๒๑ มกราคม ๒๕๕๕ เวลาประมาณ ๑๓.๐๐ น.
ณ วัดหลวงเมืองลื้อ สิบสองปันนา สาธารณรัฐประชาชนจีน
วัดหลวงเมืองลื้อ เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของสิบสองปันนาในปัจจุบัน ซึ่งบริษัทพัฒนาการท่องเที่ยวหยวนห้าว จำกัด สิบสองปันนา ยูนนาน ได้ทุ่มเงินลงทุนสร้างเองถึง ๓๕๐ ล้านหยวน (เป็นเงินไทยประมาณกว่า ๑,๗๕๐ ล้านบาท) เพื่อสร้างวัดทางพระพุทธศาสนา นิกายเถรวาท(หินยาน) และพระพุทธรูปปางคันธารราฐ พระพุทธรูปปางยืนขอฝน เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สุดในแถบนี้ มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ ก่อสร้างบนภูเขา ปัจจุบันยังไม่แล้วเสร็จ สืบเนื่องจากตระหนักว่าพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทมีประวัติมาอย่างยาวนานในดินแดนสิบสองปันนา พอๆกับในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นในประเทศไทย กัมพูชา เมียนม่าร์ ลาว เป็นต้น นอกจากนี้ภายในวัดยังเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยพระพุทธศาสนาสิบสองปันนา เพื่อใช้เป็นสถานที่ศึกษาวิจัยพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท และคาดหวังว่าวัดแห่งนี้ จะกลายเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท อีกทั้งยังเป็นสถานที่ที่ชาวชนชาติไต หรือไทลื้อในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้สืบค้นเรื่องราวความเป็นมาของบรรพบุรุษของตนเองได้ ปัจจุบันนี้ ทางการจีนได้รื้อวัดป่าเจและย้ายมาอยู่ที่วัดหลวงเมืองลื้อนี้ทั้งหมด
ศิลปะการก่อสร้างภายในวัด เป็นการประยุกต์ทั้งของทางเถรวาท และมหายานเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ยังผสมผสานศิลปะวัฒนธรรมของชาวไทลื้อ ลาว พม่า และไทย เข้าด้วยกันอีกด้วย
ในส่วนของพระภิกษุที่จำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้ ก็มีทั้งนิกายเถรวาท และนิกายมหายาน รวมถึงพระธิเบตด้วย ซึ่งพระภิกษุทั้งหมดนี้ ได้รับการนิมนต์มาจากการที่รัฐบาลจีนได้อาราธนานิมนต์จากวัดทั่วประเทศจีนให้มาอยู่ ณ วัดแห่งนี้
ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ แต่ก็มีนักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวชมความสวยงามของศิลปะวัฒนธรรมภายในวัดเป็นจำนวนมาก
ถึงแม้ว่าวัดหลวงเมืองลื้อแห่งนี้จะได้ชื่อว่าเป็นนิกายเถรวาท แต่พฤติการณ์ก็ยังไม่ใช่เถรวาทอย่างสมบูรณ์ มีการผสมผสานกันระหว่างนิกายเถรวาทและมหายาน เราก็ลองมาติดตามพิจารณาดูกันต่อไปว่า วัดหลวงเมืองลื้อแห่งนี้ จะเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทอย่างที่ตั้งใจไว้ได้หรือไม่
บริเวณลานหน้าทางเข้าวัดหลวงเมืองลื้อ ประดับตกแต่งด้วยต้นไม้ตกแต่งเป็นพระพุทธรูป
แผนที่แสดงรายละเอียดเมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะจัดแบ่งเป็นชั้นๆ จัดแสดงเรื่องราวพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ ไปจนกระทั่งปรินิพพาน
