ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔
....รับรู้รับฟังปัญหา เสพข่าวสาร ที่ผ่านเข้ามาในความคิด
นำมาพิจารณาถึงที่มาของปัญหาในแต่ละเรื่องที่ได้เกิดขึ้น
จึงสรุปได้ว่า ปัญหานั้นล้วนเกิดขึ้นมาจากคน คนคือต้นเหตุ
ที่มาของปัญหาทั้งหลาย ยิ่งในสังคมใหญ่ที่มีความหลากหลาย
ปัญหานั้นก็ย่อมจะมีมากขึ้นเป็นธรรมดา เพราะว่ามีความคิดเห็น
ที่แตกต่างกันออกไปและการไม่ยอมรับฟังในความคิดเห็นของผู้อื่น
มันจึงทำให้เกิดปัญหา (อยู่คนเดียวระวังจิต อยู่กับมิตรระวังวาจา )...
.....มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม คือต้องมีการอยู่รวมกลุ่ม
และอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มก้อน ตามเชื่อชาติและสายพันธ์
และภูมิภาค จากกลุ่มเล็กไปสู่กลุ่มใหญ่ และเมื่อมากคนก็มากความคิด
เพราะทุกคนต่างเคารพความคิดเห็นของตนเอง ซึ่งความคิดเหล่านั้น
เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่สามารถจะคิดได้ เพราะความคิดเป็นเรื่องของภายใน
อยู่ในใจไม่มีใครรู้ แต่ที่เกิดมีปัญหาก็เพราะว่าการนำเสนอความคิด
การแสดงความดิคเห็นออกมาต่อสาธารณะ เพราะอาจจะไปกระทบ
กับความคิดเห็นของผู้อื่น...
.....หลักการในการแสดงความคิดเห็นนั้น มันต้องเริ่มที่เรา
คือตัวเราต้องหาเหตุผลมารองรับความคิดของเราเสียก่อน
(ทำไมเราต้องมีความคิดเห็นเป็นอย่างนี้อย่างนี้ และจะมีผลอย่างไรถ้าเรานำเสนอไป)
และเมื่อเรานำเสนอไป เราต้องทำใจต่อผลกระทบที่ตามมี(ถ้ามีความเห็นที่แตกต่างกัน)
เราต้องเคารพในสิทธิส่วนบุคคลของเขา ที่เขาสามารถจะคิดเห็นที่แตกต่างไปจากเราได้
แล้วเอาความคิดที่แตกต่างกันมาประสานหาจุดที่ลงตัว โดยใช้เหตุและผล
(คงความคิดของทั้งสองฝ่ายไว้ อย่าไปทำลายหรือตัดทิ้ง)แล้วมองหาสิ่งที่
เป็นจุดกลางระหว่างความคิดทั้งสองฝ่าย แล้วเราจะได้ความคิดที่ลงตัว
(ไม่มีฝ่ายใดเสีย มีแต่ได้ทั้งสองฝ่าย)....
...สรุปแล้วมันก็คือเราต้องมีสติ ในการคิดการกระทำ คือต้องคิด ก่อนที่จะพูด
(ต้องสรุปความคิดของเราให้ได้ก่อนที่จะนำเสนอ) ถ้าเราไม่เผลอสติ
การคิดการกระทำก็จะมีความรอบคอบยิ่งขึ้น และจะรู้จักรับฟังความคิดเห็น
ของผู้อื่นได้มากขึ้น เมื่อเราเข้าใจตัวเราได้แล้ว เราก็จะเข้าใจผู้อื่นได้เช่นกัน...
......ความคิดเห็นของแต่ละคนนั้น เกิดจากวัยวุฒิ คุณวุฒิ พื้นฐานของครอบครัว
สังคมรอบข้าง และอารมณ์ความรู้สึกของเขาในขณะนั้น ถ้าเราเข้าใจในเรื่อง
"จิตวิทยาของมนุษย์"เราจะเข้าใจในเหตุผลของแต่ละคนที่แตกต่างกัน
และสิ่งนั้นจะไม่สร้างความแตกแยก จากความเห็นที่แตกต่าง
แต่จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนไปสู่ความก้าวหน้า เพราะว่าเราจะได้มุมมองใหม่ๆ
ในความที่แตกต่างกัน และมันจะเกิดการพัฒนาทางความคิดขึ้นต่อไป...
......การเรียนรู้ของแต่ละบุคคลนั้น ย่อมจะแตกต่างกันจากพื้นฐานที่ได้กล่าวมา
และเมื่อเราเข้าใจในเรื่อง " จิตวิทยา " ที่มาของแต่ละบุคคลแล้วนั้น ปัญหามัน
ก็จะไม่เริ่มที่ตัวเรา เมื่อรู้เห็นและเข้าใจ การให้อภัยก็จะตามมา เพราะว่าไม่ยึด
ถือมาเป็นสาระ ไม่เก็บมาเป็นข้อกังวลใจ การที่เราไปทุกข์ใจกับสิ่งเหล่านั้น
มันเหมือนการไปเก็บกิเลสของเขามาปรุงแต่ง เพิ่มกิเลสให้แก่ตัวของเราเอง
ซึ่งกิเลสภายในใจของเรานั้น มันก็มีมากอยู่แล้ว ยังชำระขัดเกลาไม่หมดเลย
แล้วเราจะไปเก็บกิเลสของผู้อื่นมาเพิ่มอีกทำไม มองโลกในเชิงบวกเข้าไว้
แล้วเราจะพบกับความสุขใจ ไม่ต้องไปวุ่นวายทุกข์ใจกับกิเลสตัณหาของผู้อื่น
" บุคคลย่อมแตกต่างกัน ด้วยธาตุและอินทรีย์ บารมีที่สะสมกันมา "....
.....ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต...
.....รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร....
๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๕.๐๕ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี