...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๒...
...การเจริญจิตภาวนานั้น เราสามารถ
ที่จะทำได้ในทุกอิริยาบถ คือ ยืน เดิน
นั่ง นอน เพราะเป็นเรื่องของการมีสติ
คือการทำที่จิต แต่ในอิริยาบถต่างๆนั้น
จะมีผลต่างกัน เช่นการเจริญสติภาวนา
ในท่านอนนั้น ทำได้ง่ายเข้าสมาธิได้เร็ว
แต่จะไม่ตั้งอยู่นาน เพราะนิวรณ์เข้ามา
รบกวนคือนิวรณ์ตัวถีนะมิทธะ อาการ
ง่วงเหงาหาวนอน สมาธิจะกล้าแต่สติ
จะมีกำลังน้อย มันจะทำให้เผลอหลับไป
ส่วนในอิริยาบถยืนนั้น จะทำได้ยากกว่า
การนั่ง เพราะต้องทรงร่างกายให้ตรง
เพื่อไม่ให้ล้มและในอิริยาบถเดินนั้น
ทำได้ยากที่สุด แต่ถ้าเข้าสมาธิได้แล้ว
จะตั้งได้อยู่นาน ทรงได้อยู่นาน เพราะว่า
มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา จึงต้อง
ใช้กำลังของสติเป็นอย่างมาก ในการ
จดจ่ออยู่กับองค์ภาวนาอยู่ตลอดเวลา
...การรักษาศีลนั้นคือการเจริญสติ
เพราะผู้ที่รักษาศีลนั้นต้องมีสติอยู่
กับกายและจิต ในการที่จะคิด จะพูด
และจะทำ เรียกว่าต้องสำรวมอินทรีย์
อยู่ทุกขณะจิต เพื่อไม่ให้ล่วงละเมิด
ข้อห้ามของศีลที่รักษา ศีลจึงคือที่มา
ของสติพละและสิ่งที่ได้มาควบคู่กับสติ
ในการรักษาศีล ก็คือองค์แห่งคุณธรรม
" หิริและโอตตัปปะ " สิ่งนั้นก็คือความ
ละอายและเกรงกลัวต่อบาป
...การที่เราไม่กล้าที่จะล่วงละเมิด
ข้อห้ามของศีลนั้น เพราะเรามีความ
ละอายและเกรงกลัวต่อบาปเป็นตัว
กระตุ้นเตือนเพื่อให้เกิดจิตสำนึก
ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ดั่งคำพุทธพจน์
ที่ทรงตรัสไว้ว่า..
."ดูกรภิกษุทั้งหลาย ศีลเป็นพื้นฐาน
เป็นที่รองรับคุณอันยิ่งใหญ่ ประหนึ่ง
แผ่นดินเป็นที่รองรับและตั้งลงแห่ง
สิ่งทั้งหลาย ทั้งที่มีชีพและหาชีพมิได้
เป็นต้นว่า พฤกษาลดาวัลย์ มหาสิงขร
และสัตว์จตุบาท ทวิบาทนานาชนิด
บุคคลผู้มีศีลเป็นพื้นใจย่อมอยู่สบาย
มีความปลอดโปร่งเหมือนเรือนที่
ปัดกวาด เช็ดถูเรียบร้อย ปราศจาก
เรือดและฝุ่นเป็นที่รบกวน " ...
...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔...