ขอเรียนถามท่าน ปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์)
พอดีวันนี้ ไปกราบท่านพระอาจารย์ฯ เพื่อถวายเทียนพรรษาพร้อมทั้งน้ำผึ้ง...
แล้วคุยกับน้ิองท่านหนึ่ง น้องบอกว่า ในพรรษาพระท่านจะไม่บิณฑบาต แต่ผมคิดว่าถ้าไม่บิณฑบาตพระท่านจะเอาอะไรขบฉัน
ส่วนท่านพระอาจารย์ฯ ในพรรษาท่านจะไม่ฉันข้าว จะฉันแต่ผลไม้และน้ำผึ้ง เป็นต้น วันนี้ผมก็นำภัตตาหาร(ข้าวและกับข้าว)ไปถวายท่าน
ท่านบอกไม่ฉันแล้วครับ กำลังปรับกระเพาะร่างกายเพื่อฉันผลไม้
ทั้งสองประการมีที่มาเช่นไรครับ ใคร่ขอทราบเป็นความรู้ครับ
ขอบคุณครับ
ประเด็นเรื่องภิกษุไม่บิณฑบาตในช่วงเข้าพรรษา การบิณฑบาตของภิกษุ เป็น ๑ ใน"นิสสัย" (คือ ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต ,สิ่งที่บรรพชิตพึงกระทำ) ซึ่งประกอบไปด้วย ๔ อย่าง คือ เที่ยวบิณฑบาต, นุ่งห่มผ้าบังสุกุล, อยู่โคนไม้, ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า
- เที่ยวบิณฑบาต ภิกษุต่างจากคฤหัสถ์ คฤหัสถ์มีการทำมาหาเลี้ยงชีพ เพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัย ๔ แต่ภิกษุไม่สามารถประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงชีพได้ ฉะนั้นภิกษุจึงต้องดำรงชีพในชีวิตสมณะโดยการบิณฑบาต(ปิณฺฑปาต = ก้อนข้าวที่ตก) ถือเป็นกิจที่สมณะพึงปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ตน และประโยชน์แก่สาธุชนผู้แสวงบุญเลี้ยงดูทำนุบำรุงดูแลสมณะ เพื่อให้สมณะได้มีแรงมีกำลังในการศึกษาพระธรรมคำสอนและบำเพ็ญสมณธรรมอย่างสะดวกสบาย มีข้อยกเว้นกล่าวไว้เช่นกัน คือ หากมีสาธุชนกล่าวอาราธนานิมนต์ให้ฉันภัตตาหารแล้ว ก็ไม่ถือว่าผิดพระวินัยแต่ประการใด อย่างเช่น เช้านี้พระสงฆ์ไม่ได้ออกไปบิณฑบาต เพราะมีโยมสาธุชนนิมนต์ให้ไปฉันภัตตาหารอยู่ก่อนแล้ว ก็ไม่ถือว่าผิดนิสสัยแต่ประการใด เป็นต้น
- นุ่งห่มผ้าบังสุกุล พระภิกษุนุ่งห่มผ้าไตรจีวร ที่กล่าวกันว่าคือ"ธงชัยของพระอรหันต์" ประกอบไปด้วยผ้า ๓ ผืน ได้แก่ สบง ๑,ผ้าจีวร ๑ ,สังฆาฏิ ๑ รวมเป็น ๓ ผืน ก่อนพระภิกษุจะนุ่งห่มผ้าก็จะต้องมีการพิจารณาทั้งก่อนใช้ ขณะใช้ และหลังใช้ ว่านุ่งห่มเพื่อบำบัดความหนาว บำบัดสัมผัสอันเกิดจากเหลือบ ยุง ลม แดด สัตว์ทั้งหลาย และเพื่อปกปิดอวัยวะอันทำให้เกิดความละอาย ในพระวินัยมีกล่าวเกี่ยวกับผ้าไว้มากลองศึกษาเพิ่มเติมดูนะครับ อาทิ การพินทุ , การวิกัปป์ , การอธิษฐานฯ
- อยู่โคนไม้ ในสมัยก่อนนั้นภิกษุอาศัยกันอยู่บริเวณโคนไม้ มาในปัจจุบันข้อนี้ก็ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย คือ ภิกษุอาศัยตามกุฏิ แต่การสร้างกุฏิก็ต้องอยู่ในกรอบของพระวินัยเช่นกัน ด้วยมีการปรับอาบัติสังฆาทิเสสโดยสงฆ์สวดประกาศเป็นต้น
- ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า ในสมัยก่อนภิกษุเมื่อเจ็บไข้ไม่สบายขึ้นมา พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ภิกษุฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่าเป็นยาได้ น้ำมูตรเน่านี้ความจริงก็คือ"น้ำปัสสาวะ"นั่นเอง ส่วนจะฉันให้เป็นยารักษาโรคได้อย่างไรนั้น สอบถามหลังไมค์ได้นะครับ
มาว่ากันต่อที่ประเด็นภิกษุไม่บิณฑบาตในช่วงเข้าพรรษานะครับ อาจจะเป็นไปได้ที่ว่ามีคฤหัสถ์ปวารนาถวายภัตตาหารเป็นนิจอยู่แล้ว ภิกษุจึงไม่ออกบิณฑบาตครับ เพราะโดยปกติพระภิกษุต้องเที่ยวบิณฑบาตเป็นประจำอยู่แล้วไม่ว่าจะอยู่ในช่วงเข้าพรรษาหรือนอกพรรษาแล้วก็ตาม และถ้าหากภิกษุไปหาซื้อกับข้าวมาฉันเองก็จะต้องอาบัตินิสัคคิยปาจิตตีย์ ในข้อ"ภิกษุทำการซื้อขายด้วยรูปิยะ(รูปิยะ คือ ของที่เขาใช้เป็นทองและเงิน)ต้องนิสัคคิยปาจิตตีย์
หากพิจารณาที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติให้มีการเข้าพรรษาก็เพื่อป้องกันไม่ให้ภิกษุเที่ยวจาริกไปในที่ต่างๆในช่วงฤดูฝน ซึ่งช่วงนี้เองต้นกล้าข้าวของชาวบ้านกำลังออกรวง หากภิกษุเที่ยวจาริกไปแล้วก็จะเหยียบย่ำจนเกิดความเสียหาย พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติให้ภิกษุอยู่จำพรรษาเป็นเวลา ๓ เดือน(ประมาณว่าจนหมดช่วงฤดูฝน) เหตุผลของการจำพรรษาจึงเป็นมาอย่างนี้ครับ
ประเด็นต่อมาว่าด้วยในพรรษาพระท่านจะไม่ฉันข้าว จะฉันแต่ผลไม้และน้ำผึ้ง? โดยปกติแล้วในพระวินัยไม่มีการห้ามภิกษุฉันข้าว และใช้ฉันได้แต่ผลไม้และน้ำผึ้งในช่วงเข้าพรรษาแต่อย่างใดครับ ก่อนขบฉัน ขณะขบฉัน และหลังขบฉัน ก็ต้องพิจารณาว่าจักขบฉันไม่ให้เป็นไปเพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนาน ไม่เป็นไปเพื่อความเมามัน เกิดกำลังพลังกาย ไม่เป็นไปเพื่อประดับและตกแต่ง แต่เป็นไปเพื่อความตั้งอยู่ได้แห่งสังขารร่างกาย เป็นไปเพื่ออัตภาพ เพื่อความสิ้นแห่งความลำบากทางกาย และเพื่ออนุเคราะห์แก่การประพฤติพรหมจรรย์เป็นที่สุด (สรุปย่อคำแปลจากบทพิจารณาอาหาร"ปฏิสังขาโยฯ)
เหตุผลที่พระท่านไม่ฉันข้าวและฉันผลไม้ น้ำผึ้งแทน ข้อนี้ ผมเองก็ไม่ทราบวัตถุประสงค์เช่นกันครับ อย่างไรเสียลองสอบถามเหตุผลกับพระอาจารย์ท่านดูนะครับ
ฝากทิ้งท้ายด้วยธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้แก่ภิกษุเพื่อไว้พิจารณาเนืองๆ ๑๐ ประการดังนี้
๑. บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆว่า บัดนี้ เรามีเพษต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกิริยาใดๆของสมณะเราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ(เพื่อให้สำรวมกิริยาอาการให้เหมาะสมกับสมณะสารูป)
๒. การเลี้ยงชีวิตของเราเนื่องด้วยผู้อื่น เราควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย(เพื่อให้สำรวมการฉันอาหารตามมีตามได้ ไม่เลือกฉัน)๓. อาการทางกาย วาจา อย่างอื่นที่เราจะต้องทำให้ดีขึ้นไปกว่านี้ยังมีอยู่อีก มิใช่เพียงเท่านี้(เพื่อสำรวมกาย วาจาให้ยิ่งๆขึ้นไป)
๔. ตัวของเราเองติเตียนตัวเราเองโดยศีลได้หรือไม่(เพื่อความไม่ประมาท ไว้ตรวจสอบความประพฤติตนเองว่ามีข้อบกพร่องหรือไม่)
๕. ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วติเตียนเราโดยศีลได้หรือไม่(เพื่อรู้จักรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น น้อมรับคำติเตียนจากผู้รู้)
๖. เราจักต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจด้วยกันหมดทั้งสิ้น(เพื่อเตรียมใจรับสภาพกฎเกณฑ์ความธรรมดา คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)
๗. เรามีกรรมเป็นของตัว ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว(เพื่อให้ทำความดีละเว้นความชั่ว)
๘. วันคืนล่วงไป บัดน้เราทำอะไรอยู่(เพื่อไม่ปล่อยเวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์)
๙. เรายินดีในที่สงัดหรือไม่(เพื่อให้เกิดความพอใจในการปฏิบัติธรรมที่เกิดจากการอยู่ในที่สงบ)
๑๐. คุณวิเศษของเรามีอยู่หรือไม่ ที่จะทำให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขินในเวลาเพื่อนบรรพชิตถามในการภายหลัง(เพื่อให้เกิดความเพียรเพื่อบรรลุคุณวิเศษคือมรรคผล นิพพาน).