ผู้เขียน หัวข้อ: ตำนานน้ำมนต์  (อ่าน 4131 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์)

  • *โปรดระวัง - สีลัพพตปรามาส, ๗ เดือน ๑๙ วันจะเก็บแต่ความทรงจำที่ดีๆไว้, ตถตา (เช่นนั้นเอง).
  • ...
  • *****
  • กระทู้: 6436
  • เพศ: ชาย
  • ผู้สอนคือผู้ลวง? ผู้เรียนคือผู้หัดที่จะลวง?
    • ดูรายละเอียด
    • เฟสบุ๊ควัดบางพระ (หลวงพ่อเปิ่น)
ตำนานน้ำมนต์
« เมื่อ: 03 ส.ค. 2555, 02:49:23 »

   น้ำพระพุทธมนต์ นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมในความเป็นมงคล และเป็นสิ่งที่ผู้หวังความสุข ความสบายใจ เพียงเพื่อได้รับน้ำพระพุทธมนต์ที่พระท่านเสกแล้ว เพื่อให้ทราบถึงความเป็นมาโดยละเอียดของการทำน้ำพรพุทธมนต์ ซึ่งเริ่มที่เมืองเวสาลีนี้ จึงขอนำรัตนสูตรมากล่าวไว้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร นครราชคฤห์

   ครั้งนั้น พระนครเวสาลีแห่งแคว้นวัชชี เกิดทุพภิกขภัยพิบัติ คือ ฝนแล้ง ข้าวกล้าในนาตาย เพราะไม่มีน้ำเป็นส่วนมาก ข้าวปลาหายาก ในชั้นแรกคนยากจนคนเกียจคร้าน ต้องอดอาหารตายมาก เมื่อตายแล้วหาญาติที่จะอนุเคราะห์ศพไม่มี คนที่มีกำลังก็ไม่มีความสงสารศพ มัววุ่นแต่งานตัว เห็นไปว่าธุระไม่ใช่ ไม่ใส่ใจ ตกลงคนตายที่ไหน ศพก็ทอดทิ้งอยู่ที่นั้น ยิ่งกว่านั้นอหิวาตกโรคก็เข้าคุกคาม เพราะโทษที่ศพปฏิกูลตามถนนหนทาง ในแม่น้ำลำคลอง เพราะความสกปรกนานาประการ ดังกล่าวแล้ว มนุษย์ได้ตายลงเพราะอหิวาตกโรคเป็นอันมาก

   ครั้นเมื่อภาคพื้นดินปฏิกูลด้วยศพมากเข้า ปีศาจจำพวกที่กินซากศพเป็นอาหารก็พากันเข้ามาในพระนคร กินซากศพ ยิ่งกว่านั้นยังหันเข้าใส่คนป่วยไข้ ชิมรสเนื้อมนุษย์ที่ยังไม่เปื่อยเน่าดูบ้าง และแล้วก็เลยลามไปถึงมนุษย์ที่ไม่ป่วย แต่สกปรก เช่น ตื่นไม่ล้างหน้า นอนไม่ล้างเท้า น้ำไม่อาบ กินข้าวแล้วไม่บ้วนปาก ผ้าผ่อนไม่ซัก และบ้านเรือนไม่กวาดไม่ถู เป็นต้น ในที่สุดมนุษย์ที่ไม่ป่วย แต่สกปรก ก็เริ่มถูกปีศาจเข้าสิง สูบโลหิตเป็นอาหาร มนุษย์เริ่มตายลงเพราะปีศาจอีกประการหนึ่ง ชาวเมืองเวสาลีประสบภัยร้ายกาจ ๓ ประการ คือ ฝืดเคือง ๑ อหิวาตกโรค ๑ ปีศาจ ๑ พากันอพยพไปอยู่ในเมืองอื่นก็ไม่น้อย

   ครั้งนั้น ชาวเมืองพากันโจทก์กล่าวโทษพระราชาที่ประตูพระราชวังว่า

   “พระเจ้าข้า ภัยพิบัติ ๓ ประการ ได้เกิดขึ้นแก่ชาวเมืองแล้ว ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยมี พระราชาจักประพฤติผิดพระราชประเพณีอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่”

   แม้พระมหากษัตริย์จะโปรดให้ตั้งกรรมการพิจารณาหาความผิดของพระองค์ ก็ไม่ปรากฏว่าพระมหากษัตริย์ทรงประพฤติบกพร่องแต่ประการใด ในที่สุดก็พากันบนเจ้าบวงสรวงเทพยดาอารักษ์ และวิงวอนครูอาจารย์ที่ตนนับถือว่าเป็นผู้วิเศษ สุดแต่ใครจะเล็งเห็น ใครให้ช่วยปลดเปลื้อง แต่ก็ไม่สามารถจะบรรเทาภัยนั้นได้

   ครั้นอำมาตย์ผู้หนึ่ง ได้กราบทูลพระเจ้าลิจฉวีว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ บริสุทธิ์จากกิเลส มีพระหฤทัยประกอบด้วยพระมหากรุณาเสมอด้วยพระมหาสมุทร ทรงตรัสรู้สัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จประกาศพระธรรมบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บัดนี้ เสด็จประทับ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร พระนครราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารมหาราช ทรงสักการะบำรุงอยู่ พระองค์ทรงมีอภินิหารบารมีสูงส่งยิ่งนัก ถ้าจะได้กราบทูลอัญเชิญให้เสด็จมายังพระนครนี้ ข้าแต่พระองค์เชื่อเหลือเกินว่า ภัย ๓ ประการนี้ จะต้องสงบเพราะอานุภาพของพระองค์โดยแท้

   ลำดับนั้น พระเจ้าลิจฉวีจึงโปรดให้เจ้าชายมหาลิ พร้อมด้วยอำมาตย์ ๕ นาย เป็นราชทูตเชิญเครื่องราชบรรณาการไปเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารมหาราช ณ กรุงราชคฤห์ กราบทูลขอประทานโอกาสให้พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เสด็จไปบำบัดภัยพิบัติในพระนครเวสาลี โดยเวลาเพียง ๓ วัน คณะราชทูตนั้นก็เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารยังพระนครราชคฤห์ ทูลขอพระราชทานพระกรุณาตามพระราชบัญชาของพระเจ้าลิจฉวี

   พระเจ้าพิมพิสารทรงรับสั่งว่า...

   “ฉันเห็นใจพวกท่าน และยินดีสนับสนุนในเรื่องนี้ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงพระกรุณาเสด็จ ขอให้พวกท่านไปกราบทูลอัญเชิญดู ความจริง เจ้าชายมหาลิก็ทรงรู้จักพระองค์ท่านมาก่อน ฉันคิดว่าการเข้าเฝ้าจะไม่ลำบาก หรือหนักใจแต่ประการใด หากพระบรมศาสดาทรงเล็งเห็นประโยชน์ในการเสด็จ แล้วจะทรงพระกรุณาอนุเคราะห์เป็นแน่ การมาของเจ้าชายจะไม่ไร้ผลเลย”

   ครั้นแล้วโปรดให้ราชบุรุษนำคณะราชทูตนครเวสาลี เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งว่า...

   “มหาลิ ตถาคตรับปฏิญญาของพระเจ้ากรุงราชคฤห์ เพื่ออยู่ในที่นี้เสียแล้ว ถ้าพระเจ้ากรุงราชคฤห์จะทรงพระกรุณาประทานโอกาสเธอ ตถาคตก็จะไป”

   เจ้าชายมหาลิกราบทูล...

   “ข้าพระองค์ได้รับพระราชทานโอกาสแล้ว พระเจ้าข้า”

   พระบรมศาสดารับสั่ง “แม้เช่นนั้น มหาลิก็ควรจะทูลให้พระองค์ทรงทราบเสียก่อนที่จะออกเดินทาง”

   เมื่อพระเจ้าพิมพิสารแห่งมคธรัฐ ทรงทราบจากเจ้าชายมหาลิว่า พระบรมศาสดาทรงพระกรุณาเสด็จ จึงรีบเสด็จมาเฝ้า ทูลขอให้ยับยั้งสัก ๓ วัน เพื่อตกแต่งทางเสด็จตลอดที่พักแรม ตามระยะทางจนถึงแม่น้ำคงคา สุดพระราชอาณาเขต

   ครั้นได้เวลากำหนด พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยสงฆ์ ๕๐๐ รูป ก็เสด็จพระนครเวสาลีโดยมรรคานั้น ด้วยพระเกียรติยศอันสูง ซึ่งพระเจ้ากรุงราชคฤห์ทูลถวายโดยระยะทาง ๕ โยชน์ กำหนดวันละ ๑ โยชน์ เสด็จประทับแรมตามระยะทางรวม ๕ วัน ก็ถึงฝั่งแม่น้ำคงคา เสด็จลงเรือพระที่นั่งซึ่งพระเจ้าพิมพิสารจัดถวายงดงามสมพระเกียรติยศยิ่งนัก และเป็นครั้งแรกที่เสด็จทางน้ำด้วยเกียรติอันสูงเช่นนี้

   พระเจ้าพิมพิสารทรงตามเสด็จพระพุทธดำเนินตลอดทาง และเสด็จลงประคองเรือพระที่นั่งให้เคลื่อนจากท่าแม่น้ำคงคา ทรงตามเรือพระที่นั่งไปในน้ำเพียงพระศอ ก็ประทับหยุดยืนทูลว่า “หม่อมฉันจะมารับเสด็จพระองค์คราวเสด็จกลับ ณ ที่นี่อีก” เมื่อเรือพระที่นั่งแล่นไปตามแม่น้ำจนลับทิวไม้แล้ว จึงเสด็จกลับพระนคร

   พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเสด็จทางชลมารค สิ้นระยะทาง ๑ โยชน์ ก็ถึงท่าพระราชอาณาเขตพระนครเวสาลี จึงเสด็จขึ้นจากเรือรับสักการะปฏิสันถาร ซึ่งเจ้าชายมหาลิหัวหน้าคณะราชฑูตกราบทูลให้พระเจ้าลิจฉวีจัดถวายให้โอฬาร ยิ่งกว่าพระนครราชคฤห์จัดเสด็จตามระยะทาง ๓ โยชน์ สิ้นเวลา ๓ วันก็ถึงชายพระนครเวสาลี ขณะที่เหยียบภาคพื้นพระนครเวสาลี ก้าวแรกก็ประทับยืนจ้องพระเนตรจับท้องฟ้า ทรงระลึกถึงพระบารมีที่บำเพ็ญแล้วเคลื่อนลมมาปกคลุมพระนครเวสาลี พร้อมกับส่งเสียงคำรามกระหึ่มครึ้มครวญเปรี้ยงๆ ดังสนั่น ด้วยสายฟ้าแลบแปลบปลาบ แล้วห่าฝนใหญ่ก็หลั่งลงจักๆ ดังเทน้ำ เสมือนหนึ่งจงใจจะล้างพื้นแผ่นดินให้สะอาด ต้อนรับพระบรมศาสดา

   ความจริงก็ดูสมจริงดังกล่าว ด้วยพอฝนซัดลงมามากมายเช่นนั้นแล้ว ไม่ช้าน้ำฝนก็ไหลลงท่อธาร และท่วมท้นบ่าเข้าพระนคร พัดเอาซากศพมนุษย์และสัตว์ซึ่งปฏิกูลพื้นแผ่นดินอยู่ ให้ไหลไปสู่ทะเลใหญ่สิ้นเชิง ดังนั้น เมื่อฝนขาดเม็ดแล้ว ภาคพื้นธรณีก็สะอาด ความอบอ้าวเร่าร้อนของอากาศก็สงบ บรรเทาโรคได้ถึงครึ่ง ด้วยพุทธานุภาพ ในเวลาเย็นวันนั้นเอง พระบรมศาสดารับสั่งกับพระอานนท์เถระว่า

“อานนท์เธอจงเรียนเอารัตนสูตรนี้ไป แล้วจาริกไปในกำแพงเมืองเวสาลี เจริญมนต์รัตนสูตรนี้ เพื่อความสวัสดีจากภัยอันใหญ่แก่ประชาชนเถิด”

