เจ้าน้ำเงิน...คำนี้ไม่มีในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แต่เกิดมีอยู่ในคำอธิบายคำว่า นวโลหะ...เป็นหนึ่งในโลหะทั้งเก้า ส่วนผสมพระพุทธรูปสำคัญ หรือพระกริ่ง
เจ้าน้ำเงิน เชื่อกันว่าเป็นโลหะเรียกเงินได้ เกิดจากหินในป่า แถวเมืองสุพรรณ
วิธีตรวจสอบ...ให้เอาเหรียญเงินหลายๆเหรียญโปะทับ เอาชามครอบ วางที่น้ำค้างตก...รุ่งเช้าเปิดชามดู ถ้าก้อนโลหะนั้น โผล่ไปอยู่บนกองเหรียญ สิทธิการิยะ ..........ท่านว่า เจ้าน้ำเงินแท้
แร่กายสิทธิ์ หายากที่สุด คือสุวรรณเขต หรือขีด ยังไม่มีใครบอกได้ว่า รูปพรรณเป็นฉันใด บอกได้แต่คุณสมบัติว่า ขีดไปที่โลหะอะไร โลหะนั้นจะกลายเป็นทอง (คำ)
ในสมัยรัชกาลที่ 3 ร่ำลือกันว่า สุวรรณขีด ฝังอยู่ในบริเวณพระเศียรหลวงพ่อโต (หน้าตัก 9 ศอก 21 นิ้ว) พระประธานวัดสระตระพาน เมืองเพชรบุรี (ตอนนี้เป็นวัดร้าง)
นักเลงประวัติศาสตร์โบราณคดีรุ่นอาจารย์ล้อม สืบเสาะจนได้ความ ตามโฉนดที่ดิน ชื่อเดิมวัดนี้คือ วัดสัตตพาน ชื่อพระองค์นี้ มีสองชื่อ พระศรีสรรเพชญ์สัตตะพันพาน ชื่อหนึ่ง
พระพุทธสุวรรณเขต (หรือขีด) อีกชื่อหนึ่ง
ชื่อแรก เล่าสืบกันมาว่า โลหะที่หล่อองค์หลวงพ่อ ใช้พานถึงเจ็ดพันใบ
ชื่อสอง พระพุทธสุวรรณเขต (หรือขีด) บอกนัยว่า ช่างหล่อได้ฝัง สุวรรณขีด ก้อนแร่กายสิทธิ์ไว้
ชื่อสองนี่เอง ก่อเหตุเภทภัยให้กับองค์หลวงพ่อ
ผู้มีบุญบารมีในยุคนั้น เกิดอยากนิมนต์ท่านจากเพชรบุรีไปไว้ในกรุงเทพฯ ตอนอยู่เมืองเพชร เม็ดพระศกสัญลักษณ์ศิลปะสมัยทวาราวดี ก็สวยงามดีอยู่ แต่มาอยู่กรุงเทพฯ ก็มีช่างฝีมือทักว่า เม็ดพระศกท่านใหญ่ไป...ไม่งาม
จัดการเลาะเม็ดพระศกเก่าออก แล้วเติมเม็ดพระศกใหม่ ขนาดเล็กกว่าแทน
ใครอยากดูว่า เม็ดพระศกหลวงพ่อโตองค์นี้ ใหญ่เล็ก งามไม่งามยังไง...ก็ไปขอพระท่านดูได้ ในโบสถ์วัดบวรนิเวศ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ ที่อยู่หลังพระชินสีห์...องค์นั้นแหละ
การเลาะเม็ดพระศกหลวงพ่อโตครั้งกระนั้น จะพบแร่กายสิทธิ์หรือไม่? พบแล้วเอาไปขีดโลหะอื่นเป็นทองไปแล้วหรือเปล่า? เป็นเรื่องที่สืบหาไม่ได้
อาจารย์ล้อมท่านแค่ตั้งข้อสังเกต นี่คือตัวอย่างให้ประจักษ์ว่า
ความละโมบของคนนั้น...สามารถทำได้ทุกอย่าง
อาจเป็นเพราะข่าวการเลาะเม็ดพระศกเศียรพระ แต่ครั้งกระนั้นแพร่หลาย ชื่อและความเชื่อแร่กายสิทธิ์สุวรรณขีด ก็เริ่มสร่างซาและหายไป จนวันนี้ ไม่มีปรากฏอยู่ในพจนานุกรมฯ
เหล็กไหล ใครมีในตัวอยู่ยงคงกระพัน เจ้าน้ำเงิน ใครมีไว้เรียกเงิน หรือสุวรรณขีด...ขีดโลหะเป็นทอง นี่คือความเชื่อของผู้คนแต่โบราณ
ที่มา
http://www.gmcities.com/board/index.php?topic=118.0