ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
ศุกร์ที่ ๒๙ กรกฎาคม พศ. ๒๕๕๔
.........ปรับโลกเข้าหาธรรม เลือกเฟ้นธรรมที่เหมาะสมกับโลก
นำมาใช้กับสิ่งที่กำลังคิดและกิจที่กำลังทำ ประยุกค์ใช้ให้เข้ากัน
เพื่อความเจริญก้าวหน้าทั้งในทางโลกและทางธรรมแก่ตนเอง
และคนรอบกาย มันจึงไม่ใช่ความวุ่นวาย แต่เป็นการฝึกจิต
ให้รู้จักการระลึกนึกคิด รู้จักการพิจารณาเข้าหาเหตุและผล
บนพื้นฐานของความเป็นจริง จากสิ่งที่เป็นอยู่รอบกายทั้งหลาย
ที่กำลังดำเนินไป วิเคราะห์ไปยังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สรุปถึงสิ่งที่ได้
ผ่านพ้นมา โดยใช้สติและปัญญาที่มีธรรม นั้นมานำความคิด
เป็นการฝึกจิตให้อยู่กับปัจจุบันธรรม....
.....เมื่อก่อนนั้น สมัยปฏิบัติธรรมใหม่ๆ เราชอบใช้การหนีปัญหา
มาเป็นทางออก เวลาที่มีปัญหามากระทบ มักจะหลบเข้าป่า
เข้าถ้ำ ไปจำศีลภาวนา เบื่อความวุ่นวาย ซึ่งมันก็แก้ได้ชั่วขณะหนึ่ง
และเมื่อเรากลับออกมาจากป่า จากถ้ำ เราก็ต้องเจอกับปัญหาใหม่ๆเข้ามาอีก
เราจะหลีกหนีปัญหาต่างๆนั้นไม่ได้เลย เพราะเราต้องอยู่ในสังคม
ต้องอาศัยศรัทธาของพุทธบริษัทในการเลี้ยงชีพ ต้องพบปะกับผู้คน
และเมื่อรู้และเข้าใจในจุดนี้ จึงต้องเปลี่ยนแนวคิดและการปฏิบัติใหม่
มาทำความรู้ความเข้าใจกับกายและจิต กับความคิดของสังคม
เจริญสติวิปัสสนา เพื่อที่จะอยู่กับปัจจุบันธรรมทั้งหลายให้ได้
เพราะว่าเมื่อก่อนนั้นเราไปเน้นหนักในเรื่องของจิตสมถะสมาธิ
ซึ่งสมถะกรรมฐานนั้นเป็นเรื่องของสมาธิ ความสงบ อาศัยความวิเวก
เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน จึงไม่ชอบความวุ่นวาย แต่วิปัสนากรรมฐานนั้น
อยู่กับปัจจุบันธรรม สิ่งที่กำลังเคลื่อนไหว ที่กำลังเกิดขึ้น ตามดู ตามรู้ ตามเห็น
แต่ไม่เอามาเป็นอารมณ์และติดอยู่ มีสติและสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา
ซึ่งจะต่างจากอารมณ์ของสมถะกรรมฐาน ที่ต้องการความวิเวก ความสงบเงียบ
มีสติแนบแน่นอยู่กับการภาวนา จนอารมณ์นั้นเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่เพ่งอยู่
คือรู้เฉพาะสิ่งที่กำลังเพ่งอยู่เท่านั้น รู้ในความสงบนิ่ง แต่อารมณ์ของวิปัสสนานั้น
จะรู้เห็นในสิ่งที่เป็นไปรอบกายทั้งหลายที่เกิดขึ้น แต่ไม่เข้าไปยึดติดกับสิ่งเหล่านั้น
พิจารณาสิ่งที่กำลังเป็นไปเข้าสู่หลักธรรมทั้งหลาย วางจิตวางใจให้อยู่กับธรรม
มีธรรมคุ้มครองจิตในการคิดและการกระทำ รู้เห็นในสิ่งที่เป็นจริงตามหลักธรรม...
.......การเผยแพ่ธรรมะนั้น สิ่งที่สำคัญคือการทำอย่างไรที่จะให้เขาเข้ามาหาเรา
ซึ่งต้องใช้หลักจิตวิทยามองหาความชอบพื้นฐานของแต่ละบุคคล นำเสนอในสิ่ง
ที่เขามีความชอบอันประกอบด้วยกุศล สร้างความคุ้นเคยกัน เพื่อลดความกดดัน
ความรู้สึกแปลกแยกและแตกต่างระหว่างกันออกไป ไม่ไปยัดเยียดธรรมให้เขา
ปฏิบัติในขณะที่เขานั้นยังไม่พร้อม น้อมนำธรรมที่เหมาะสมมานำเสนอแก่เขา
แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง ไม่เข้าไปลบล้างพฤติกรรมเก่าๆของเขาในทันที
เพราะมันจะทำให้มีแรงต่อต้าน จึงต้องใช้ระยะเวลาในการละลายพฤติกรรมเก่า
ของเขาเหล่านั้นที่เคยเป็นมา จึงต้องใช้เวลาและความอดทนในการสอนให้เขารู้ธรรม
ตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล โดยใช้กุศโลบายธรมที่แตกต่างกัน....
เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๒๘ น. ณ ตถตาอาศรม บานบึง ชลบุรี