   ในราตรีนั้น พระอานนท์ได้เรียนรัตนสูตรจากพระบรมศาสดา แล้วก็ประคองบาตรเสลมัยของพระบรมศาสดา ซึ่งเต็มด้วยน้ำ ตั้งกัลป์ยาณจิตประกอบด้วยเมตตา ระลึกถึงพระพุทธคุณ คือ พระบารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ และปรมัตถบารมี ๑๐ ซึ่งทรงบำเพ็ญมา และบารมีในปัจฉิมชาตินี้ จำเดิมแต่เสด็จลงสู่พระครรภ์ เป็นต้น จนทรงตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ ประกาศโลกุตรธรรม ๙ ประการเป็นที่สุด เจริญมนต์รัตนสูตรนี้ เที่ยวจาริกไปยังภายในกำแพง พร้อมด้วยพระเจ้าลิจฉวีทั้งหลายติดตามห้อมล้อม เดินพลางพรมน้ำมนต์ที่พระเถระเจ้าปะพรมเท่านั้น ก็หายจากโรคภัย มีกำลัง สดชื่น ติดตามแวดล้อมพระเถระเจ้า โห่ร้องแซ่ซ้องสาธุการดังสนั่น มวลภูตผีปีศาจที่เข้ามาเบียดเบียนมนุษย์ ครั้นได้ยินเสียงมนุษย์ก็สะดุ้งตกใจกลัว พากันเลี่ยงออก ที่ยังดื้อแอบหลบอยู่ ตามแง้มฝาเรือนและประตู เมื่อถูกหยดน้ำมนต์ของพระเถระเจ้า ก็เจ็บปวดแทบดับจิต ประดุจสุนัขถูกฟาดหลังด้วยแส้เหล็ก พากันเผ่นหนีอย่างไม่คิดชีวิตด้วยความกลัวสยองเกล้า ตั้งหน้าวิ่งหนีออกจากเมืองโดยไม่เหลียวหลัง ครั้นไปประดังแน่นยัดเยียดที่ประตูเมือง และเมื่อไม่สามารถจะทนรออยู่ได้ ก็พากันพังบานประตูหนีไปจนสิ้นเชิง

   ครั้งพระเถระเจ้าจาริกเจริญรัตนสูตร ปะพรมน้ำมนต์รอบพระนครแล้ว ก็พามหาชนซึ่งติดตามมาเป็นอันมากเข้าเฝ้าพระบรมศาสดายังที่ประทับ ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงพระกรุณาประทานพระธรรมเทศนาตั้งแต่เบื้องต้น จนประกาศจตุราริยสัจ ให้หาชนชื่นชมโสมนัสปรีดาปราโมทย์ เกิดศรัทธากล้าหาญ ประกาศตนเป็นพุทธมามกะเป็นอันมาก พระบรมศาสดาทรงพระกรุณาประทานพระธรรมเทศนาอยู่ถึง ๗ วัน ครั้นทรงทราบว่า ภัยทั้ง ๓ ประการสงบแล้ว และประชาชนมีความผาสุกดีแล้ว ก็ทรงอำลาพระเจ้าลิจฉวี เสด็จพุทธดำเนินกลับพระนครราชคฤห์ ด้วยพระเกียรติยศซึ่งพระเจ้าลิจฉวีและมหาชนพร้อมกันจัดถวายบูชาอย่างมโหฬาร แม้พระเจ้าพิมพิสารและข้าราชบริพาร ตลอดชาวพระนครราชคฤห์ก็มีความยินดี พากันไปต้อนรับพระบรมศาสดาที่ฝั่งแม่น้ำคงคา ให้เสด็จกลับมาประทับ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร สมดังมโนปณิธานที่ทรงตั้งไว้นั้นแล้ว


พระราชรัตนรังสี (ว.ป. วีรยุทฺโธ).สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย – เนปาล.พิมพ์ครั้งที่ ๔.กรุงเทพฯ : ธรรมสภา,๒๕๕๐.

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 17 พ.ค. 2557, 12:18:26 โดย ปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์) »

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: ตำนานน้ำมนต์
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 04 ส.ค. 2555, 10:30:19 »
ขอบคุณครับ
ขอนำไปอ่านต่อใน fb นะครับ
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว....ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา...สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา...กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