...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๔๐...
...รำพึงธรรมเรื่องโยธากัมมัฏฐาน...
...การทำงานทุกอย่างนั้นเป็นการ
ปฏิบัติธรรมไปในตัว เพราะว่าการ
ปฏิบัติธรรมนั้นคือการเจริญกุศลจิต
โดยมีสติและสัมปชัญญะควบคุม
คุ้มครองอยู่ทุกขณะจิต มีความระลึกรู้
และรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา
ทั้งในการคิดและการกระทำ ซึ่งคน
ทุกคนนั้นล้วนแล้วแต่มีความคิด
มีสติ และสัมปชัญญะ
...แต่สิ่งที่ขาดไปนั้นก็คือกุศลจิต
ซึ่งเป็นคุณธรรมคุ้มครองจิต ไม่ให้คิด
ไปในทางที่ผิด รู้จักหักห้ามจิตไม่ให้คิด
และทำในสิ่งที่เป็นอกุศล รู้จักวางตน
อยู่ในสัมมาทิฏฐิ
...ซึ่งสิ่งที่ขาดหายไปนั้นเกิดจากพื้นฐาน
ของคุณธรรมที่แตกต่างกันของแต่ละคน
ดั่งคำที่ว่า“ บุคคลแตกต่างด้วยธาตุและ
อินทรีย์ บารมีที่สร้างสมกันมา “
...การเจริญกุศลจิต เจริญสติภาวนา
ก็เพื่อเพิ่มพูนกำลังของบุญกุศล ให้รู้จัก
กายและใจของตน เพื่อให้เห็นคุณ
เห็นโทษเห็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์
ของสรรพสิ่งทั้งหลาย ทั้งภายนอกและ
ภายใน ทั้งทางกายและทางจิตของเรา
เพื่อเพิ่มคุณธรรมความละอายและ
เกรงกลัวต่อบาปให้มากขึ้นแก่จิต
ของเรา เพื่อที่จะเข้าไปยับยั้งและ
ข่ม ความต้องการในโลกธรรม
ทั้งหลายอันได้แก่ ลาภ ยศ
สรรเสริญ สุขและความเสื่อม
ในโลกธรรมทั้งหลายอันได้แก่
เสื่อมลาภ เสื่อมยศ คำนินทา
และความทุกข์ ให้รู้จักความ
พอเหมาะพอดีในสิ่งที่ควรจะได้
ไม่หวั่นไหวกับโลกธรรมทั้งแปด
...การปฏิบัติธรรมนั้นเป็นไปเพื่อความลด
ละ เลิก ในกิเลส ตัณหา อัตตา อุปาทาน
ทั้งหลาย เพื่อความจางคลายของกิเลส
ทั้งหลาย สิ่งนั้นคือเป้าหมายของการ
ปฏิบัติธรรม...
...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม...
...๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๔...