขาวแล้ว พระอาจารย์เปลี่ยนจึงได้กลับไปอยู่ที่วัดทุ่งสว่าง (อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร) และได้ไปเยี่ยมมารดา ปรากฏว่าหายป่วยแล้ว
๏ พรรษาที่ 3 (พ.ศ. 2540) : จำพรรษา ณ
วัดทุ่งสว่าง บ้านโคกคอน ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
ในพรรษานี้พระอาจารย์เปลี่ยนได้ตั้งสัจจะว่า จะรับบาตรเฉพาะเวลาเดินทางออกจากวัดเท่านั้น เที่ยวกลับจะไม่รับของใครทั้งสิ้น และไม่รับบาตรในบริเวณวัดเช่นกัน การบิณฑบาตนี้ชาวบ้านจะใส่แต่ข้าวเปล่า และเอาอาหารมาถวายภายหลัง ซึ่งพระอาจารย์เปลี่ยนก็ไม่รับประเคนอีก ท่านจึงฉันข้าวเปล่าเป็นส่วนมาก
ก่อนจะออกพรรษาเล็กน้อย มีแม่ชีคนหนึ่งทำอาหารมาใส่บาตรท่านไม่ทันในเที่ยวไป จึงของร้องให้มารับในเที่ยวกลับด้วย พระอาจารย์เปลี่ยนได้ปฏิเสธ พระอาจารย์สุภาพได้ขอให้ท่านรับเป็นกรณีพิเศษ เพราะแม่ชีรูปนี้ได้ช่วยเหลืองานวัดและเฝ้าวัดมาตลอด พระอาจารย์เปลี่ยนจึงยอมรับบาตรแม่ชี หลังจากนั้นไม่กี่วันท่านก็ถูกงูกัดจนเท้าบวม อาจเป็นเพราะท่านเสียสัจจะก็เป็นได้ จึงฉันยาและรักษาแบบชาวบ้านเท่านั้น แต่ก็ยังมีมานะออกไปบิณฑบาตตามปกติ เพราะยังเดินได้ หากไม่ออกบิณฑบาต ท่านจะไม่ฉันอาหารเลย
พระอาจารย์เปลี่ยน ได้ปฏิบัติธรรมอย่างเข้มงวด ทำทางเดินจงกรมยาวประมาณ 20 เมตร ไว้ข้างหน้ากุฏิที่พัก หัวทางเดินจงกรมเป็นที่ฝังศพของโยมวัด ซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากพระอาจารย์สุภาพ ในปัจจุบันจะเห็นต้นมะม่วงใหญ่ปลูกอยู่สองต้นที่หัวและท้ายของทางเดินจงกรม ท่านเดินจงกรมตามที่พระอาจารย์ลี หลวงปู่พรหม หลวงปู่เทสก์ได้สั่งสอนท่านมา เดินทุกวันจนทางเดินเป็นร่องลึกลงไป เวลาฝนตกน้ำจะขังที่ทางเดิน หากพระอาจารย์เปลี่ยนจะเดิน ต้องวิดน้ำออกหรือไปหาทางเดินใหม่ที่อยู่สูงกว่าขึ้นไป ส่วนกุฏิที่อยู่นั้นเป็นไม้ไผ่มุงแฝก ซึ่งพระอาจารย์คำเคยลองเขย่าแรงๆ เกือบจะพังลงมา พระที่บวชทีหลังยังได้อยู่กุฏิดีกว่า แต่พระอาจารย์เปลี่ยนก็ไม่สนใจหากุฏิใหม่
ถึงแม้พระอาจารย์เปลี่ยนจะปฏิบัติธรรมอย่างหนักไม่ท้อถอยเพื่อจะติดตามดูจิต ตามที่หลวงปู่เทสก์และหลวงปู่ขาวแนะนำก็ตาม ปรากฏว่าสมาธิของท่านดิ่งลงเร็วมาก จิตจึงดับไม่รับรู้อะไร จึงได้แต่สงบเท่านั้น
เมื่อออกพรรษาที่ 3 แล้ว พระอาจารย์สุภาพได้แนะนำให้พระอาจารย์เปลี่ยนสอบนักธรรมตรี ในชั้นแรกท่านคิดว่าจะไม่สอบแต่พระอาจารย์สุภาพคอยให้กำลังใจ ท่านจึงดูหนังสือโดยใช้ความสามารถทางสมาธิที่ท่านมี ในที่สุดท่านก็สอบได้
๏ การออกธุดงค์ครั้งที่ 4 ภาคอีสาน
พระอาจารย์เปลี่ยนมีใจคิดจะสงเคราะห์มารดา ท่านจึงขอเงินจากมารดาของท่าน มาซื้อผ้ามุ้งกลดใหม่ เพื่อผลบุญนี้จะได้ติดตามมารดาของท่านต่อไปทุกภพทุกชาติ ซึ่งมารดาของท่านก็รีบถวายทันที
ท่านได้ธุดงค์อยู่ในละแวกบ้านซึ่งไม่ไกลนัก ไปหาพระอาจารย์อ่อนศรี วัดธรรมมิการาม บางครั้งได้เข้าไปฟังเทศน์หลวงปู่พรหม วัดประสิทธิธรรม ท่านได้พบกับหลวงปู่หงส์และพระอาจารย์อ่อน เจ้าอาวาสวัดดงบัว บ้านดงบัว อ.สว่างแดนดิน ซึ่งบวชเมื่ออายุมากแล้ว (ได้ 13 พรรษา) หลวงปู่หงส์ท่านยังคิดห่วงเรื่องลูกหลาน การปฏิบัติธรรมจึงยังไม่ก้าวหน้า ได้แต่แลกเปลี่ยนสนทนาธรรมเท่านั้น พระอาจารย์เปลี่ยนได้เดินทางกลับมาวัดทุ่งสว่างและอยู่จำพรรษาที่วัดด้วย เพราะพระอาจารย์สุภาพได้เดินทางไปหาที่วิเวกยัง จ.จันทบุรี
ที่มา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=9335