ผู้เขียน หัวข้อ: วันเข้าพรรษา  (อ่าน 1832 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์)

  • *โปรดระวัง - สีลัพพตปรามาส, ๗ เดือน ๑๙ วันจะเก็บแต่ความทรงจำที่ดีๆไว้, ตถตา (เช่นนั้นเอง).
  • ...
  • *****
  • กระทู้: 6436
  • เพศ: ชาย
  • ผู้สอนคือผู้ลวง? ผู้เรียนคือผู้หัดที่จะลวง?
    • ดูรายละเอียด
    • เฟสบุ๊ควัดบางพระ (หลวงพ่อเปิ่น)
วันเข้าพรรษา
« เมื่อ: 23 ก.ค. 2556, 12:12:10 »

      เป็นธรรมเนียมของบ้านเมืองในครั้งโบราณกาล เมื่อถึงฤดูฝน ต้องงดการไปมาหาสู่กันต่างเมืองชั่วคราว ตัวอย่างเช่น พวกพ่อค้าเกวียน พ่อค้าสัตว์ พาหนะต่างๆ ถึงฤดูฝน ณ ที่ใด ต้องหยุดพัก ณ ที่นั้น เพราะทางเดินเป็นหล่ม ไม่สะดวกในการเดินทาง นอกจากนี้ยังจะถูกน้ำป่าหลากมาท่วมด้วย
   
      ครั้งปฐมโพธิกาล พระพุทธองค์ยังมิได้ทรงอนุญาตการจำพรรษา ภิกษุเที่ยวจาริกไปตลอดปี แม้ฤดูฝนก็มิได้หยุด ได้เหยียบย่ำข้าวกล้า และธัญชาติต่างๆ ของชาวนาชาวไร่เสียหาย และสัตว์เล็กสัตว์น้อยก็พลอยมีอันตรายแก่ชีวิตไปก็มาก ในบาลีมหาวรรค พระวินัยปิฎก มีเรื่องเล่าว่า ในกาลนั้น ชาวบ้านชาวเมืองได้ติเตียนโพนทะนาว่าร้ายพวกภิกษุว่า ในฤดูฝนเช่นนี้ พวกเดียรถีย์ยังหยุดพักไม่เดินทางไปไหน โดยที่สุดแม้สัตว์เดรัจฉานบางพวกยังหยุดอยู่ประจำที่ไม่ไปไหน แต่พวกสมณศากยบุตรเที่ยวเดินทางตลอดปีโดยไม่หยุด เที่ยวเหยียบข้าวกล้าหญ้าระบัด และสัตว์เล็กสัตว์น้อยให้ถึงความพินาศ คำโพนทะนาว่าร้ายนี้ได้ทราบถึงพระโสตพระเจ้าพิมพิสาร พระองค์ทรงนำเรื่องนี้กราบทูลพระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์ทรงปรารภเรื่องนี้เป็นเหตุ จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุอยู่จำพรรษาตลอดไตรมาส คือ ๓ เดือน ในฤดูฝน โดยการอยู่ประจำที่ ไม่ไปค้างแรม ณ ที่อื่น (คณาจารย์แห่งโรงพิมพ์เลี่ยงเชียง. (๒๕๕๐). วินัยมุข เล่ม ๒ ฉบับมาตรฐาน. (น.๖๗). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง.)

