คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๖ สค. ๕๔...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
ตั้งแต่ออกจากป่าเข้ามาอยู่กับสังคมเมือง ต้องคลุกคลีพบปะกับคนหมู่มากนั้น
ต้องปรับรูปแบบการนำเสนอธรรมะใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคมปัจจุบัน
เพื่อให้ทันต่อยุคสมัย ความเจริญทางด้านวัตถุที่เป็นอยู่ โดยใช้ระบบการสื่อสารรูปแบบต่างๆ
เป็นช่องทางเลือกในการนำเสนอธรรม ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดเท่าที่มีช่องทางที่จะทำได้
ต้องทำความรู้ความเข้าใจในความสนใจของสังคมคนไทยในปัจจุบันในการเสพข้อมูลข่าวสาร
ดั่งที่เคยได้กล่าวมาแล้วในครั้งก่อนๆเรื่อง " ปริสัญญุตา ความเป็นรู้จักชุมชน " เพราะการทำงาน
กับคนหมู่มากนั้น เราต้องรู้และเข้าใจอุปนิสัยและความชอบความต้องการของแต่ละคนและแต่ละวัยที่แตกต่างกัน
การทำงานกับวัยรุ่นเราก็ต้องเข้าใจกับวัยรุ่น ว่าพวกเขาชอบอะไร ทำงานกันไปพูดคุยกันไป ให้พวกเขาเพลิดเพลิน
สอดแทรกธรรมะลงไปบ้างตามโอกาศ ยกนิทานมาเล่าให้เด็กฟังสลับกันไปเฮอาไร้สาระบ้าง แฝงคติธรรมบ้าง
เพื่อไม่ให้เด็กเบื่อหน่าย ทำความคุ้นเคยใกล้ชิดกัน ทำให้เด็กไม่เกร็งจนไม่กล้าเข้าใกล้ เมื่อเด็กไว้ใจไปมาหาสู่
คุ้นเคยกับเราแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะสั่งสอนอบรมพวกเขาอย่างไร เป็นขั้นตอนต่อไป ซึ่งเราเป็นผู้ใหญ่
เป็นครูบาอาจารย์นั้นต้องไม่มี " อคติ "คือความลำเอียง ความเอนเอียงเข้าข้าง ความไม่ยุติธรรม ความไม่เป็นกลาง
ต้องวางตัวให้ความสำคัญเสมอกัน ไม่เอาใจใครมากเป็นพิเศษ พูดคุยกับทุกคนเท่าๆกัน ใช้งานให้ทั่วกันเท่าๆกัน
ไม่ให้พวกเขาเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ว่าพระอาจารย์ให้ความสำคัญผู้ใดเป็นพิเศษ เราจึงจะปกครองและควบคุม
พวกเขาได้ ซึ่งความมี " อคติ " นั้น เกิดจากสาเหตุ ๔ ประการคือ...
๑.ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรักใคร่ชอบพอ
๒.โทสาคติ ลำเอียงเพราะความไม่ชอบทั้งหลาย
๓.ภยาคติ ลำเอียงเพราะความหวาดกลัว
๔. โมหาคติ ลำเอียงเพราะความหลง ความเชื่อและสำคัญผิด
การเป็นผู้นำนั้นเราต้องมีคุณธรรม รู้จักผูกมิตร ผูกจิตผูกใจผู้ร่วมงาน เพื่อให้องค์กรที่เราดูแลอยู่นั้น มีความเข้มแข็ง
รักใคร่สามัคคี ช่วยเหลือสงเคราะห์กันในสิ่งที่ดี คือการสอนให้เขามีคุณธรรม สิ่งนั้นคือหน้าที่ของผู้นำ...
รูปแบบการนำเสนอนั้นจึงต้องปรับเปลี่ยนไป เพื่อให้หมาะสมกับ จังหวะ เวลา โอกาส สถานที่และบุคคล
ต้องเข้าใจในสังคมที่เราจะนำเสนอว่าเขาอยู่กันอย่างไร ไม่เข้าไปทำลายความเชื่อความศรัทธาที่เขาเคยมีมาก่อน
ใช้วิธีการให้เขาซึมซับโดยไม่รู้ตัว ซึ่งต้องเริ่มจากความคุ้นเคยและศรัทธา มาเป็นพื้นฐานเพื่อดึงให้เขาเหล่านั้นเข้ามา
แล้วค่อยๆสอดแทรกธรรมะเข้าไป โดยการสร้างจิตสำนึกความรู้สึกต่อส่วนรวม ส่งเสริมให้เขาทำในสิ่งที่เขานั้นทำได้
คุณธรรมข้อดีทั้งหลายที่เขามีอยู่ สนับสนุนส่งเสริมให้เขาทำเพิ่มขึ้นยิ่งๆขึ้นไป เพื่อเป็นการลดเวลาที่จิตของเขาให้อยู่
กับสิ่งที่เป็นอกุศลนั้นให้น้อยลง ใช้หลักการที่ว่า “ แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง เป็นแนวทางให้เดินไปร่วมกันได้ “
ซึ่งเป็นการละลายพฤติกรรมที่ไม่ดีของเขาเหล่านั้น โดยที่เขารู้ตัวว่ากำลังเปลี่ยนแปลง ไม่ให้เขารู้สึกว่าถูกบังคับ
หรือถูกยัดเหยียดให้ปฏิบัติตาม แต่มันจะเกิดจากจิตสำนึกความรู้สึกของเขาเอง ที่จะเปลี่ยนแปลงพฟติกรรมเก่าๆ
ของเขาที่เคยทำมา มองเห็นคุณค่าของเวลาแห่งชีวิตที่เหลืออยู่และกำหนดทิศทางเดินของชีวิตด้วยตัวของเขาเอง
เป็นการสอนที่เหมือนกับไม่ได้สอน เป็นการเผยแผ่ธรรมที่ไม่ติดยึดในรูปแบบและวิธีการ เป็นวิธีการในการทำหน้าที่
ของตนนั้นให้สมบูรณ์ ตามบทบาทและหน้าที่ ตามที่เหตุและปัจจัยที่มีในขณะนั้นให้เหมาะสม...
เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนตร
๗ สิงหาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๓.๐๓ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี