มรณานุสติกรรมฐาน
มรณานุสสติ แปลว่า นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ เรื่องของความตายเป็นของธรรมดาของสัตว์และมนุษย์ที่เกิดมา เมื่อมีความเกิดมาได้แล้ว ก็ต้องตายในที่สุดเหมือนกันหมด ความตายนี้รู้สึกว่าเป็นปกติธรรมดาของคนและสัตว์ทั่วไป ท่านผู้อ่านจะสงสัยว่า เมื่อความตายเป็นของ
ธรรมดาที่ใคร ๆ ก็ทราบว่าตัวจะต้องตาย แล้วพระพุทธเจ้ามาสอนให้นึกถึงความตายเพื่อประโยชน์อะไร ? ปัญหาข้อนี้ตอบไม่ยาก เพราะธรรมดาของคนที่มีกิเลสทั่วไป รู้ความตายว่าเป็นของธรรมดาจริง แต่ทว่า เห็นว่าเป็นธรรมดาสำหรับผู้อื่นตายเท่านั้น ถ้าความตายจะเข้ามาถึงตนเองหรือญาติ คนที่รักของตนเข้า ก็ดิ้นรนเอะอะโวยวายไม่ต้องการให้ความตายมาถึงตนหรือคนที่ตนรัก พยายามทุกทางที่จะไม่ยอมตายปกติของคนเป็นอย่างนี้ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่า เกิดมาแล้วต้องตาย ไม่ว่าใครจะหนีความตายไม่ได้ การดิ้นรน เอะอะโวยวายต้องการให้ความตายไปให้พ้นนี้เป็นการดิ้นรนเหนือธรรมดาไม่มีทางทำได้สำเร็จ จะทำอย่างไร ความตายก็ต้องจัดการกับชีวิตแน่นอน เมื่อกฎธรรมดาเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอน คือย้ำตามความเป็นจริงว่า ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลายความตายนั้นเป็นสิ่งปกติธรรมดาไม่มีใครจะหลีกหนีพ้น ความตายนี้แบ่งออกเป็นสาม
อย่างด้วยกัน คือ
๑. สมุจเฉทมรณะ ความตายขาดตอน หมายถึงความตายของพระอรหันต์ท่านเสร็จกิจแห่งพรหมจรรย์ คือสิ้นกิเลสแล้ว เหตุที่จะต้องทำให้เกิด คือกิเลสและตัณหาที่จะควบคุมบังคับท่านให้เกิดอีกไม่มี ท่านมรณะแล้วท่านไม่ต้องกลับมาเกิดอีก เรียกว่า สมุจเฉทมรณะ แปลว่าตายขาดตอนไม่กลับมาเกิดอีก
๒. ขณิกมรณะ แปลว่า ตายเล็กๆ น้อย ๆ ท่านหมายเอาความตาย คือ ความดับ หรือการเคลื่อนไปของชีวิต ที่มีการเคลื่อนไปวันหนึ่ง ๆ วันเวลาล่วงไป ชีวิตก็เคลื่อนไปใกล้จุดจบสุดยอดคือ ตายดับทุกขณะ การผ่านไปของชีวิตท่านถือเป็นความตาย คือ ตายทุกลมหายใจออกและเกิดต่อทุกๆ ลมหายใจเข้า อาหารเก่าที่บริโภคเข้าไปเป็นการหล่อเลี้ยงชีวิตชั่วคราวเมื่อสิ้นอำนาจของอาหารเก่า ร่างกายต้องการอาหารใหม่เข้าไปหล่อเลี้ยงแทนแต่ถ้าไม่ได้อาหารใหม่เข้าไปทดแทนชีวิตก็จะต้องดับ ชีวิตที่ทรงอยู่ได้ก็เพราะอาหารใหม่เข้าไปหล่อเลี้ยงไว้ เมื่อสิ้นสภาพของอาหารเก่า ท่านถือว่าร่างกายต้องตายแล้วไปยุคหนึ่ง พอได้อาหารใหม่มาทดแทน ชีวิตก็เกิดใหม่อีกวาระหนึ่ง การเกิดการตายต่อเนื่องกันทุกวันเวลาอย่างนี้ ถ้าอาหารเก่าหมดสภาพไม่บริโภคใหม่ หรือลมหายใจออกแล้ว ไม่หายใจเข้า สภาพของร่างกายก็จะสิ้นลมปราณ คือตายทันที ที่ทรงอยู่ได้อย่างนี้ก็เพราะได้ปัจจัยบางอย่างค้ำจุนทดแทนกันเข้าไป ท่านสอนให้มองเห็นสภาพของสังขารร่างกายว่ามีความตายเป็นปกติทุกวันเวลาอย่างนี้ท่านเรียกว่า ขณิกมรณะ แปลว่า ตายทีละเล็กละน้อย หรือตายเล็ก ๆ น้อย ๆ
๓. กาลมรณะ และ อกาลมรณะ กาลมรณะ แปลว่า ตายตามกาลตามสมัยที่ชาวโลกนิยม เรียกว่า ถึงที่ตาย คือสิ้นอายุ อย่างชนิดที่ไม่มีการแก้ไขได้ อกาลมรณะ แปลว่า ตายในโอกาสที่ยังไม่ถึงกาลควรตาย แต่ต้องตายเพราะกรรมบางอย่างที่เป็นอกุศลเข้ามาบีบคั้นให้ตาย การตายประเภทหลังนี้พอมีทางต่อให้อายุยืนยาวต่อไปได้ตามสมควรแก่กรรมในอดีต จะต่อให้เลยพอดีนั้นไม่ได้ พวกตายตามแบบกาลมรณะตายไปแล้วเสวยผลกรรมทันที แต่พวกที่ตายตามแบบอกาลมรณะนี้ ตายแล้วยังไม่ไปเสวยผลกรรมทันที ต้องไปเป็นสัมภเวสี แสวงหาที่เกิดก่อน คือรอกาลที่จะถึงกาลมรณะก่อน เมื่อถึงเวลาแล้วจึงจะได้รับผลกรรมดีและกรรมชั่วที่ทำไว้ขณะที่ยังไม่ได้รับผลกรรมที่ทำไว้นั้นต้องลำบากในเรื่องอาหารและที่อยู่ ท่องเที่ยวไปตามความต้องการ พวกตายแบบอกาลมรณะนี้ ที่ชาวโลกนิยมเรียกว่า ตายโหงนั่นเอง เช่น ถูกฆ่าตายคลอดลูกตาย รถทับตาย ฟ้าผ่าตาย ฆ่าตัวตาย งูกัดตาย รวมความว่าตายแบบผิดปกติ ไม่ใช่ป่วยตายตามธรรมดาเรียกว่า อกาลมรณะ คือตายก่อนกำหนด ตายทั้งนั้น การตายแบบนี้ ถ้ามีท่านผู้รู้ช่วยเหลือสามารถช่วยให้พ้นตายได้ เช่น ที่นิยมเรียกกันว่า สะเดาะเคราะห์หรือต่ออายุ การสะเดาะเคราะห์หรือต่ออายุนั้น ต้องทำโดยธรรมจริง ๆ และรู้จริงจึงใช้ได้แต่ถ้าต่อแบบหมอต่อยังมืดมนท์ด้วยกิเลสแล้วไม่มีทางสำเร็จผล ไม่ต่อดีกว่า ขืนต่อก็เท่ากับไปต่อชีวิตหมอให้มีความสุข ส่วนผู้ต่อกลายเป็น ผู้ต่อทุกข์ไป เรื่องต่ออายุนี้มีเรื่องมาในพระสูตรคือเรื่องของท่าน อายุวัฒนสามเณร
ที่มา
http://www.luangporruesi.com/499.html