ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
ฝนตกตลอดทั้งวันทั้งคืน พื้นดินเปียกชื้นไปด้วยน้ำ
หมอกปกคลุมทั้งขุนเขา สายลมเย็นนั้นพัดผ่านมาตลอด
นั้งๆนอนๆอยู่แต่ในที่พักออกไปข้างนอกไม่ได้เพราะฝนตก
เจริญสตินั่งสมาธิพิจารณาธรรม เปิดฟังคำบรรยายธรรม
ของครูบาอาจารย์หลายๆท่าน เช่นของหลวงพ่อพุทธทาส
หลวงพ่อชา หลวงพ่อจรัล หลวงพ่อจำเนียร ฟังสลับกันไป
นั่งจนเมื่อยก็เปลี่ยนมาเป็นนอน นอนพิจารณาร่างกาย
เจริญกายคตาจนสมควรแก่เวลาก็ลุกขึ้นมาเขียนบทกวี
ทำอยู่อย่างนี้เกือบทั้งวันทั้งคืน ตั้งแต่ตื่นจนกระทั้งหลับ
ตรวจสอบจิตของตนเองถึงที่มาของอารมณ์เหล่านี้ที่เป็นอยู่
จึงได้รู้ว่าเกิดจากความเบื่อและความอยาก....
"ความเบื่อกับความอยากเป็นของคู่กัน"
เมื่อความอยากเกิดขึ้นจิตก็ดิ้นรนขวนขวาย
หาเหตุและปัจจัยมาสนองตอบความอยาก
ถ้าสนองตอบตัณหาความอยากได้ จิตก็ยินดี
ถ้าไม่ได้ตามที่ปราถนา จิตมันก็เกิดปฏิฆะ
และเมื่อเสพในความอยากนั้นจนเต็มที่แล้ว
จิตมันก็จะเบื่อในอารมณ์นั้น ความอยากในสิ่งอื่นก็เข้ามาแทนที่
เป็นเช่นนี้เรื่อยมาคือ"อยากๆเบื่อๆแล้วก็เบื่อๆอยากๆ"
ตามกิเลสตัณหาที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงของอารมณ์
ถ้าเราไม่รู้เท่าทันอารมณ์เหล่านี้ ชีวิตของเราก็จะไม่มีความสุข
เพราะเราต้องดิ้นรนขวนขวายหาปัจจัยมาสนองตอบตัณหาไม่สิ้นสุด......
แต่ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ พิจารณาอยู่
รู้เท่าทันอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้น รู้จักข่มกิเลส ดับตัณหาลงได้
ใจเราก็จะไม่เร้าร้อนไม่วุ่นวายทุรนทุรายเพราะตามใจกิเลส
การที่จะข่มกิเลส ดับตัณหาลงได้นั้น ต้องอาศัยปัญญา
การคิดพิจารณา ให้เห็นทุกข์ เห็นโทษของกิเลสตัณหา
จนเกิดความเกรงกลัวและละอายในกิเลสตัณหานั้นขึ้นในจิต
มันจะเกิดความยับยั้งขึ้นในจิตทำให้เราไม่กล้าคิดและกล้าทำ
องค์แห่งคุณธรรมความละอายและเกรงกลัวต่อบาปได้เกิดขึ้น
ในจิตของเราแล้วและถ้าเราเพียงแต่คิดได้ แต่ยังทำไม่ได้นั้น
แสดงว่าเรายังอ่อนกำลัง ยังเป็นผู้พ่ายแพ้แพ้ต่อกิเลส แพ้ต่อตัณหา
ยังเป็นผู้ห่างไกลจากองค์ธรรมเป็นได้เพียงใบลานเปล่า
เป็นเช่นภาชนะที่มีรอยรั่วมีประโยชน์ใช้สอยเพียงน้อยนิดเพราะคิดแต่ไม่ทำ......
อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพียงน้อยนิด ถ้าจิตขาดการพิจารณา
เผลอสติเข้าไปปรุงแต่งคล้อยตามอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้น มันเหมือนกับการ
ไปเพิ่มกำลังให้มัน เพลิดเพลินไปกับการปรุงแต่งเหล่านั้นที่เป็นอกุศลจิต
มันก็ก่อให้เกิดการสร้างภพสร้างชาติใหม่ขึ้นมา ไม่รู้จักจบสิ้นเพราะการ
ปรุงแต่งทำให้มีทำให้เป็นนั้น เราจึงควรมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหลาย
พิจารณาแยกแยะออกให้ได้ ถึงความเป็นกุศลจิตและความเป็นอกุศลจิต
เห็นคุณ เห็นโทษ เห็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของอารมณ์เหล่านั้น
ตามดูตามรู้ให้ทันในความคิดที่เกิดขึ้นทั้งหลาย ด้วยการเจริญสติพิจารณา
ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม...
ขอบคุณกิเลสตัณหาที่มาเป็นแบบทดสอบอารมณ์
เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๖.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี