วัฒนธรรมประเพณีเป็นสิ่งที่อยู่เคียงคู่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งปรากฏให้เห็นได้ทุกช่วงจังหวะชีวิตตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย สิ่งที่เป็นรากฐานของความเจริญงอกงามส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากจนยากที่จะปฏิเสธได้คือเรื่องของพระพุทธศาสนาที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่มาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
วัฒนธรรมประเพณีคือสิ่งอันดีงามที่สังคมหนึ่งๆให้การยอมรับ ประพฤติปฏิบัติสืบเนื่องกันไปจากรุ่นสู่รุ่น วัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของไทยส่วนมากจะอิงอยู่กับศาสนา ความเชื่อ อันเป็นบรรทัดฐานของสังคม โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับบุญกุศล ความดีงาม การประกอบกุศลกรรมต่างๆ ที่มักแฝงอยู่กับวัฒนธรรมประเพณี ถือเป็นภูมิปัญญาหรือกุศโลบายอย่างแยบคายที่ช่วยส่งเสริมพัฒนามนุษย์ให้เป็นผู้ที่มีจิตใจดีงาม มีความกตัญญูกตเวที นับถือบูชาคุณของพระศาสนา ครูบาอาจารย์ บิดามารดา ผู้มีพระคุณ เป็นอุบายให้บุคคลได้มีโอกาสในการสร้างบุญกุศลคุณงามความดีทั้งหลาย อันจะนำมาซึ่งประโยชน์ความจรรโลงด้านจิตใจและความผาสุกทั้งด้านครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ การปกครอง ฯ
เกี่ยวกับด้านการศึกษา ก็เช่นเดียวกัน คือจะต้องมีประเพณีที่แฝงไปด้วยคติธรรมสอนใจไว้ใช้ในการปรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือการประกอบกิจการงานใดๆให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี โดยก่อนที่จะเข้ารับการศึกษาหรือการฝากตัวเป็นศิษย์ไม่ว่าในแขนงสาขาวิชาใดๆ ก็ตาม จะต้องมีพิธีกรรมฝากตัวเป็นศิษย์แก่ครูอาจารย์ผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ โดยนิยมใช้เครื่องบูชาครู อันประกอบด้วย ดอกไม้ธูปเทียน หรือสิ่งอื่นใดที่นิยมนำมาบูชาครูตามที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้แฝงไปด้วยความหมายและคติธรรมอย่างลึกซึ้งอยู่ในตัว เมื่อครูรับเป็นศิษย์แล้ว ศิษย์ก็จะต้องตั้งใจศึกษาเล่าเรียนปฏิบัติตามคำแนะนำสั่งสอนของครูอาจารย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งหากศิษย์ได้ทำตามเช่นนั้นแล้ว ก็จะบังเกิดความเป็นสิริมงคล นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ชีวิตตน ตามความเชื่อถือที่สืบทอดต่อกันมา
การสักยันต์ก็ถือได้ว่าเป็นแขนงวิชาทางวิทยาคมชนิดหนึ่งที่มีประเพณีเกี่ยวกับการบูชาครูเข้ามาเกี่ยวเนื่องอยู่ด้วย โดยก่อนที่จะเข้ารับการสักยันต์ ลูกศิษย์จะต้องนำเครื่องบูชาครูมาทำพิธียกครูฝากตัวเป็นศิษย์เสียก่อน เมื่ออาจารย์ผู้สักรับเครื่องบูชาครูไปแล้วก็ถือว่าได้รับผู้นั้นเป็นศิษย์โดยสมบูรณ์ พร้อมที่จะถ่ายทอดวิชาโดยการสักยันต์ให้กับศิษย์ผู้นั้นเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ศิษย์ เมื่อศิษย์ได้รับการสักยันต์เรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับที่พระอาจารย์ผู้สักกำหนด เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์เข้มขลังตามความเชื่อ
