คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๕ ตค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พฤหัสบดีที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
เข้าสู่เส้นทางสายนี้มายาวนานและมีประสพการณ์จากชีวิตจริง
มีหลายสิ่งที่ได้เรียนรู้ จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม
และปัญหาที่มักจะเจอกันในการปฏิบัติของผู้ปฏิบัติหลายท่านที่ประสพ
เพราะส่วนใหญ่ของผู้ปฏิบัตินั้นมักจะทำกันลัดขั้นตอน เพราะความใจร้อน
หวังผลในการปฏิบัติ อยากจะเห็นผลโดยเร็วไว จึงทำให้การปฏิบัติธรรมนั้น
ไม่เป็นไปตามขั้นตอน ตามหลักคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ส่วนใหญ่จะข้ามไป
เน้นที่จิตที่สติเพื่อให้เกิดสมาธิโดยเร็วไว ข้ามเรื่องศีลไป ซึ่งนั้นคืออันตราย
ของนักปฏิบัติธรรม เพราะศีลนั้นคือบาทฐานของความเป็นสัมมาสติ เจตนา
ของการรักษาศีลนั้นก็เพื่อการเจริญสติ มีการสำรวมอินทรีย์ ผู้ที่จะรักษาศีลได้
นั้นต้องมีสติอยู่กับกายและจิต ดูความคิด ดูการกระทำ ไม่กล้าก้าวล่วงล้ำ
ข้อห้ามทั้งหลาย มีความละอายและเกรงกลัวต่อการประพฤติผิดทั้งในที่ลับ
และในที่แจ้ง การกระทำอย่างนั้นก่อให้เกิดคุณธรรมประจำจิตคือการมีหิริ
และโอตตัปปะ สิ่งที่ได้จากการรักษาศีลก็คือการมีสติสัมปชัญญะและคุณธรรม
เมื่อเข้าสู่กระบวนการภาวนาเพื่อให้เกิดสมาธิ สติที่ใช้ในการภาวนานั้นคือสัมมาสติ
สมาธิที่เกิดขึ้นจึงเป็นสัมมาสมาธิเพราะเกิดจากสติที่เป็นสัมมา ปัญหาที่ตามมาของ
การภาวนาที่ไม่ได้ผ่านการรักษาศีลนั้น ก็คือการก่อให้เกิดอัตตา การยกตัวถือตัวถือตน
เกิดทิฏฐิมานะสำคัญตนว่าเราดีกว่าผู้อื่น เก่งกว่าผู้อื่น วิเศษกว่าผู้อื่น หลงตัวเอง
สบประมาท จาบจ้วงลบหลู่ครูบาอาจารย์ ยกตนขึ้นเทียบท่าน ก่อให้เกิด กายกรรม
วจีกรรม มโนกรรม ต่อครูบาอาจารย์ เพราะจิตขาดซึ่งคุณธรรม.......
ความเจริญในธรรมนั้น เหมือนกับต้นไม้ คือต้องค่อยเป็นค่อยไปตามกาลเวลา
และลำดับชั้น เหมือนเราปลูกต้นไม้ เราอยากจะให้มันโตไวๆให้ดอกออกผลโดยเร็ว
แต่มันเป็นไปไม่ได้ ต้นไม้มัน ต้องเจริญเติบโตไปตามสายพันธุ์ระยะเวลาและอายุของมัน
การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน มันต้องผ่านกาลเวลา การสั่งสม เพิ่มพูลกำลังไปตามลำดับชั้น
การปฏิบัตินั้นจึงจะเป็นไปด้วยดี มีความเจริญในธรรมที่มั่นคงและถูกต้องตามหลักของ
พระพุทธศาสนา ตามที่พระศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสอนไว้.........
