วิธีสร้างบุญบารมี หน้าที่8
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ ๑๙
๓. การภาวนา
การเจริญภาวนานั้น เป็นการสร้างบุญบารมีที่สูงที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุดในพระพุทธศาสนา จัดว่าเป็นแก่นแท้และสูงกว่าฝ่ายศีลมากนัก การเจริญภาวนานั้น มี ๒ อย่าง คือ (๑) สมถภาวนา (การทำสมาธิ) และ (๒) วิปัสสนาภาวนา (การเจริญปัญญา) แยกอธิบายดังนี้ คือ
(๑) สมถภาวนา (การทำสมาธิ)
สมถภาวนา ได้แก่การทำจิตให้เป็นสมาธิ หรือเป็นฌาน ซึ่งก็คือการทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านแส่ส่ายไปยังอารมณ์อื่นๆ วิธีภาวนานั้น มีมากมายหลายร้อยชนิด ซึ่งพระพุทธองค์ทรงบัญญัติแบบอย่างเอาไว้ ๔๐ ประการ เรียกกันว่า "กรรมฐาน ๔๐" ซึ่งผู้ใดจะเลือกใช้วิธีใดก็ได้ตามแต่สมัครใจ ทั้งนี้ย่อมสุดแล้วแต่อุปนิสัยและวาสนาบารมีที่ได้เคยสร้างสมอบรมมาแต่ในอดีตชาติ เมื่อสร้างสมอบรมมาในกรรมฐานกองใด จิตก็มักจะน้อมชอบกรรมฐานกองนั้นมากกว่ากองอื่นๆ และการเจริญภาวนาก็ก้าวหน้าเร็วและง่าย แต่ไม่ว่าจะเลือกปฏิบัติวิธีใดก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาศีลให้ครบถ้วนบริบูรณ์ตามเพศของตนเสียก่อน คือหากเป็นฆราวาสก็จะต้องรักษาศีล ๕ เป็นอย่างน้อย หากเป็นสามเณรก็จะต้องรักษาศีล ๑๐ หากเป็นพระก็จะต้องรักษาศีลปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อให้บริบูรณ์ ไม่ให้ขาดและด่างพร้อย จึงจะสามารถทำจิตให้เป็นฌานได้ หากศีลยังไม่มั่นคง ย่อมเจริญฌานให้เกิดขึ้นได้โดยยาก เพราะศีลย่อมเป็นบาทฐาน (เป็นกำลัง) ให้เกิดสมาธิขึ้น อานิสงส์ของสมาธินั้น มีมากกว่าการรักษาศีลอย่างเทียบกันไม่ได้ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า "แม้จะได้อุปสมบทเป็นภิกษุรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ ไม่เคยขาด ไม่ด่างพร้อยมานานถึง ๑๐๐ ปี ก็ยังได้บุญกุศลน้อยกว่าผู้ที่ทำสมาธิเพียงให้จิตสงบนานเพียงชั่วไก่กระพือปีก ช้างกระดิกหู" คำว่า "จิตสงบ" ในที่นี้หมายถึงจิตที่เป็นอารมณ์เดียวเพียงชั่ววูบ ที่พระท่านเรียกว่า "ขณิกสมาธิ" คือสมาธิเล็กๆ น้อยๆ สมาธิแบบเด็กๆ ที่เพิ่งหัดตั้งไข่ คือหัดยืนแล้วก็ล้มลง แล้วก็ลุกขึ้นยืนใหม่ ซึ่งเป็นอารมณ์จิตที่ยังไม่ตั้งมั่น สงบวูบลงเล็กน้อยแล้วก็รักษาไว้ไม่ได้ ซึ่งยังห่างไกลต่อการที่จิตถึงขั้นเป็นอุปจารสมาธิและฌาน แม้กระนั้นก็ยังมีอานิสงส์มากมายถึงเพียงนี้ โดยหากผู้ใดจิตทรงอารมณ์อยู่ในขั้นขณิกสมาธิแล้วบังเอิญตายลงในขณะนั้น อานิสงส์นี้จะส่งผลให้ได้ไปบังเกิดในเทวโลกชั้นที่ ๑ คือชั้นจาตุมหาราชิกา หากจิตยึดไตรสรณคมน์ (มีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่งอันสูงสุดด้วย ก็เป็นเทวดาชั้น ๒ คือ ดาวดึงส์)
สมาธินั้น มีหลายขั้นตอน ระยะก่อนที่จะเป็นฌาน (อัปปนาสมาธิ) ก็คือขณิกสมาธิและอุปจารสมาธิ ซึ่งอานิสงส์ส่งให้ไปบังเกิดในเทวโลก ๖ ชั้น แต่ยังไม่ถึงชั้นพรหมโลก สมาธิในระดับอัปปนาสมาธิหรือฌานนั้น มีรูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ ซึ่งล้วนแต่ส่งผลให้ไปบังเกิดในพรหมโลกรวม ๒๐ ชั้น แต่จะเป็นชั้นใดย่อมสุดแล้วแต่ความละเอียดประณีตของกำลังฌานที่ได้ (เว้นแต่พรหมโลกชั้นสุทธาวาสคือ ชั้นที่ ๑๒ ถึง ๑๖ ซึ่งเป็นที่เกิดของพระอนาคามีบุคคลโดยเฉพาะ) รูปฌาน ๑ ส่งผลให้บังเกิดในพรหมโลกชั้น ๑ ถึงชั้น ๓ สุดแล้วแต่ความละเอียดประณีตของกำลังฌาน ๑ ส่วนอรูปฌานที่เรียกว่า "เนวสัญญา นาสัญญายตนะ" นั้น ส่งผลให้บังเกิดในพรหมโลกชั้นสูงสุด คือชั้นที่ ๒๐ ซึ่งมีอายุยืนยาวถึง ๘๔,๐๐๐ มหากัป เรียกกันว่านิพพานพรหม คือนานเสียจนเกือบหาเวลาเริ่มต้น และสิ้นสุดมิได้ จนเป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นนิพพาน
การทำสมาธิเป็นการสร้างบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ ลงทุนน้อยที่สุด เพราะไม่ได้เสียเงินเสียทอง ไม่ได้เหนื่อยยากต้องแบกหามแต่อย่างใด เพียงแต่คอยเพียรระวังรักษาสติ คุ้มครองจิตมิให้แส่ส่ายไปสู่อารมณ์อื่นๆ โดยให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น การทำทานเสียอีกยังต้องเสียเงินทอง การสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาโรงธรรมยังต้องเสียทรัพย์ และบางทีก็ต้องเข้าช่วยแบกหามเหนื่อยกาย แต่ก็ได้บุญน้อยกว่าการทำสมาธิอย่างที่เทียบกันไม่ได้
อย่างไรก็ดี การเจริญสมถภาวนาหรือสมาธินั้น แม้จะได้บุญอานิสงส์มากมายมหาศาลอย่างไร ก็ยังไม่ใช่บุญกุศลที่สูงสุดยอดในพระพุทธศาสนา หากจะเปรียบกับต้นไม้ก็เป็นเพียงเนื้อไม้เท่านั้น การเจริญวิปัสสนา (การเจริญปัญญา) จึงจะเป็นการสร้างบุญกุศลที่สูงสุดยอดในพระพุทธศาสนา หากจะเปรียบก็เป็นแก่นไม้โดยแท้
ที่มา
http://www.fungdham.com/book/prasungkarad.html