...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๔๒...
...บางครั้งในการบรรยายธรรมนั้น
เราต้องละทิ้งรูปแบบในพยัญชนะ
มาเน้นในเรื่องความหมายความเข้าใจ
ให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดความรู้ความ
เข้าใจในธรรมะทั้งหลาย เพื่อให้ฟัง
แบบสบายๆ ไม่เกร็งไม่เคร่งและไม่เครียด
ในการสนทนาธรรม จึงเป็นที่มาของ
คำว่า " ไร้รูปแบบ แต่ไม่ไร้สาระ " คือ
การถ่ายทอดธรรมะเพื่อให้ง่ายแก่
การเข้าใจโดยไม่ยึดติดในรูปแบบ
ซึ่งทุกอย่างต้องใช้การคิดและการ
พิจารณา ไตร่ตรอง ใคร่ครวญ ทบทวน
อยู่ตลอดเวลา ปรับเข้าหาหลักธรรมะ
เพื่อความเหมาะสม มองทุกสิ่งทุกอย่าง
รอบกายให้เป็นธรรมะ ใช้หลักแห่ง
ความเป็นจริงตามหลักของธรรมชาติ
โดยการลดละซึ่งอัตตาและคติ
ไม่เอาความรู้สึกส่วนตัวเข้ามาใช้
ในการคิดและวิเคราะห์ แล้วเราจะ
เข้าถึงสภาวะแห่งธรรมะที่แท้จริง...
๐ จากถิ่นฐาน นานมา สู่ป่ากว้าง
ไปตามทาง ที่ใจ นั้นใฝ่หา
ออกเผชิญ ต่อโลก แห่งมายา
แสวงหา แนวทาง เพื่อสร้างธรรม
๐ ผ่านร้อยภู ร้อยป่า ร้อยนาคร
ผ่านขั้นตอน ทดสอบ เพื่อตอกย้ำ
ผ่านเรื่องราว มากมาย ที่ได้ทำ
ผ่านชอกช้ำ และสำเร็จ เสร็จในงาน
๐ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เป็นตัวอย่าง
ในการสร้าง การสอน เพื่อสืบสาน
ได้เรียนรู้ มากมาย จากอาจารย์
สิ่งที่ท่าน สอนสั่ง ยังฝังใจ
๐ "เมือเสียหนึ่ง อย่าให้ถึง ต้องเสียสอง
เมื่อเสียของ เสียแล้ว จงหาใหม่
เสียอะไร เสียได้ อย่าเสียใจ
เมื่อเสียแล้ว เสียไป ใจอย่าเสีย"
๐ คือคำสอน คำสั่ง ที่ฝังจิต
นำมาคิด ยามจิต นั้นละเหี่ย
ปลุกกายใจ ยามที่ เราอ่อนเพลีย
ไม่ให้เสีย กำลังใจ ในการงาน
๐ มารไม่มี บารมี นั้นไม่เกิด
คือการเปิด โลกทัศน์ ที่อาจหาญ
ชีวิตนี้ อุทิศ แก่การงาน
เพื่อสืบสาน สายธรรม นั้นสืบไป
๐ ในวันนี้ ได้กลับ คืนสู่ถิ่น
สู่แดนดิน ถิ่นที่ เคยอาศัย
มาเพื่อปลุก ศรัทธา ทั้งกายใจ
เพื่อวันใหม่ ข้างหน้า ที่มาเยือน
๐ หยุดทบทวน ใคร่ครวญ สิ่งที่ผ่าน
ทั้งหมู่มิตร บริวาร และผองเพื่อน
ทุกเหตุการณ์ ผ่านมา นั้นช่วยเตือน
มิลืมเลือน มิตรภาพ และไมตรี...
...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๔...