มีผู้สนใจในการปฏิบัติธรรมหลายท่านมาขอคำชี้แนะเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม
และได้ให้คำแนะนำเพื่อให้นำไปปฏิบัติ ตามที่ได้ศึกษาและปฏิบัติมา โดยให้ยึดหลัก
ในการปฏิบัติว่า " อย่าเกร็ง อย่าเคร่ง อย่าเครียด " ให้ปฏิบัติอย่างเรียบง่ายสบายๆ
ค่อยๆเป็นค่อยๆไป เพื่อให้ร่างกายและจิตใจได้ปรับสภาพและมีความพร้อม มีความ
เคยชินกับวิถีการดำเนินชีวิตและความคิดใหม่ๆ ที่เป็นไปโดยชอบและประกอบด้วยกุศล
โดยให้ถามตัวเองก่อนว่า...อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เราอยากปฏิบัติธรรม เราปฏิบัติธรรม
เพื่ออะไร...ให้ค้นหาตัวเองให้เจอเสียก่อน ว่าอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย เกิดจากความคิด
เกิดจากจิตที่เป็นกุศลหรือไม่ หรือเป็นไปโดยความคิดจิตที่เป็นอกุศล คือการหวังผล
เพื่อลาภสักการะและชื่อเสียงหน้าตาคำยกย่อง ผู้ปฏิบัติต้องมองให้เห็นในจุดนี้ ว่าที่เรา
ต้องการปฏิบัติธรรมนั้นมาจากเหตุอะไร เป็นไปโดยชอบหรือไม่........
เป้าหมายของการปฏิบัติคืออะไร เพียงเพื่อต้องการความสงบเพื่อหลบความวุ่นวาย
หรือว่าเพื่อให้เกิดความจางคลายจากกิเลสตัณหา อัตตา อุปทาน ปรารถนาความพ้นทุกข์
โดยเราต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของตัวเราด้วยว่า"จังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่ บุคคล"
นั้นมันควรจะกระทำอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้ไม่เป็นการสร้างความกดดันให้แก่ตนเอง
สิ่งที่ทำนั้น "เป็นภัยต่อชีวิต เป็นพิษต่อผู้อื่น ฝ่าฝืนศีลธรรมประเพณี วิถีของกฏหมายและสังคม"
เพราะการปฏิบัติธรรมนั้นอาจจะเป็นการ"ทอดทิ้งธุระ ละเลยต่อหน้าที่"ถ้าเราไม่รู้จักความพอดี
บทบาทหน้าที่ของตัวเรา การปฏิบัติธรรมนั้นพระพุทธองค์ทรงตรัสสอนไว้เพื่อให้เหมาะสม
กับตัวบุคคล คือสำหรับสมณะนักบวชผู้ปรารถนาความพ้นทุกข์ และฆราวาสผู้ครองเรือน
เพื่อให้ตรงกับวิถีชีวิตและสิ่งที่ปรารถนาเจตนา เพื่อให้เกิดความเจริญงอกงามในธรรม
"เป็นไปโดยชอบ ประกอบด้วยกุศล" ให้รู้จักตัวตนของตัวเองเสียก่อน.....
จึงขอฝากไว้ให้เป้นข้อคิด นำไปพิจารณา และอย่าได้เชื่อทันที ที่ได้ฟังหรือได้อ่าน
จงใช้วิจารณญาณในการเสพข่าวสารและข้อมูล เพื่อเป็นการเพิ่มพูลสติปัญญาให้แก่ตนเอง
โดยการฝึกคิดพิจารณาและวิเคราะห์ ก่อนที่จะเชื่อหรือปฏิเสธ ประโยชน์นั้นจะเกิดแก่ตัวท่าน.....
จึงขอฝากไว้ให้เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจสำหรับนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ให้ใคร่ครวญ
คิดพิจารณา เพื่อความก้าวหน้าเจริญในธรรม ไม่หลงปฏิบัติผิดทาง ซึ่งจะนำออกห่างจาก
กุศลธรรมทั้งหลาย...
เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๖ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๐.๒๘ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบรี