2
เมื่อล้นเกล้า ฯ รัชกาลที่ ๕ ได้รับคำแนะนำจากพระเจ้าน้องยาเธอ "กรมหลวงนเรศวรฤทธิ์"ให้เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เข้านมัสการ "หลวงปู่เอี่ยม" วัดโคนอน เพื่อขอรับคำพยากรณ์ก่อนที่จะเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ ๑ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ นั้น ภายหลังที่กำหนดการเสด็จวัดโคนอนได้ถูกกำหนดขึ้นเป็นการส่วนพระองค์เรียบร้อยแล้ว ก็ได้ส่งหมายกำหนดการไปถวายแด่หลวงปู่เอี่ยม เป็นการภายใน เพื่อที่จะได้เตรียมตัวรับเสด็จ
ขบวนเสด็จประกอบด้วย เรือพายสี่แจวที่ทรงประทับ และขบวนเรือคุ้มกัน ควบคุมโดยพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงนเรศวรฤทธิ์ ได้เคลื่อนที่เข้าคลองลัดสู่วัดโคนอน ชาวบ้านละแวกนั้นไม่ได้ไหวตัวหรือเอะใจแต่อย่างใด เพราะเห็นเป็นขบวนเรือธรรมดา มิได้ประดับประดาธงทิวให้แปลกไปกว่าเรือลำอื่นดูเหมือนกับเรือที่ขุนนางหรือเศรษฐีผู้มีทรัพย์ใช้กันทั่วไป และผู้ที่ขึ้นมาจากเรือสี่แจวต่างก็แต่งกายแบบธรรมดา มีหมวกสวมไว้บนศีรษะ ใบหน้าบ่งบอกถึงเป็นผู้มีบุญ หนวดบอกถึงผู้มีอำนาจดวงตาฉายแววแห่งความเมตตาปราณีตลอดเวลา เวลาเดินมีคนล้อมหน้าล้อมหลัง ทุกคนไม่ได้เฉลียวใจเลยว่า "บุรุษผู้ขึ้นมาจากเรือสี่แจวนั้น คือ เจ้าชีวิตแห่งกรุงสยาม พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า ผู้ทรงประกาศเลิกทาสโดยสิ้นเชิง"
พระปลัดเอี่ยมนั่งรออยู่บนอาสนะอันสมควรแก่ฐานานุรูป ภายในพระอุโบสถอันแคบ แบบวัดราษฏร์ในเขตอันไกลจากพระบรมมหาราชวัง กรมหลวงนเรศวรฤทธิ์ก้าวนำเสด็จเข้ามาภายในพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้าทรงจุดธูปเทียนบูชาสักการะพระประธาน กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วจึงเสด็จกลับมาถวายนมัสการพระปลัดเอี่ยม ซึ่งกราบทูลให้ทรงประทับนั่งธรรมดาตามสบายพระองค์
"ที่รูปมาในวันนี้ ("รูป" เป็นคำที่พระมหากษัตริย์สมัยก่อนใช้แทนพระนามเมื่อมีพระราชดำรัสกับพระสงฆ์) เพื่อขอให้ท่านปลัดได้ช่วยตรวจดูเหตุการณ์ว่า การที่รูปจะเสด็จไปยุโรปเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักในยุโรปนั้น จักเป็นอย่างไรบ้าง ด้วยหนทางไกลและอันตรายมีอยู่รอบด้าน"
"มหาบพิตร อาตมาจักตรวจสอบให้ อย่าได้ทรงมีพระหทัยกังวล ทั้งนี้ด้วยพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นสมมติเทพแบบพระองค์นั้น มีบุญญาธิการ สามารถผ่านพ้นความทุกข์ได้อย่างมั่นคง"
ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-iam-wat-nung/lp-iam-wat-nung-hist-02.htm