      ในส่วนของภิกษุ ก็จะต้องอยู่จำพรรษาเป็นเวลา ๓ เดือน โดยเพื่อระงับเหตุความเดือดร้อนข้างต้นประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็จะถือช่วงโอกาสนี้ ศึกษาทบทวนพระธรรมวินัยและธรรมปฏิบัติ อย่างเช่นในปัจจุบันนี้ ก็จะมีการเปิดสอนพระปริยัติธรรม (นักธรรมตรี) แก่ภิกษุนวกะผู้บวชใหม่ทั่วสังฆมณฑล สำหรับฆาราวาสก็จะจัดให้มีกิจกรรมงานบุญถวายเทียนเข้าพรรษา เพื่อให้พระภิกษุสามเณรได้ใช้จุดถวายในอุโบสถถวายเป็นพุทธบูชา หรือเพื่อจุดเป็นแสงสว่างในยามค่ำคืน อันจะยังประโยชน์ให้แก่ภิกษุสามเณรได้มีแสงสว่างในการทบทวนพระปริยัติธรรม (ในปัจจุบันก็ปรับเปลี่ยนเป็นการถวายหลอดไฟฟ้า) นอกจากนี้พุทธศาสนิกชนก็ยังนิยมถวายผ้าอาบน้ำฝนเพื่อให้พระภิกษุและสามเณรได้ใช้สรงน้ำในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา บางส่วนก็ยังนิยมถือฤกษ์ช่วงเข้าพรรษาในการตั้งสัจจะประพฤติปฏิบัติคุณงามความดีต่างๆ อาทิเช่น ตั้งใจถือศีลปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด หรือแม้กระทั่งการรณรงค์ให้งดดื่มเหล้า งดสูบบุหรี่ในช่วงเข้าพรรษา เป็นต้น ในโอกาสนี้จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทุกท่าน ได้ร่วมกันสร้างบุญกุศลตามกาลสมัย เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และเพื่อสั่งสมบุญบารมีเอาไว้เพื่อประโยชน์ในภายภาคหน้า ตราบกระทั่งเข้าถึงประโยชน์อันสูงสุดอันเป็นปรมัตถ์ ข้ามพ้นวัฏฏะสงสาร สู่กระแสธรรมแห่งพระนิพพาน อันเป็นเป้าหมายอันสูงสุดในบวรพระพุทธศาสนาในท้ายที่สุด

      ปีนี้ วันเข้าพรรษาตรงกับวันอังคารที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๖ (แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘) กิจกรรมงานบุญของทางวัดบางพระช่วงเช้า ก็จะจัดให้มีการทำบุญตักบาตรถวายภัตตาหารเช้า ฟังเทศน์ฟังธรรม ในเวลาประมาณ ๘ โมงเช้า สำหรับผู้ที่ต้องการมาปฏิบัติธรรมรักษาศีลที่วัดก็สามารถมาได้ โดยทางวัดจะจัดสถานที่บริเวณหอสวดมนต์ไว้สำหรับให้ผู้ที่มาปฏิบัติธรรมได้ใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมต่างๆ ช่วงเย็นพระภิกษุจะลงประชุมกันในอุโบสถเพื่ออธิษฐานพรรษา เป็นต้น.


      ฝากทิ้งท้าย: ช่วงเข้าพรรษานี้ ทางวัดบางพระก็ยังเปิดให้สัก และลงนะหน้าทองให้กับฆาราวาสอยู่ตามปกติ แต่ทางวัดจะงดสักให้กับภิกษุและสามเณร ทั้งนี้ก็เพื่อให้ภิกษุและสามเณรได้ศึกษาพระปริยัติได้อย่างเต็มที่ สำหรับ “วันพระ ในช่วงเข้าพรรษา” ต้องขอความร่วมมือจากทุกท่านที่มาสักยันต์ในวันดังกล่าวว่า ช่วงเย็นของวันพระในช่วงเข้าพรรษานี้ พระภิกษุทุกรูปในวัดท่านจะต้องลงประชุมในอุโบสถเพื่อทบทวนพระปาฏิโมกข์ ดังนั้น ผู้ที่มาสักจึงไม่ควรไปรบกวนพระอาจารย์ในช่วงดังกล่าว หากเป็นไปได้ก็ควรมาวัดให้เร็วขึ้น เพื่อที่จะได้สักให้ทันก่อนช่วงเย็น หรือปรับเปลี่ยนเลื่อนไปเป็นวันอื่น ฯ...


:001: :001: :001: :001: :001: :001: :001: :001: :001:

ปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์)
วันอังคารที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๖
(วันเข้าพรรษา) เวลา ๐๐.๑๒ น.

ออฟไลน์ Eco1200

  • ตติยะ
  • ***
  • กระทู้: 42
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: วันเข้าพรรษา
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 23 ก.ค. 2556, 11:10:29 »
 :016: ได้ความรู้อีกแล้วครับ ขอบคุณท่านสิบทัศน์มากครับ :016: