ทราบแค่ผิวเผินครับนะครับ
กสิณ เป็น การฝึกสมาธิ สำหรับผู้ที่ติดในการเพ่งหรือกำหนดใน มหาภูตรูป ๔ (ดิน น้ำ ลม ไฟ)
เป็นการฝึกที่เหมาะกับผู้ที่ติดในรูปหรือสภาวะอารมณ์ ที่ง่ายๆ เพ่งจากตาเนื้อจนติดตาแล้วนำมาเป็นอารมณ์กัมมัฎฐาน จนเป็นอารมณ์เดียว
กสิณ ทั้ง ๑๐ อย่าง แยกไปตามความเหมาะสมของผู้ฝึก เลือกโปรฯให้ถูกกับการใช้งาน
แต่ทั้ง ๑๐ อย่าง เน้นการเจริญสมถกัมมัฎฐานให้ใจสงบเข้าสู่ปฐมฌานและสูงขึ้นต่อไปครับ
ภาพรวมคือ ฝึกสมาธิแบบสมถกัมมัฎฐาน จะมีฤทธิ์มีอำนาจ ให้คนเห็น ประมาณว่า สอนได้ทำให้ดูได้ โ้ค้ชเล่นบอลเก่งและก็สอนเก่งด้วย
ถ้าเจริญวิปัสสนากัมมัฎฐาน จะเย็นๆ มีแต่คำสอนหรือธรรมะ ประมาณว่า เล่นบอลเก่งแต่สอนคนอื่นไม่เก่งครับ
กสิณแต่ละประเภทจะมีผลต่างกันไป ตามนี้นะครับพี่ชลาพุชะ(แปลว่าผู้เกิดในครรภ์ ใช่ไหมครับ)
ส่วนนี้คัดลอกมาให้ศึกษาครับ
๑.
ปฐวีกสิณ (กสิณดิน) จิตเพ่งดิน โดยกำหนดว่าสิ่งนี้เป็นดิน หายใจเข้าให้ภาวนาว่า "ปฐวี" หายใจออกให้ภาวนาว่า "กสิณัง" เมื่อปฏิบัติอยู่ดังนี้ ก็จะข่มนิวรณ์ธรรมเสียได้โดยลำดับ กิเลศก็จะสงบระงับจากสันดาน สมาธิก็จะกล้าขึ้น จิตนั้นก็ชื่อว่าตั้งมั่น เป็นอุปจารสมาธิ เมื่อทำได้สำเร็จปฐมฌานแล้ว ก็พึงปฏิบัติในปฐมฌานนั้นให้ชำนาญคล่องแคล่วด้วยดีก่อนแล้วจึงเจริญทุติยฌานสืบต่อไปได้
๒.
เตโชกสิณ (กสิณไฟ)จิตเพ่งไฟ คือการเพ่งเปลวไฟ โดยกำหนดว่าสิ่งนี้เป็นไฟ หายใจเข้าให้ภาวนาว่า "เตโช" หายใจออกภาวนาว่า "กสิณัง"
๓.
วาโยกสิณ (กสิณลม) จิตเพ่งอยู่กับลม นึกถึงภาพลม โดยกำหนดว่าสิ่งนี้เป็นลม หายใจเข้าให้ภาวนาว่า "วาโย" หายใจออกภาวนาว่า "กสิณัง"
๔.
อากาสกสิณ (ช่องว่าง) จิตเพ่งอยู่กับอากาศ นึกถึงอากาศ คือการเพ่งช่องว่าง โดยกำหนดว่าสิ่งนี้เป็นช่องว่าง เวลาหายใจเข้าให้ภาวนาว่า "อากาศ" หายใจออกภาวนาว่า "กสิณัง"
๕.
อาโลกสิณ (กสิณแสงสว่าง) จิตเพ่งอยู่กับแสงสว่าง นึกถึงแสงสว่าง วิธีเจริญอาโลกกสิณให้ผู้ปฏิบัติยึดโดยทำความรู้สึกถึงความสว่าง ไม่ใช่เพ่งที่สีของแสงนั้น เวลาหายใจเข้าให้ภาวนาว่า "อาโลก" หายใจออกให้ภาวนาว่า "กสิณัง"
๖.
อาโปกสิณ (กสิณน้ำ) จิตนึกถึงน้ำเพ่งน้ำไว้ คือการเพ่งน้ำ โดยกำหนดว่าสิ่งนี้เป็นน้ำ หายใจเข้าให้ภาวนาว่า "อาโป" หายใจออกภาวนาว่า "กสิณัง" ให้เลือกภาวนากสิณใดกสิณหนึ่งให้ได้ถึงฌาน 4 หรือฌาน 5 กสิณอื่นๆ ก็ทำได้ง่ายทั้งหมด พวกที่สองคือกสิณเฉพาะอุปนิสัยหรือเฉพาะจริตมี 4 อย่าง สำหรับคนโกรธง่าย คือพวกโทสะจริต
๗.
โลหิตกสิณ เพ่งกสิณ หรือนิมิตสีแดงจะเป็นดอกไม้แดง เลือดแดง หรือผ้าสีแดงก็ได้ทั้งนั้นจิตนึกภาพสีแดงแล้วภาวนาว่า โลหิต กสิณังๆๆๆ
๘.
นีลกสิณ ตาดูสีเขียวใบไม้ หญ้า หรืออะไรก็ได้ที่เป็นสีเขียว แล้วหลับตาจิตนึกถึงภาพสีเขียว ภาวนาว่า นีล กสิณังๆๆๆ
๙.
ปีตกสิณ จิตเพ่งของอะไรก็ได้ที่เป็นสีเหลือง ภาวนาว่า ปีต กสิณังๆๆๆ
๑๐.
โอทากสิณ ตาเพ่งสีขาวอะไรก็ได้แล้วแต่สะดวก แล้วหลับตานึกถึงภาพสีขาว ภาวนาโอทา กสิณังๆๆๆ จนจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งไม่วอกแวกไม่รู้ลมหายใจภาพกสิณชัดเจน
ท่านว่าจิตเข้าถึงฌาน 4 พอถึงฌานที่ 5 ก็เป็นจิตเฉยมีอุเบกขาอยู่กับภาพกสิณต่างๆ ที่จิตจับเอาไว้
อำนาจฤทธิ์ในกสิณต่างๆ *
ปฐวีกสิณ(กสิณดิน) มีฤทธิ์ดังนี้ เช่น เนรมิตคนๆ เดียวให้เป็นคนมากๆ ได้ ให้คนมากเป็นคนๆ เดียวได้ ทำน้ำและอากาศให้แข็งได้ สามารถย่อแผ่นดินให้ใกล้กำลังการในเดินทาง
*
อาโปกสิณ(กสิณน้ำ) สามารถเนรมิตของแข็งให้อ่อนได้ เช่นอธิษฐานสถานที่เป็นดินหรือหรือหินที่กันดารน้ำให้เกิดบ่อน้ำ อธิษฐานหินดินเหล็กให้อ่อน อธิษฐานในสถานที่ขาดแคลนฝน ให้เกิดมีฝนอย่างนี้เป็นต้น
*
เตโชกสิณ(กสิณไฟ) อธิษฐานให้เกิดเป็นเพลิงเผาผลาญหรือให้เกิดแสงสว่างได้ ทำแสงสว่างให้เกิดแก่จักษุญาณ สามารถเห็นภาพต่าง ๆ ในที่ไกลได้คล้ายตาทิพย์ ทำให้เกิดความร้อนในที่ทุกสถานได้ เมื่ออากาศหนาว สามารถทำให้เกิดความอบอุ่นได้
*
วาโยกสิณ(กสิณลม) อธิษฐานจิตให้ตัวลอยตามลม หรืออธิษฐานให้ตัวเบา เหาะไปในอากาศก็ได้ สถานที่ใดไม่มีลมอธิษฐานให้มีลมได้
*
นีลกสิณ(กสิณสีเขียว) สามารถทำให้เกิดสีเขียว หรือทำสถานที่สว่างให้มืดครึ้มได้
*
ปีตกสิณ(กสิณสีเหลือง) สามารถเนรมิตสีเหลืองหรือสีทองให้เกิดได้
*
โลหิตกสิณ(กสิณสีแดง) สามารถเนรมิตสีแดงให้เกิดได้ตามความประสงค์
*
โอทากสิณ(กสิณสีขาว) สามารถเนรมิตสีขาวให้ปรากฏ และทำให้เกิดแสงสว่างได้ เป็นกรรมฐาน ที่อำนวยประโยชน์ในทิพยจักขุญาณ เช่นเดียวกับเตโชกสิณ
*
อาโลกสิณ(กสิณแสงสว่าง) เนรมิตรูปให้มีรัศมีสว่างไสวได้ ทำที่มืดให้เกิดแสงสว่างได้เป็นกรรมฐานสร้างทิพยจักขุญาณโดยตรง
*
อากาสกสิณ(กสิณอากาศหรือความว่าง) สามารถอธิษฐานจิตให้เห็นของที่ปกปิดไว้ได้ เหมือนของนั้นวางอยู่ในที่แจ้ง สถานที่ใดเป็นอับด้วยอากาศ สามารถ
อธิษฐานให้เกิดความโปร่งมีอากาศสมบูรณ์เพียงพอแก่ความต้องการได้
ขอบคุณ อาจารย์บูรพา ผดุงไทย, กสิณไฟ, หจก. ส เจริญการพิมพ์, 2551