ชั้นแรกสุด จัดแสดงเรื่องราวพุทธประวัติตอนประสูติ "“เราเป็นผู้เลิศในโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก”"
ซุ้มประตูทางเข้าที่ผ่านเข้ามา สังเกตเห็นได้ว่ามีการจัดการอย่างเป็นระบบระเบียบ เพื่อประโยชน์การท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ในการเที่ยวชมนี้ จะเลือกโดยสารรถที่มีไว้ให้บริการ หรือว่าจะเลือกเดินขึ้นบันไดก็ได้ ตามสะดวก
พระพุทธรูปปางคันธารราธ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแถบนี้
มองลงไปด้านล่างจะพบกับพระอุโบสถของวัดหลวงเมืองลื้อ
ด้านบนนี้ สามารถมองเห็นทัศนียภาพมุมกว้างของสิบสองปันนาได้อย่างชัดเจน
นักท่องเที่ยวชาวจีนจุดธูปขนาดใหญ่เพื่อสักการะบูชาพระพุทธรูปปางคันธารราธ
ราวบันไดทางขึ้นลง เป็นรูปพระสาวกเดินอุ้มบาตร แกะสลักจากศิลา
ปฏิมากรรมรูปยักษ์ บริเวณทางเข้าพระวิหาร
พระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธรูปปางสมาธิทรงเครื่องสีขาว
พระพุทธรูปองค์จำลองจากพระพุทธรูปปางคันธารราธขนาดใหญ่ ประดิษฐานบนผนังของวิหารรอบด้าน
ด้านในพระวิหารด้านหลัง ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ และพระโพธิสัตว์กวนอิม (นี่เป็นอีกส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า วัดนี้นิกายเถรวาทจริงหรือ?)
ด้านข้างของวิหาร จัดวางเทวรูป เป็นเทพเจ้า ไฉ่ซิงเอี๊ยะ วางระดับเดียวกับพระพุทธรูป?
อีกห้องหนึ่งในวิหาร จัดแสดงพระพุทธรูปปางมารวิชัยทรงเครื่อง พร้อมเครื่องสักการะบูชา
ร้านขายธูปขนาดใหญ่ไว้สำหรับจุดบูชา ภายในวัด
ตรงกลางคือ กระถางปักธูปขนาดใหญ่ ศิลปะจีน
ปฏิมากรรมศิลาแกะสลักรูปเทพหลี่จิ้ง ตามความเชื่อของชาวจีน
รูปจำลองคล้ายพระธาตุอินทร์แขวน ในประเทศเมียนม่าร์
ชั้นแสดงเรื่องราวพุทธประวัติตอนตรัสรู้
พระอุโบสถของวัดหลวงเมืองลื้อ
พระแม่ธรณีบีบมวยผม บีบน้ำออกจากมวยผมอันเป็นประจักษ์พยานในการบำเพ็ญบารมีของเจ้าชายสิทธัตถะ
วิหารภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวัน (เหมือนกับของประเทศไทยทุกประการ)
พระพุทธรูปปางสมาธิ พระพุทธรูปประจำวันเกิด วันพฤหัสบดี
พระประธานภายในพระอุโบสถวัดหลวงเมืองลื้อ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสีทองขนาดใหญ่ ด้านข้างมีพระอัครสาวกยืนประนมมืออัญชลีอยู่
หน้าโต๊ะหมู่บูชา มีภาพของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ประเทศไทย ประดิษฐานอยู่ด้วย
ปฏิมากรรมรูปปูนปั้นยักษ์ ๒ ตน นั่งเฝ้าทางเข้าพระอุโบสถวัดหลวงเมืองลื้อ แสดงให้เห็นถึงอารมณ์ขันของศิลปินผู้รังสรรค์ผลงาน
ศาลพระภูมิบ้านเราดีๆนี่เอง
วิหารภายในประดิษฐานพระพุทธรูปตามความเชื่อของชาวจีน ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนานิกายมหายาน
หลวงพี่เก่ง วัดบางพระ,พี่มหานรินทร์,พี่มหาโจ้ ร่วมเดินทางไปเที่ยวชมในครั้งนี้ด้วย
เก็บภาพบรรยากาศมาฝากให้เพื่อนสมาชิกกระดานสนทนาวัดบางพระได้รับชม ได้ร่วมอนุโมทนากับการเดินทางแสวงบุญในสิบสองปันนาในครั้งนี้ด้วยครับ... ปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์)