บทสรรเสริญพระสังฆคุณ
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
สามีจิปฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสสะ ยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
อาหุเนยโย ปาหุเนยโยทักขิเนยโย อัญชะลีกะระนีโย อะนุตตะรัง ปุญญะเขตตัง โลกัสสาติ.
คำแปล
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติดีแล้ว สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติตรงแล้ว
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติสมควรแล้ว ได้แก่บุคคลเหล่านี้คือ คู่แห่งบุรุษสี่คู่ นับเรียงตัวได้แปดบุรุษ
นั่นแหละ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา เป็นผู้ควรแก่สักการะที่จัดไว้ต้อนรับ
เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้ .
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
พระสงฆ์ตามความหมายนี้ มิได้หมายถึงชายผู้อายุครบ ๒๐ ปี โกนผม คิ้ว นุ่งห่มผ้ากาสาวพักตร์ เพียงเท่านั้น แต่พระสงฆ์ตามความหมายดังกล่าวในบทสรรเสริญพระสังฆคุณ หมายเอา"บุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรษ"
ดังนี้จึงจะเรียกว่าพระภิกษุสงฆ์ได้อย่างแท้จริง ส่วนชายอายุครบ ๒๐ ปี โกนผม คิ้ว นุ่งห่มผ้ากาสาวพัตร์ และปฏิบัติตามพระธรรมวินัยคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราจะเรียกว่าเป็น "สมมติสงฆ์" หมายถึงเป็นสงฆ์โดยสมมติ
ฉะนั้นแล้ว สงฆ์จึงแยกพิจารณาแบ่งได้ ๒ ประเภทคือ
๑.พระอริยสงฆ์
๒.สมมติสงฆ์
จะกล่าวถึงพระอริยสงฆ์ ก็ใช่ว่าจะต้องเป็นผู้ที่ต้องเป็นชายอายุ ๒๐ ปี โกนผม คิ้ว นุ่งห่มผ้ากาสาวพักตร์ เท่านั้น พระอริยสงฆ์ที่เป็นฆาราวาสก็มีให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นหญิง,ชาย,เด็ก,หนุ่ม,ชรา ก็สามารถเป็นพระอริยสงฆ์ได้เหมือนกันทั้งหมด ดังตัวอย่างในพระไตรปิฎกมากมาย เพราะดังที่ได้มีกล่าวไว้ในบทสรรเสริญพระสังฆคุณ นั่นเอง
พระอริยสงฆ์ คือ บุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ ได้แก่ พระโสดาปัตติมรรค - พระโสดาปัตติผล,พระสกทาคามิมรรค - พระสกทาคามิผล,พระอนาคามิมรรค - พระอนาคามิผล,พระอรหัตตมรรค - พระอรหัตตผล
โดยการนำธรรมข้อ "สังโยชน์ ๑๐" มาใช้พิจารณาว่าเป็นพระอริยบุคคลระดับไหน ดังนี้
ผู้ที่ละ สักกายะทิฏฐิ,วิจิกิจฉา,สีลลัพพตปรามาส ได้เด็ดขาด จะสำเร็จเป็น"พระโสดาบัน"
ผู้ที่ละ สักกายะทิฏฐิ,วิจิกิจฉา,สีลลัพพตปรามาส ได้เด็ดขาด และสามารถทำ กามราคะ,ปฏิฆะ ให้เบาบางลงได้ จะสำเร็จเป็น"พระสกิทาคามี"
ผู้ที่ละ สักกายะทิฏฐิ,วิจิกิจฉา,สีลลัพพตปรามาส,กามราคะ,ปฏิฆะ ได้เด็ดขาด จะสำเร็จเป็น"พระอนาคามี"
ผู้ที่ละ สักกายะทิฏฐิ,วิจิกิจฉา,สีลลัพพตปรามาส,กามราคะ,ปฏิฆะ,รูปราคะ,อรูปราคะ,มานะ,อุทธัจจะ,อวิชชา ได้เด็ดขาด จะสำเร็จเป็น"พระอรหันต์" เข้าพระนิพพานอันเป็นบรมสุขในที่สุด
ยกตัวอย่าง - มีเรืออยู่ ๒ ลำ ลำนึงเป็นเรือเปล่าไม่ได้บรรทุกอะไร อีกลำหนึ่งบรรทุกสินค้ามากมายจนเต็มลำเรือ มีจุดหมายปลายทางคือ เกาะเกาะหนึ่งอันไกลโพ้น เมื่อเริ่มออกเดินทางพร้อมกัน ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่า เรือลำที่ว่างเปล่าไม่ได้บรรทุกอะไร ย่อมแล่นไปได้เร็วกว่า สะดวกกว่า และอาจจะถึงเกาะกลางทะเลอันไกลโพ้นได้เร็วกว่าเรือลำที่บรรทุกสินค้ามาเต็มลำเรือ แต่ท้ายที่สุด เรือทั้งสองลำนั้นก็ย่อมไปถึงเกาะกลางทะเลอันไกลโพ้นได้เหมือนกัน
เปรียบเทียบว่า เรือลำที่ว่างเปล่านั้นคือ"พระภิกษุ(สมมติสงฆ์)" เรือลำที่บรรทุกสินค้าจนเต็มลำเรือคือ"ฆาราวาส ปุถุชนคนธรรมดา" เกาะอันไกลโพ้นกลางทะเลคือ"พระนิิพพาน" อันเป็นเป้าหมายสูงสุด เป็นเป้าหมายที่แท้จริงในทางพระพุทธศาสนา
ฉันใดก็ฉันนั้น ชีวิตสมณะก็เหมือนเรือที่ว่างเปล่า ไม่มีเครื่องพันธนาการ ปล่อยวางจากกังวลทั้งหลาย ก็ย่อมแล่นไปสู่ฝั่งคือพระนิพพานได้สะดวก รวดเร็วง่ายกว่า ชีวิตฆาราวาส ปุถุชนธรรมดาทั่วไป ที่ต่างก็มีเครื่องผูกมัดมากมาย เป็นภาระเป็นกังวลต่างๆที่เปรียบเสมือนสินค้าที่บรรทุกไว้ในเรือจนเต็มลำ
ชีวิตฆาราวาส อาจจะมีเหตุติดขัด ขัดข้อง เป็นอุปสรรค เป็นเครื่องกังวล มีเครื่องพันธนาการอยู่บ้าง แต่หากมีความเพียรเป็นที่ตั้งและปฏิบัติอย่างจริงจังแล้ว ก็ย่อมไปสู่ฝั่งฝัน คือ พระนิพพานอันเป็นบรมสุข ได้อย่างแน่นอน
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
น้อมบูชาคุณอดีตพระอาจารย์ผู้สอนวินัยมุขและวิปัสสนาธุระ ด้วยความเคารพยิ่ง.