สำหรับการสักยันต์ของทางวัดบางพระ จ.นครปฐม ได้เริ่มปรากฏชื่อเสียงในสมัยที่พระเดชพระคุณพระอุดมประชานาถ หรือหลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ เป็นเจ้าอาวาส โดยหลวงพ่อเปิ่นได้เรียนวิชาสักยันต์กับหลวงปู่หิ่ม อดีตเจ้าอาวาสวัดบางพระ และเริ่มสักให้กับบรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่มาขอความเมตตาจากท่านตั้งแต่ที่ท่านยังอยู่ที่วัดโคกเขมา อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ผู้ที่สักยันต์กับหลวงพ่อเปิ่นก็เริ่มมีประสบการณ์ทั้งทางด้านเมตตามหานิยม หรืออยู่ยงคงกระพัน ตามที่ปรากฏในหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้น ชื่อเสียงของหลวงพ่อเปิ่นจึงขจรขจายไปทั่วสารทิศทั้งในและต่างประเทศ ลูกศิษย์ลูกหาก็เพิ่มมากขึ้นอย่างมากมายมหาศาล โดยในช่วงเริ่มแรกหลวงพ่อเปิ่นท่านได้กำหนดเครื่องบูชาครูไว้ประกอบด้วย ดอกไม้ ธูป เทียน บุหรี่ ๑ ซอง เงิน ๖ บาท ซึ่งผู้ที่จะมารับการสักยันต์กับหลวงพ่อเปิ่นก็จะต้องตระเตรียมสิ่งของดังกล่าวมาเอง แล้วนำของทั้งหมดใส่ไว้ในพานถวายแก่หลวงพ่อเปิ่นอันเป็นสัญลักษณ์ของการฝากตัวเป็นศิษย์ เมื่อหลวงพ่อท่านรับพานครูแล้วก็เท่ากับว่าท่านได้รับผู้นั้นเป็นศิษย์อย่างบริบูรณ์ พร้อมที่จะรับวิชาการสักยันต์ที่หลวงพ่อจะประสิทธิ์ประสาทให้อย่างเต็มความภาคภูมิ ในช่วงสมัยแรกๆ ที่หลวงพ่อเปิ่นท่านเริ่มสักใหม่ๆ ผู้ที่ยกพานบูชาครูฝากตัวเป็นศิษย์ก็สามารถมาให้หลวงพ่อท่านสักยันต์ให้ได้ตลอด เท่ากับว่ายกพานครูครั้งเดียวก็สามารถสักยันต์ได้ตลอด โดยครั้งต่อไปก็ไม่ต้องยกพานครูอีก ในช่วงหลังจึงปรับเปลี่ยนมาเป็นยกพานครู ๑ พานต่อการสักยันต์ ๑ ครั้ง และถือปฏิบัติเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับเงินค่าครูสำหรับการสักยันต์นี้ ต่อมาหลวงพ่อเปิ่นท่านได้ปรับขึ้นจาก ๖ บาท เป็น ๑๒ บาท ๒๔ บาท และ ๒๕ บาท (ไม่ต่ำกว่า ๒๔ บาท จึงนิยมใส่เงินค่าครูไป ๒๕ บาท) ตามลำดับ ธรรมเนียมสำหรับเงินค่าครูนี้ ท่านห้ามอาจารย์สักนำไปใช้ส่วนตัวอย่างเด็ดขาด (หากอาจารย์สักนำเงินค่าครูไปใช้ส่วนตัวตามความเชื่อก็จะทำให้อาจารย์ผู้สักเกิดความวิบัติหาความเจริญในชีวิตไม่ได้ ฯ) โดยจะต้องนำเงินค่าครูมาถวายไว้ในส่วนกลางเพื่อนำไปใช้ในทางสาธารณกุศลของทางวัด ทั้งการบำรุงบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะ ซื้อที่ดินถวายวัด นำไปร่วมบุญผ้าป่า, กฐิน ทั้งในวัดบางพระเองและวัดอื่นทั่วไป และสาธารณะกุศลอื่นๆ อีกมากมายตามแต่การพิจารณาของหลวงพ่อท่าน ผู้ที่มาสักยันต์ที่วัดบางพระก็เท่ากับว่าได้มีส่วนร่วมในบุญกุศลนั้นๆ ด้วยเฉกเช่นเดียวกัน ถามว่าหากใส่เงินค่าครูมากกว่านี้ได้หรือเปล่า คำตอบคือ ได้อย่างแน่นอน เพราะหากเราใส่เงินค่าครูไปมาก ทางวัดก็จะนำเงินของเราไปสร้างบุญได้เพิ่มขึ้นไปอีก บุญบารมีของเราก็จะมากขึ้นไปด้วยตามลำดับ แต่หากใส่เงินค่าครูหรือเครื่องบูชาในพานครูไม่ครบก็อาจจะทำให้อิทธิคุณที่จะได้รับจากการสักพร่องไปไม่สมบูรณ์จนอาจจะนำมาซึ่งผลเสียในเรื่องราวต่างๆ ได้ ส่วนท่านที่อยากจะถวายให้กับพระอาจารย์ผู้สักต่างหาก ก็สามารถทำได้โดยนำปัจจัยใส่ซองถวายแยกต่างหากกับเงินค่าครู เราถวายเงินค่าครูสำหรับสักยันต์ พระอาจารย์ผู้สักก็นำเงินค่าครูนี้ไปสร้างบุญกุศลต่อ เรียกได้ว่า บุญต่อบุญไม่มีที่สิ้นสุด
เมื่อหลวงพ่อเปิ่นได้ถ่ายทอดวิชาการสักยันต์ให้กับศิษย์ในรุ่นต่อมา หรือแม้กระทั่งในปัจจุบันที่หลวงพ่อเปิ่นท่านได้ละสังขารไปแล้วก็ตาม ธรรมเนียมเกี่ยวกับเงินค่าครูนี้ก็ยังได้ถือปฏิบัติสืบต่อเนื่องเรื่อยมา สำหรับการเตรียมตัวของผู้ที่จะมาสักยันต์ที่วัดบางพระ ก็จะต้องเตรียมพานครู ที่ประกอบด้วย ดอกไม้ ธูป เทียน บุหรี่ ๑ ซอง หรือสามารถบูชาพานครูของทางวัดที่จัดเตรียมไว้ให้ก็ได้เช่นกันในราคา ๖๐ บาท เมื่อได้พานครูมาครบแล้วก็ใส่เงินค่าครูไม่ต่ำกว่า ๒๔ บาท (นิยมใส่ ๒๕ บาท หรือจะมากกว่านี้ก็ได้) จากนั้นก็นำพานครูพร้อมเงินค่าครูไปถวายให้กับพระอาจารย์ที่ทำการสัก เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ตามธรรมเนียมปฏิบัติ สำหรับการสัก (หมึก) ครั้งแรกจะได้ยันต์ครูคือ ยันต์เก้ายอด ส่วนในการสักยันต์ครั้งต่อๆไป เมื่อยกพานครูพร้อมเงินค่าครูถวายพระอาจารย์ผู้สักแล้ว พระอาจารย์ท่านก็จะพิจารณาสักให้ตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคลเอง โดยที่ไม่ต้องขอว่าจะเอารูปนี้ลายนั้นฯ ซึ่งถือว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติข้อสำคัญอีกประการหนึ่งที่ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อเปิ่นยังดำรงสังขารอยู่ (การขอยันต์ว่าต้องการยันต์นั้นยันต์นี้ เหมือนเป็นการสู่รู้เกินครูบาอาจารย์ดังนั้นจึงไม่นิยมขอกัน แล้วแต่พระอาจารย์ผู้สักท่านจะเมตตาให้เองเป็นการดีที่สุด) เมื่อได้รับการสักยันต์ไปแล้วก็ควรตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ไม่ด่าบิดามารดาบุพการี ไม่ผิดลูกผิดเมีย หมั่นระลึกถึงคุณของครุบาอาจารย์ ประกอบแต่คุณงามความดีสร้างบุญกุศลอยู่เป็นเนืองนิตย์ อุทิศถวายแก่พระอุดมประชานาถ (หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ) และครูบาอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา อันจะนำมาซึ่งความสุขความเจริญงอกงามในชีวิตและธุรกิจหน้าที่การงานทั้งหลายตามสมควรแก่การปฏิบัติของแต่ละบุคคล
กล่าวโดยสรุป ค่าครูสำหรับการสักยันต์ของทางวัดบางพระ (หลวงพ่อเปิ่น) ถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมอันดีงามอันเป็นกุศโลบายให้ศิษย์ที่มารับการสักยันต์ได้ร่วมสร้างบุญกุศลอีกทางหนึ่ง โดยผู้ที่จะมารับการสักต้องนำพานครูที่ประกอบด้วย ดอกไม้ ธูป เทียน บุหรี่ ๑ ซอง พร้อมเงินค่าครูไม่ต่ำกว่า ๒๔ บาท (นิยมใส่ ๒๕ บาท หรือมากกว่านี้ก็ได้) นำไปถวายกับพระอาจารย์ผู้สักเพื่อฝากตัวเป็นศิษย์อย่างเต็มความภาคภูมิตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยที่หลวงพ่อเปิ่นยังดำรงสังขารอยู่ โดยเงินค่าครูทั้งหมดจะนำมาใช้ในทางสาธารณะกุศลอันจะเป็นการต่อบุญต่อบารมีให้กับลูกศิษย์ลูกหาผู้ที่มารับการสักต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เงินค่าครูนี้จึงถือเป็นอุบายให้คนมาร่วมบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศลที่แยบคายและน่าสนใจอย่างยิ่ง ควรค่าแก่การอนุรักษ์สืบทอดให้คงอยู่คู่กับวัดบางพระตลอดไป.
เนื้อหาเกี่ยวกับพานครู, ค่าครู และการสักยันต์ของทางวัดบางพระ เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์
พระครูอนุกูลพิศาลกิจ (หลวงพ่อสำอางค์ ปภสฺสโร) เจ้าอาวาสวัดบางพระ จ.นครปฐม รูปปัจจุบัน
พระอาจารย์อนันต์ อภินนฺโท (หวานชะเอม) พระภิกษุวัดบางพระ จ.นครปฐม
พ.ต.อ. (พิเศษ) สมพร จารุมิลินท อดีต รองผบก.ประจำ สง.ผบ.ตร. (ศิษย์อาวุโสของวัดบางพระ)
เมื่อวันพุธที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ณ กุฏิพระอุดมประชานาถ (หลวงพ่อเปิ่น).
ปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์)
๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๖ เวลา ๐๒.๕๒ น.